งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย (UBC) ชี้ว่า การตัดไม้ทำลายป่าแบบไม่เลือกหน้า อาจทำให้ความเสี่ยงน้ำท่วมเพิ่มมากกว่าที่คิดหลายเท่า ในบางพื้นที่รับน้ำ นักวิจัยพบว่า เกิดน้ำท่วมบ่อยขึ้นถึง 18 เท่า และรุนแรงมากขึ้น 2 เท่า หลังกระบวนการตัดไม้ทำลายป่าแบบไม่เลือก และอาจทิ้งผลไว้ได้นานถึง 40 ปี
งานวิจัยนำโดยมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียฉบับนี้ อ้างอิงจากหนึ่งในงานทดลองด้านป่าไม้ที่ดำเนินการต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก ณ ห้องปฏิบัติการอุทกวิทยาโควีตา รัฐนอร์ทแคโรไลนา และได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Hydrology
ผลการวิจัยพบว่า การตัดไม้แบบไม่เลือก หรือ clear cutting คือการตัดไม้ในป่าออกทั้งหมดในคราวเดียว รายงานพบว่าสามารถทำให้น้ำท่วมในพื้นที่รับน้ำรุนแรงขึ้นได้มาก เหตุน้ำท่วมรุนแรงที่แต่เดิมเคยเกิดเพียง 70 ปีครั้ง กลายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดบ่อยถึง 9 ปีครั้ง หลังพื้นที่นั้นผ่านกระบวนการตัดป่าทั้งหมดในคราวเดียว
“รายงานฉบับนี้ท้าทายแนวคิดแบบดั้งเดิมเกี่ยวกับผลกระทบการจัดการพื้นที่ป่าและน้ำท่วม” ดร. ยูนัส อาลิลา ผู้เขียนอาวุโสของงานวิจัย และนักอุทกวิทยาแห่งคณะป่าไม้ มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียกล่าว
“เราหวังว่าอุตสาหกรรมและผู้ร่างนโยบายจะบันทึกผลการค้นพบนี้เอาไว้ ซึ่งผลไม่ได้เพียงบอกว่า ความสำคัญคือการตัดแค่ไหน แต่รวมไปถึง ตัดตรงไหน อย่างไร และภายใต้ปัจจัยแบบไหน”
ทีมวิจัยได้วิเคราะห์พื้นที่รับน้ำที่อยู่ติดกันสองแห่ง ซึ่งแห่งหนึ่งหันหน้าไปทางทิศเหนือ อีกแห่งหันไปทางทิศใต้ โดยทั้งสองแห่งถูกตัดไม้ทำลายป่าไปทั้งหมดในช่วงปลายทศวรรษ 1950 เฮนรี ฟาม ผู้เขียนคนแรกของงานวิจัยและนักศึกษาระดับปริญญาเอกจากคณะป่าไม้กล่าวถึงความสำคัญด้านภูมิศาสตร์
“เราพบว่า ปัจจัยด้านภูมิประเทศที่ดูเหมือนไม่สำคัญ เช่น ทิศทางที่ลาดเขาหันหน้า อาจเป็นตัวกำหนดได้เลยว่าพื้นที่รับน้ำจะตอบสนองต่อการตัดไม้เช่นไร”
ฟามอธิบายว่า พื้นที่รับน้ำที่หันหน้าไปทางเหนือ ได้รับแสงโดยตรงน้อยกว่า และมีความชื้นมากกว่า น้ำท่วมอาจมีความถี่มากขึ้น 4-18 เท่า ขนาดของน้ำท่วมก็เพิ่มขึ้นราว 47% เปรียบเทียบกับก่อนผ่านกระบวนการตัดไม้ นอกจากนี้ เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุด เปรียบเทียบก่อน-หลังตัดพบว่า หลังตัดแล้วมีขนาดเพิ่มขึ้น 105% หรือมากกว่าเท่าตัวทีเดียว
กลับกัน พื้นที่รับน้ำหรือสันปันน้ำที่หันหน้าไปทางทิศใต้ แม้จะผ่านกระบวนการตัดไม้จนเหี้ยนในลักษณะเดียวกัน เรากลับไม่พบผลกระทบที่มองเห็นได้ต่อลักษณะการท่วมของน้ำเลย
แบบจำลองน้ำท่วมแบบเก่ามักจะใช้ข้อสรุปที่ว่า “ตัดต้นไม้ออกไป X เปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะมีน้ำไหลบ่าเพิ่มขึ้น Y เปอร์เซ็นต์” อย่างไรก็ตามงานวิจัยชิ้นนี้พบว่า การจำลองในลักษณะนั้นไม่สามารถใช้ได้กับน้ำท่วมรุนแรงและไม่แน่นอน อันเกิดขึ้นหลังบริเวณหนึ่งถูกรบกวน อาลิลากล่าวถึงความสำคัญในการมีวิธีวิเคราะห์น้ำท่วมแบบใหม่
“หลักฐานจากการทดลองนี้ยืนยันถึงข้อเรียกร้องที่เราย้ำมานานเรื่องความจำเป็นในการวิเคราะห์ด้วยวิธีที่ดีกว่าเดิม [...] เมื่อเราใช้เครื่องมือทางสถิติแบบความน่าจะเป็นที่เหมาะสมกับข้อมูลระยะยาว เราจะพบผลกระทบที่รุนแรงและผันผวนกว่าที่แบบจำลองเก่าเคยระบุไว้มาก”
อาลิลายังกล่าวว่า การจัดการน้ำไม่ใช่แค่เพิ่มค่าเฉลี่ยน้ำท่วม แต่ยังเปลี่ยนรูปแบบน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำได้อย่างสิ้นเชิง ทำให้เหตุน้ำท่วมหนักที่นานทีจะเกิด เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ไม่ยาก
สิ่งที่น่ากังวลที่สุดจากการค้นพบครั้งนี้คือ ผลกระทบน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำที่หันหน้าไปทางเหนือนั้น อาจคงอยู่ได้นานถึง 40 ปี เป็นหลักฐานยืนยันว่าการจัดการป่าไม้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระยะยาว ในการตอบสนองต่อน้ำท่วมของพื้นที่ลุ่มน้ำ
นอกจากการอธิบายถึงการทดลองและผลการค้นพบ รายงานยังเสนอแนวทางการจัดการป่าไม้ โดยเฉพาะสำหรับป่าไม้ในบริติชโคลัมเบีย ในแคนาดา ที่ซึ่งภูมิประเทศและแนวทางการจัดการป่าไม้เป็นไปในลักษณะคล้ายคลึงกับที่รายงานกล่าวถึง
อาลิลากล่าวว่า รูปแบบการจำลองน้ำท่วมที่ใช้ในวิจัยครั้งนี้ สามารถใช้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในบริติชโคลัมเบียได้ว่าพื้นที่ใดเสี่ยงเผชิญน้ำท่วมรุนแรงมาก และยังสามารถใช้ตรวจสอบความรุนแรงของอุทกภัยในทุ่งหญ้าซูมาสในปี 2564 และอุทกภัยในรัฐเท็กซัสครั้งล่าสุดว่า เป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ หรือจากการตัดไม้ทำลายป่ามากน้อยเพียงใด
“ข้อค้นพบของเราชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยด้านภูมิประเทศหลายอย่างสามารถตอบสนองซึ่งกันและกันในลักษณะซับซ้อน และเมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง การเข้าใจพลวัตเหล่านี้ก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับการจัดการป่าไม้และทรัพยากรน้ำ”
ที่มา: UBC , Science Daily