10 กรกฎาคม 2568 นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เคียร์ สตาร์เมอร์ และประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง ประกาศยกระดับมาตรการควบคุมการอพยพให้เข้มงวดขึ้น หลังมาครงเยือนอังกฤษ 3 วัน
ประธานาธิบดีมาครงเดินทางเยือนสหราชอาณาจักรเป็นเวลา 3 วัน สิ่งที่สื่อจับตาคือการนั่งขบวนรถม้าไปยังปราสาทวินด์เซอร์พร้อมกับกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ในการเยือนครั้งนี้มีการเจรจาข้อตกลงการป้องกันประเทศ ความร่วมมือด้านนิวเคลียร์ และแผนการสนับสนุนยูเครนกรณีที่มีการหยุดยิง
การเจรจาที่เป็นที่สนใจที่สุดไม่พ้นการที่ฝรั่งเศสตกลงที่จะจัดตั้งโครงการส่งคืนผู้ขอลี้ภัย ซึ่งเป็นประเด็นที่สตาร์เมอร์ต้องการเพื่อเรียกคะแนนสนับสนุนคืนมา
หลังชนะการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ความนิยมของนายกรัฐมนตรีสตาร์เมอร์ลดลงต่อเนื่อง ทำให้เขามุ่งเป้าแก้ไขปัญหาผู้อพยพจำนวนมาก รวมถึงผู้ขอลี้ภัยที่มาถึงโดยเรือเล็กข้ามช่องแคบจากฝรั่งเศส
เพื่อพยายามหยุดการเติบโตของพรรคปฏิรูปอังกฤษ (Reform UK) ซึ่งนำโดยไนเจล ฟาราจ นักรณรงค์การออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)
ในการแถลงข่าวร่วมกัน ผู้นำทั้งสองกล่าวว่า พวกเขาตกลงในโครงการส่งคืนผู้ขอลี้ภัยแบบ "หนึ่งเข้า หนึ่งออก" (one in, one out) คือการที่สหราชอาณาจักรจะส่งตัวผู้ที่ไม่มีเอกสาร ซึ่งเดินทางด้วยเรือเล็กจากฝรั่งเศสมาอังกฤษ กลับไปยังฝรั่งเศส พร้อมกันนั้นก็จะรับผู้ขอลี้ภัยที่มีความเชื่อมโยงทางครอบครัวในอังกฤษเข้าประเทศอังกฤษในจำนวนเท่ากันกับจำนวนที่ส่งตัวกลับ โครงการนี้จึงเป็นการรับผู้อพยพเข้าประเทศเท่าเดิม แต่เน้นกลุ่มที่มีเอกสาร
สตาร์เมอร์กล่าวถึงกระบวนการ ที่ผู้อพยพไร้เอกสารเดินทางด้วยเรือเล็กจะถูกจับกุมและส่งกลับฝรั่งเศสทันที
"ผมยินดีที่จะประกาศข้อตกลงวันนี้เกี่ยวกับโครงการส่งตัวใหม่ เป็นครั้งแรกที่ผู้ขอลี้ภัยที่มาถึงด้วยเรือเล็กจะถูกคุมขังและส่งคืนไปยังฝรั่งเศสในเวลาอันสั้น […] สิ่งนี้จะชี้ให้ผู้ที่ประสงค์อยากทำสิ่งเดียวกันรู้ว่า เป็นการเปล่าประโยชน์"
ในแถลงการณ์ร่วมยังกล่าวถึง ความจำเป็นที่ข้อตกลงนี้จะต้องได้รับ "การตรวจสอบทางกฎหมายล่วงหน้าโดยความโปร่งใสและความเข้าใจร่วมกับคณะกรรมาธิการและสมาชิกสหภาพยุโรป" ซึ่งอาจใช้เวลาสักระยะ
แหล่งข่าวจากรัฐบาลกล่าวว่า พวกเขาตั้งเป้าส่งผู้อพยพคืนราว 50 คนต่อสัปดาห์ หรือ 2,600 คนต่อปี อย่างไรก็ตามฟาเบียน แฮมิลตัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคแรงงานของสตาร์เมอร์กล่าวว่าเขา "สงสัยว่า นี่คือคำตอบจริงๆ หรือไม่"
รายงานของรัฐบาลอังกฤษปีก่อนชี้ว่า มีผู้อพยพที่เดินทางเข้าสหราชอาณาจักรด้วยวิธีดังกล่าวในปี 2024 ถึง 35,000 คนต่อผี ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2024 มากกว่าปี 2023 ถึง 25% และในปี 2025 ตัวเลขขยายเพิ่มขึ้น ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2568 มีคนมาถึงอังกฤษด้วยเรือเล็กแล้วกว่า 21,000 คนตั้งแต่ต้นปี
ตั้งแต่ปี 2561 มีผู้อพยพเข้ามาด้วยวิธีนี้แล้วกว่า 172,000 คน ข้อมูลจาก The Migrant Observation มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดชี้ว่า ในกลุ่มผู้อพยพ กว่า 70% เป็นประชากรจาก 6 ชาติ คือ อัฟกานิสถาน อิหร่าน อัลบาเนีย อิรัก ซีเรีย และเอริเทรีย
ราว 3% ของผู้ที่มาถึงถูกส่งตัวกลับฝรั่งเศส หรือราว 5,000 ในช่วงที่ผ่านมา และการเดินทางมาไม่ปลอดภัยนัก ปีก่อนมีผู้อพยพถึง 73 คนเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง
ทำไมฝรั่งเศสมีผู้อพยพเยอะ
ข้อมูลจากสื่อฝรั่งเศส Le Monde ชี้ว่า จนถึงปี 2023 มีผู้อพยพในฝรั่งเศสกว่า 7.3 ล้านคน หรือราว 10.7% ของประชากรทั้งหมด และแม้ผู้อพยพส่วนใหญ่จะอ้างความเชื่อมโยงทางครอบครัวเป็นเหตุผลในการอพยพ เหตุผลอาจหลากหลายกว่านั้น
กว่า 46% ของผู้อพยพทั้งหมดมาจากทวีปแอฟริกา และราว 14% มาจากประเทศเอเชีย กว่าครึ่งของ 2 กลุ่มอ้างความเกี่ยวโยงทางครอบครัว แต่มีข้อสังเกตว่าอาจเป็นเหตุผลด้านโอกาสในการหางาน หรือผู้อพยพที่หลีกหนีความขัดแย้งจากประเทศบ้านเกิด
ก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์ของสองประเทศสั่นคลอนหลังอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปในปี 2020 โดยมาครงเคยออกมาวิจารณ์การตัดสินออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษว่า
“หลายคนในประเทศคุณพูดว่า Brexit จะช่วยให้อังกฤษต่อสู้กับการอพยพผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ผลที่ออกมา ตรงกันข้าม"
นอกจากนี้มาครงยังออกมาเรียกร้องให้สหราชอาณาจักรจัดการกับ "ปัจจัยดึงดูดการอพยพ" โดยแนะนำให้ทำให้การหางานทำในอังกฤษสำหรับผู้อพยพที่ไม่มีสถานะการพำนักทางกฎหมายยากขึ้น