สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานอ้างแหล่งข่าวทางการทูตว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC เตรียมเปิดประชุมฉุกเฉินในวันนี้ (25 กรกฎาคม 68) เพื่อแก้ปัญหาการปะทะกันริมชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชา
การประชุมดังกล่าวมีกำหนดการเริ่มขึ้นในเวลา 15 น. ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ หรือประมาณ 02.00 น. -ของเช้าวันที่ 26 กรกฎาคม ตามเวลาท้องถิ่นในประเทศไทย โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ หลังฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ยื่นเรื่องให้มีสหประชาชาติเข้ามาแทรกแซง
UNSC หรือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คือหน่วยงานหนึ่งในสหประชาชาติ ทำหน้าที่หลักในการ รักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยมีบทบาทสำคัญในการพิจารณาข้อพิพาทระหว่างรัฐ เรียกร้องให้มีการหยุดยิงหรือการเจรจา หรือส่งกองกำลังรักษาสันติภาพ (Peacekeeping Forces)
UNSC ทำหน้าที่กำหนดมาตรการลงโทษหรือบังคับใช้ โดยอาจใช้มาตรการทางการทูต เศรษฐกิจ หรือแม้แต่กำลังทหาร ตัวอย่างเช่น การคว่ำบาตรประเทศที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
แม้ UNSC จะมีอำนาจตามกฎบัตรสหประชาชาติและมีผลผูกพันทางกฎหมายต่อชาติสมาชิก โดยเฉพาะ มติที่ออกภายใต้บทที่ 7 ของกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งเกี่ยวกับการจัดการกับภัยคุกคามต่อสันติภาพ การละเมิดสันติภาพ หรือการกระทำการรุกราน
แต่อำนาจ “ทางกฎหมาย” กับ “การบังคับใช้จริง” เป็นคนละเรื่อง เพราะถึงแม้ UNSC จะออกมติที่มีผลทางกฎหมาย แต่ UNSC ไม่มีทหารหรือกองกำลังของตัวเอง ต้องพึ่งพาประเทศสมาชิกในการส่งกำลัง และถ้าประเทศสมาชิก “ไม่ร่วมมือ” หรือ “เพิกเฉย” มติ UNSC ก็อาจไม่มีผลในทางปฏิบัติ
หรือมีบางประเทศไม่ยอมปฏิบัติตามมติ เช่น ที่ประชุมมีมติให้เกาหลีเหนือยุติโครงการนิวเคลียร์ หรือมติประณามอิสราเอลในประเด็นปาเลสไตน์ แต่ก็ไม่สามารถบังคับให้ยุติได้
นอกจากนี้ 5 ชาติถาวรยังมีอำนาจวีโต้ ซึ่งถ้าหากชาติถาวร 1 ใน 5 ใช้ “สิทธิ์วีโต้” มติจะตกไปทันที แม้ประเทศอื่นจะเห็นด้วยหมดก็ตาม