คิวบากลายเป็นคอมมิวนิสต์อย่างเป็นทางการในปี 1961 หลังจาก ฟิเดล คาสโตร และพรรคของเขาโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ แต่หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เศรษฐกิจคิวบาพังหนัก
จนถึงทุกวันนี้ เศรษฐกิจของคิวบาไม่ได้ไปไกลกว่าในอดีตเท่าใดนัก และวันนี้ เราจะพาทุกคนไปสำรวจแง่มุมต่างๆของคิวบา ประเทศที่เหมือนติดอยู่ในห้วงเวลาของอดีต
ปลายปี 2024 ประธานาธิบดีมิเกล ดีแอซ-กาแนล ของคิวบาเตือนว่า ตอนนี้ คิวบากำลังใช้ชีวิตแบบวันต่อวัน" โดยกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังไฟดับนานถึง 40 ชั่วโมง เช้าวันนั้นที่ไฟเริ่มกลับมา เราเห็นภาพผู้คนนำโทรศัพท์มือถือออกมาชาร์จแบตเตอรี่ตามร้านค้าหรือบ้านเรือน หกเดือนที่ผ่านมา คิวบาไฟดับใหญ่ไปแล้วถึง 4 ครั้ง
ไฟดับแต่ละครั้งไม่ใช่ไฟดับขนาดย่อมที่กระทบไม่กี่ครัวเรือน แต่ไฟดับในคิวบาที่เรากำลังพูดถึง กระทบคนกว่าครึ่งประเทศหรือมากกว่านั้น ส่งผลให้คนหลายล้านใช้ชีวิตในความมืดมิดช่วงกลางคืน และไร้ไฟจนในช่วงกลางวันครั้งละหลายสิบชั่วโมงจนถึงหลายวัน
ไฟดับในคิวบาเป็นผลมาจากสองสาเหตุหลัก ข้อที่ 1 คือการพึ่งพิงพลังงานฟอสซิลเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ากว่า 95% และใช้พลังงานทางเลือกน้อยกว่า 5% เท่านั้น เมื่อเชื้อเพลิงไม่เพียงพอ การผลิตกระแสไฟจึงต้องหยุดชะงัก
ข้อที่สองคือ โครงสร้างพื้นฐานล้าสมัย โครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่รวมไปถึงโครงสร้างการผลิตและกระจายไฟฟ้า สร้างโดยสหภาพโซเวียต ในปลายทศวรรษที่ 1960-80 นั่นหมายความว่าศูนย์ผลิตไฟฟ้าใหม่ที่สุดในประเทศก็มีอายุมากกว่า 40 ปี และยังได้รับการดูแลที่ไม่สู้ดีนัก
นักวิเคราะห์คิวบาประมาณการไว้ว่าการจะฟื้นฟูระบบไฟฟ้าของประเทศคิวบาให้ทันสมัย ต้องใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ย้อนมองเศรษฐกิจคิวบาแล้ว จำนวนเงินนั้นแน่นอนว่าคิวบาไม่มี ว่ากันว่าเศรษฐกิจคิวบาในตอนนี้แย่ยิ่งกว่าช่วงปี 1993 หรือช่วงที่เศรษฐกิจคิวบาแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์
อาหารจากรัฐ เป็นแหล่งยังชีพหลักของชาวคิวบาส่วนใหญ่ แต่มีหลายช่วงที่มันขาดแคลนและมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่รัฐบาล ซึ่งต้องรับมือกับมาตรการคว่ำบาตรจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ กำลังดิ้นรนเพื่อจ่ายค่านำเข้าอาหาร
รัฐจำเป็นต้องลดปริมาณขนมปังสวัสดิการลง จากเดิมมีน้ำหนัก 80 กรัม พวกเขาลดลงเหลือ 60 กรัม และมันมีขนาดเล็กลงจนเล็กกว่ามือของผู้ใหญ่ ข้าวกลายเป็นของหายาก น้ำมันและกาแฟแทบไม่มีให้เห็นในร้านค้า
คิวบายังคงใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม รัฐมีบทบาทในการกำหนดนโยบาย บริหารจัดการ เป็นผู้ควบคุมกลไกในการผลิตส่วนใหญ่ เป็นผู้จ้างแรงงานที่สำคัญ และเป็นผู้กำหนดราคาสินค้าส่วนใหญ่ พร้อมแจกจ่ายสิ่งของแก่ประชาชน
แต่หลังการล้มสลายของโซเวียต คิวบาก็ค่อยๆปรับตัวมาตลอด กระทั่งในปี 2011 มีการปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจ อนุญาตให้ประชาชนเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กได้ แต่ทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามคาดหวัง คิวบายังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่สหรัฐฯคว่ำบาตร
ไดน่า ชาวคิวบาวัย 31 ปีนำสมุดปันส่วนอาหารของรัฐมาโชว์ นี่คือ ลิเบรตา มันเคยเป็นผลงานอันโดดเด่นจากการปฏิวัติของฟิเดล คาสโตร แต่ปัจจุบันรัฐบาลกำลังเผชิญวิกฤตในการจัดหาสินค้า
ภายในบ้านหลังเล็กๆของเธอ ไดน่ารับหน้าที่หุงหาอาหาร แต่ข้าวที่รัฐบาลปันส่วนให้ก็ไม่เพียงพอสำหรับหนึ่งเดือน ตามปกติแล้ว รัฐบาลจะให้ข้าวเป็นสวัสดิการ 7 ปอนด์ หรือ 3 กิโลกรัม แต่ทุกวันนี้ ได้ไม่ตรงเวลา และบางครั้งก็ได้ไม่ครบด้วย
คิวบาเคยเป็นประเทศแห่งอ้อยน้ำตาล แต่ทุกวันนี้ แม้กระทั่งน้ำตาลก็ขาดแคลน อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ถูกล้อมรอบด้วยน้ำทะเล แต่เกลือก็ยังขาดแคลนเช่นกัน