จากกรณีที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศ เรื่องฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณประเทศไทย คลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน (มีผลกระทบในช่วงวันที่ 19-24 ก.ค. 2568) ฉบับที่ 5 รับมือพายุโซนร้อน "วิภา" (WIPHA) เตือน 23 จังหวัดจะฝนตกหนัก โดยเฉพาะวันพรุ่งนี้ 20 ก.ค. โซนภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงราย จ.ลำปาง จ.พะเยา จ.น่าน จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ และ จ.ตาก
ทีมข่าวอมรินทร์ทีวีได้สุ่มลงพื้นที่ จ.พะเยา ซึ่งก็พบว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ชาวนากำลังเร่งทำนาปี อยู่ในช่วงหว่านข้าว ซึ่งพบว่านาบางแปลงยังมีน้ำท่วมขัง จนข้าวที่เพิ่งงอกล้มและเน่า จากช่วงที่มีฝนตกอย่างหนัก ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และได้ส่งผลให้น้ำป่าหลาก 2 อำเภอ คือ อ.ภูซาง และ อ.เชียงคำ ด้วยเมื่อช่วงวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา แต่ช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา สถานการณ์นิ่ง ชาวนาก็เริ่มออกนา ซ่อมข้าวของตัวเองอย่างคึกคัก
ทีมข่าวได้ไปคุยกับ นางแสงจันทร์ อายุ 52 ปี ชาวนาในพื้นที่ ต.แม่ใส่ อ.เมืองพะเยา บอกว่า ผู้นำประกาศเตือนก็จริง แต่ชาวนาไม่มีแผนที่จะรับมือได้ เพราะว่าห้วงกรกฎาคม เป็นฤดูการณ์ในช่วงทำนาปี ไม่อาจเว้นหรือหยุดทำนาได้ ชาวนาจึงมีแต่ความเสี่ยง ซึ่งก็พึ่งทางการในการระบายน้ำลงกว๊านพะเยาให้ไวที่สุด แต่สุดท้ายถ้าไม่ไหวน้ำก็เอ่อล้นแบบนั้น ชาวนาก็ต้องรับชะตากรรม
ซึ่งยอมรับว่าปีนี้ทั้งกังวล ทั้งเสี่ยง เพราะรอบฝนที่ผ่านมาน้ำยังท่วมนาอยู่เลย โดยเฉพาะนาลุ่ม ข้าวเน่า ไม่ออกรวง เช่น ของตนข้าวเน่า ต้องไปซ่อม ซึ่งถ้าจะรอพายุลูกนี้ไปก่อนก็ไม่ได้ เพราะข้าวนาปี ถ้าเลยช่วงเดือนกรกฎาคมไปแล้วจะไม่ได้ผลผลิต ยิ่งเป็นข้าวหอมมะลิ 105 มันจะตายคารวง จึงต้องเร่งแก้ และรับความเสี่ยงกับพายุลูกนี้ ส่วนถ้าเป็นข้าว กข ไม่เป็นไร ห้วงเดือนสิงหาคม ก็ยังทำได้
สำหรับตนหวังให้ทุกอย่างผ่านไป พร้อมบอกว่าชาวนาปีนี้แย่ โดยเฉพาะกลุ่มชาวนาที่ว่าจ้างรถ จ้างคน กับผลผลิตก็คุ้มทุนแต่ไม่ได้กำไรเลย บางคนเกือบติดลม ดังนั้นปลายปีนี้ก็ลุ้นว่าจะได้ผลผลิตได้มากแค่ไหน
ทีมข่าวเดินทางมายังอ่างเก็บน้ำกว๊านพะเยา โดยดูด้วยตาเปล่าพบปริมาณน้ำที่กว๊านพะเยาในขณะนี้ ยังคงเหลือพื้นที่รับน้ำได้อีกมาก และแม้ว่าจะเป็นช่วงเย็นเครื่องจักรยังคงทำงาน ในการเร่งเปิดทางระบายน้ำ เนื่องจากในห้วงน้ำฝน 14 ก.ค. ถึง 17 ก.ค. ที่ผ่านมา น้ำฝนตกลงมาอย่างหนัก ส่งผลให้การระบายน้ำลงกว๊านพะเยาช้า ทำให้ทุ่งนาของชาวบ้านส่งผลกระทบน้ำท่วมขังมาจนถึงวันนี้
ขณะเดียวกันเครื่องจักรนี้ อยู่ในแผนโครงการขุดลอกกว๊านพะเยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำและรับน้ำอีกด้วย
นายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เปิดเผยกับอมรินทร์ผ่านทางโทรศัพท์ว่า จ.พะเยา มีแผนรับมือกับพายุรอบแรกแล้ว แต่ในรอบแรกเข้าเฉพาะพื้นที่ จ.เชียงราย จ.น่าน แต่ทางจังหวัดก็ได้แจ้งเตือนให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมทุกแห่งให้เฝ้าระวังปริมาณน้ำ พร้อมกับแต่ละอำเภอ ต้องรายงานปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ให้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพะเยา รับทราบเป็นระยะ
