Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
อุตสาหกรรมยาทำแหล่งน้ำปนเปื้อน แบคทีเรียดื้อยา สัตว์พฤติกรรมเปลี่ยน
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

อุตสาหกรรมยาทำแหล่งน้ำปนเปื้อน แบคทีเรียดื้อยา สัตว์พฤติกรรมเปลี่ยน

14 พ.ค. 68
17:20 น.
แชร์

ทรัพยากรน้ำของโลกเราเผชิญปัญหาปนเปื้อนมลพิษ รายงานจาก UNEP สำรวจแหล่งน้ำกว่า 75,000 แห่งใน 89 ประเทศ และพบว่ากว่า 40% ของแหล่งน้ำเหล่านั้นกำลังเผชิญปัญหามลภาวะ และประชากรโลกมากกว่า 3,000 ล้านคนมีความเสี่ยงเป็นโรคจากคุณภาพน้ำ

แม้แหล่งน้ำจะปนเปื้อนจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือ อุตสาหกรรมยา เมื่อเดือนเมษายน 2568 รายงาน Antibiotics in the global river system arising from human consumption ชี้ว่า ในหนึ่งปี มียาปฏิชีวนะหลายพันตันถูกปล่อยลงแม่น้ำสายต่างๆ ทั่วโลกจากการบริโภคของมนุษย์เพียงสาเหตุเดียว ในจำนวนนั้น ยากว่า 11% เล็ดลอดไปถึงมหาสมุทรหรือแหล่งน้ำใต้ดิน นักวิจัยค้นพบการปนเปื้อนในแหล่งน้ำจากยาต้านเศร้า ยาโรคหัวใจ และยาชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิด

แม้ว่าสัดส่วนการปนเปื้อนของยาในแหล่งน้ำมักจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ยาเพียงน้อยนิดก็สามารถสร้างผลกระทบรุนแรงต่อสัตว์ป่าหรือสุขภาพของมนุษย์ได้ ปัญหานี้ยังไม่ถูกพูดถึงเพียงพอ เมื่อพิจารณาว่ายาที่รั่วไหลลงแหล่งน้ำเหล่านั้นอาจส่งผลต่อพฤติกรรมและชีวภาพของสิ่งมีชีวิตได้ มิหนำซ้ำ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศดูเหมือนจะทำให้ปัญหานี้ยิ่งเลวร้ายลง

ปนเปื้อนสม่ำเสมอ

ยาปนเปื้อนในแหล่งน้ำไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้น รายงานปี 2021 Dosing the coast: Baltimore County's leaky pipes are medicating the Chesapeake Bay พบว่าท่อน้ำเสียจากเมืองบัลติมอร์ที่รั่ว ส่งผลให้มียาสำหรับมนุษย์รั่วไหลลงอ่าวเชสพีกเป็นจำนวนหลายหมื่นโดสทุกวัน นานหลายศตวรรษ

ต่อมาในปี 2022 รายงาน Pharmaceutical pollution of the world’s rivers สำรวจแหล่งน้ำมากกว่า 1,000 แห่งใน 104 ประเทศ พบว่ามากกว่า 1 ใน 4 ของแหล่งน้ำมีอัตราการปนเปื้อนในระดับอันตราย ใกล้เคียงกับรายงานเดือนเมษายนที่กล่าวถึงข้างต้น นักวิจัยใช้ข้อมูลข้างต้นประมาณการข้อมูลทั่วโลก และได้ผลว่าใน 1 ปี ยาปฏิชีวนะกว่า 40 ชนิดที่คนใช้มากที่สุด มากกว่า 8,500 ตัน รั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำ และอาจสู่มหาสมุทร ตัวเลขนี้ยังไม่รวมการปนเปื้อนจากโรงงานอุตสาหกรรมและการปศุสัตว์

ข้อมูลจากรายงานทั้ง 2 ฉบับชี้ว่า สัดส่วนการปนเปื้อนในประเทศรายได้ต่ำนั้นสูงกว่า เนื่องจากระบบจัดการของเสียที่มีคุณภาพต่ำกว่า และแม้ยาปฏิชีวนะจะมีอัตราปนเปื้อนต่ำ จนไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำดื่ม แต่ยาปฏิชีวนะจะลดความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำ และอาจส่งผลร้ายต่อระบบนิเวศได้ในระยะยาว อาจส่งผลร้ายต่อปลาและสาหร่าย และทำให้แบคทีเรียบางชนิดดื้อยาได้

ฤทธิ์ยาในสิ่งแวดล้อม

ผลกระทบจากยาปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมมีมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณโดสของยา รายงาน Pharmaceutical pollution influences river-to-sea migration in Atlantic salmon ชี้ว่า ยาแก้วิตกกังวล clobazam ส่งผลต่อการอพยพของปลาแซลมอน นักวิจัยให้ยาคลายวิตกกังวลที่มีสาร opioid และติดตามการอพยพของปลาแซลมอนเหล่านี้ พบว่าปลาแซลมอนที่ได้รับยาต้านวิตกกังวลสามารถเดินทางได้ไวขึ้น นักวิจัยคาดว่ามาจากการยับยั้งชั่งใจที่น้อยลง

ไมเคิล เบอร์แทรม นักนิเวศวิทยาด้านพฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งสวีเดนกล่าวว่า แม้แซลมอนจะเดินทางไวขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าการได้รับยาดังกล่าวเป็นผลดี

“โชคร้ายที่ในสายงานวิจัยของผม แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะพบสิ่งใดที่ดีแท้ไปเสียทั้งหมด [...] ความเป็นจริงก็คือ การเบี่ยงเบนไปจากพฤติกรรมและนิเวศวิทยาตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตชนิดใด ย่อมส่งผลไม่เพียงแค่ต่อสิ่งมีชีวิตชนิดนั้น แต่ยังรวมถึงชุมชนเชิงนิเวศโดยรอบด้วย”

เบอร์แทรมยกตัวอย่างผลกระทบ เช่น พฤติกรรมที่ได้อิทธิพลจากยาอาจเปลี่ยนช่วงเวลาอพยพของปลาแซลมอน หรืออาจส่งต่อไปที่สัตว์นักล่าที่กินแซลมอน ยาจึงอาจถูกส่งต่อไปได้อีกในห่วงโซ่อาหาร

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อการปนเปื้อนของยาในแหล่งน้ำทั้งทางตรงและทางอ้อม ภัยแล้งที่ทำให้น้ำลดลงในบางช่วงของปี อาจทำให้ระดับการปนเปื้อนจากยาปฏิชีวนะเข้มข้นขึ้น ส่วนพายุรุนแรงก็อาจทำให้น้ำในแหล่งบำบัดน้ำเสียที่ยังไม่ถูกบำบัดรั่วไหลออกมาสู่ระบบนิเวศ อุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้นก็อาจเร่งอัตราการดูดซึมยาในกระบวนการเผาผลาญของปลา และงานวิจัยหลายชิ้นก็แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอุณหภูมิที่สูงขึ้นสามารถทำให้เกิดแบคทีเรียดื้อยาได้

รายงานจากวารสาร Nature ระบุว่า การได้รับยาปฏิชีวนะในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมสามารถเร่งกระบวนการนี้ และอาจกระตุ้นให้เกิดการแพร่ระบาดของ “ซูเปอร์บั๊ก” หรือแบคทีเรียดื้อยาสูง

เบอร์แทรมกล่าวว่า ในพื้นที่ที่มีน้ำดื่มสะอาด ผู้คนมักไม่ได้รับยาปฏิชีวนะในระดับที่สูงพอจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ แต่กับสิ่งแวดล้อมโดยรวมอาจเป็นอีกเรื่อง

“มีภัยคุกคามร้ายแรงต่อการพัฒนาของภาวะดื้อยาต้านจุลชีพ และอาจส่งผลกระทบตามมาในหลายรูปแบบต่อทั้งสัตว์ป่า และต่อสุขภาพมนุษย์ด้วย” เบอร์แทรมกล่าว “สำหรับประเด็นเรื่องมลพิษจากยาแล้ว นี่ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก”

นอกจากการตั้งโรงบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ และการกำจัดขยะทางการแพทย์อย่างเหมาะสมในระดับอุตสาหกรรม เบอร์แทรมเน้นว่า เราจำเป็นต้องจัดการกับปัญหานี้ตั้งแต่ต้นทาง เขาและนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมอีกกลุ่มเรียกร้องให้ภาคอุตสาหกรรมยาคิดค้นและออกแบบยารักษาโรคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มต่ำกว่าที่จะแพร่กระจายและสะสมในทางน้ำ

“นี่คือแง่มุมที่มองเห็นได้ยากเวลาที่เราใช้ผลิตภัณฑ์ ในที่นี้คือยา และหากเราไม่ได้เห็นวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์นี้ทุกช่วง ก็อาจจินตนาการว่า มันแค่หายไปเท่านั้นเอง” เบอร์แทรมกล่าว “แต่ความจริงก็คือ เมื่อมันถูกผลิตขึ้น มันก็มีอยู่ และหากไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม มันก็จะจบลงที่สิ่งแวดล้อมในที่สุด”

ที่มา: https://insideclimatenews.org/news/13052025/todays-climate-pharmaceutical-pollution-waterways/

แชร์
อุตสาหกรรมยาทำแหล่งน้ำปนเปื้อน แบคทีเรียดื้อยา สัตว์พฤติกรรมเปลี่ยน