พร้อมกันนี้ทุกหน่วยงานใน จ.พะเยา ยังช่วยกันเฝ้าระวังพื้นที่ต้นน้ำ หากปริมาณฝนตกหนักมาก ในพื้นที่ต้นน้ำยม เช่น อ.เชียงม่วน อ.ปง อ.ภูซาง และ อ.เชียงคำ ตลอดจนในเขต อ.เมือง อ.แม่ใจ๋ เพราะอยู่ในเขตต้นน้ำอิง
ซึ่งจะต้องมีหน่วยงานอำเภอ เจ้าหน้าที่ส่วนปกครองส่วนท้องถิ่นท้อง/ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ ต้องตรวจเช็คระดับน้ำ สีของน้ำ ในต้นน้ำ ว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะได้เตือนประชาชนเตรียมการรับมือได้ทัน และเตรียมแผนรับมือเผชิญเหตุ เมื่อเกิดเหตุจริงจะได้เข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ทันท่วงที
พร้อมกว่านี้ช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา ได้ขออนุมัติกรมป้องกันสาธารณภัย เรื่อง "Cell Broadcast" คือ ระบบการแจ้งเตือนภัยผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอภูซาง และอำเภอเชียงคำ
ส่วนในพื้นที่กว๊านพะเยา ยืนยันว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ขณะนี้ปริมาณอยู่ 22 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณการรับน้ำได้ทั้งหมด 55 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะเดียวกันมีแผนรับมือขุดลอกเพิ่ม ซึ่งตอนนี้เชื่อว่าจะสามารถรับน้ำได้อีก 5 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งวางแผนไว้ว่าจะขุดลอกเพิ่มรับน้ำให้ได้ประมาณ 15 ลูกบาศก์เมตร แต่ในขณะนี้แผนการขุดลอกต้องชะลอออกไปก่อน เพราะต้องเร่งเปิดทางระบายน้ำจากปริมาณน้ำฝนชุดแรก ที่ประสบปัญหาทางระบายน้ำอุดตัน
ทั้งนี้ในปัญหาเดิมที่เกิดขึ้นได้ให้ส่วนเกี่ยวข้อง ไปจัดการแก้ไขปัญหา ซึ่งได้รับรายงานมาว่าเกิดจากประตูระบายน้ำตัน ฝังน้ำที่มาจากดอยหลวง ประสบปัญหาน้ำระบายยาก ทำให้น้ำท่วมทุ่งนาของชาวบ้าน แต่ได้ทำการแก้ปัญหาเบื้องต้นแล้ว โดยเฉพาะการทำทางผ่านให้ลงประตูระบายน้ำ หากการระบายน้ำทั้งหมดเรียบร้อยแล้วก็จะดำเนินการขุดลอกรับน้ำเพิ่ม
ด้าน นายเสงียม อายุ 66 ปี ชาวเทศบาล ต.เวียง อ.เมืองพะเยา ชาวบ้านใกล้กว๊านพะเยา เผยกังวลมากๆ เพราะตลอด 30 ปี ที่อยู่อาศัยมา น้ำไม่ค่อยท่วมเมืองมากนัก จำได้แค่ประมาณ 3-4 ครั้งเท่านั้น และปีนี้ก็ไม่อยากให้ท่วม พร้อมพาไปดูร่องรอยน้ำท่วมเก่าของปี 2567 ปีที่แล้ว พบว่าน้ำท่วมอยู่ในระดับหัวเข่า
นายเสงียม บอกว่า ปีนี้ ผู้นำยังไม่ได้ประกาศแจ้งเตือนอะไร แต่เชื่อว่ามีแผนรับมือ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ได้มีการร้องขอทั้งเรือ กระสอบทราย ผู้นำชุมชนก็เอามาให้ถึงพื้นที่ ดังนั้นเรื่องของอุปกรณ์ในการรับมือน้ำจึงไม่ค่อยน่าเป็นห่วง
แต่ในส่วนของปริมาณน้ำฝนเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ จากประสบการณ์ หากพายุลูกนี้ มานานส่งผลปริมาณน้ำฝนตกเป็นระยะเวลายาว 4-5 วัน ชาวบ้านย่านกว๊านพะเยา ก็รับมือกับปริมาณน้ำท่วมขังได้เลย แต่หากฝกตกต่อเนื่องเพียงแค่ 1-2 วัน อ่างเก็บน้ำกว๊านพะเยา สามารถรองรับปริมาณน้ำได้ ชุมชนใกล้เคียงก็ไม่มีปัญหา จึงได้แต่รอลุ้นคืนนี้ ที่พายุกำลังจะเข้ามาส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน
Advertisement