การเงิน

5 สิ่งที่ควรทำ หลังจากยื่นภาษีประจำปีเรียบร้อยแล้ว

7 เม.ย. 67
5 สิ่งที่ควรทำ หลังจากยื่นภาษีประจำปีเรียบร้อยแล้ว

วันที่ 9 เมษายน 2567 เป็นวันสุดท้ายของการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ต (สำหรับปี 2566) ซึ่งก็แน่นอนว่า บางคนไม่ต้องเสียภาษี บางคนได้คืนภาษี และมีบางคนที่ต้องจ่ายเพิ่ม 

ผมเลยถือโอกาสชวนคิดและวิเคราะห์สิ่งที่ควรทำสำหรับคนแต่ละกลุ่มดังนี้ เพื่อใช้ในการจัดการภาษีในปี 2567 ต่อไป และถือว่าเป็นการเตรียมพร้อมไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ครับ 

แต่ก่อนจะไปถึงตรงนี้ หากคุณเป็นคนหนึ่งทีมีรายได้ในปี 2566 (แม้ว่าจะไม่เสียภาษี) และได้อ่านบทความนี้ก่อนวันที่ 9 เมษายน 2567 ผมแนะนำให้ยื่นภาษีหากคุณเข้าเงื่อนไขตามนี้ครับ

  • กรณีคนโสด ถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ 120,000 บาทต่อปี หรือกรณีมีรายได้อื่นถึง 60,000 บาทต่อปี ถือว่าเป็นผู้ที่มีหน้าที่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครับ

  • กรณีคนมีคู่สมรสที่เอามาลดหย่อนภาษีได้ ถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ 220,000 บาทต่อปี หรือกรณีมีรายได้อื่นถึง 120,000 บาทต่อปี ก็มีหน้าที่ยื่นภาษีเช่นเดียวกันครับ

จะเห็นว่าทั้งสองยอดนั้นไม่ต้องเสียภาษี แต่ยังไงก็ตามเราก็ยังมีหน้าที่ที่ต้องยื่นภาษีอยู่ดี เนื่องจากเป็นหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ เอาล่ะครับ.. หลังจากที่ยื่นภาษีเรียบร้อยแล้ว ผมมีแนะนำเพิ่มเติมตามนี้ครับ 

  1. เช็คว่าการยื่นนั้นครบถ้วนและถูกต้อง จากแบบแสดงรายการภาษีที่ได้รับ (ภ.ง.ด. 90,91) และใบเสร็จรับเงินจากกรมสรรพากร 

นอกจากนั้นจุดสำคัญที่ผมอยากให้เช็คตอนยื่นภาษีนั้น คือ ภาษีที่คำนวณได้ (รวมภาษีที่ต้องชำระ) ยอดนี้คือยอดสำคัญในการตรวจสอบ เพราะมันคือยอดภาษีที่ต้องเสียจริง ๆ จากเงินได้ที่เรามีในปีนั้น ๆ ซึ่งตรงนี้หลายคนมักจะพลาดไปดูที่ช่อง “ภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติม หรือ ชำระไว้เกิน” ในการยื่นภาษีแทน ซึ่งอาจจะทำให้เราเข้าใจผิดคิดว่า เราเสียภาษีน้อยกว่าความเป็นจริง 

ยกตัวอย่างเช่น นายบักหนอมคำนวณภาษีได้ 30,000 บาทแต่มีภาษีหัก ณ ที่จ่ายไว้ 35,000 บาท แบบนี้ถ้าดูเผิน ๆ คือ นายบักหนอมจะได้คืนภาษี 5,000 บาท แต่ความเป็นจริงแล้ว มันแปลว่านายบักหนอมต้องเสียภาษี 30,000 บาทต่างหากครับ (เพียงแต่มีภาษีที่จ่ายล่วงหน้าไว้มากกว่าเลยสามารถขอคืนได้) 

การเช็คตรงนี้จะมีข้อดีตรงที่ทำให้เราประเมินได้ว่า ภาษีที่เราเสียอยู่ในฐานไหน และเราควรจะวางแผนภาษีอย่างไรต่อไปในปีนี้ เพื่อให้คุ้มค่าและสอดคล้องกับเป้าหมายการเงินของเราครับ และถ้ามองว่าปีนี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ผมแนะนำนำให้ลองประเมินรายได้ว่าจะมีผลกระทบต่อภาษีเท่าไร เราจะได้วางแผนได้ง่ายขึ้นเช่นเดียวกันครับ (หากทำได้ตั้งแต่ตอนนี้ก็จะดีมาก ๆ เลยครับ) 

  1. จัดเก็บเอกสารหลักฐานในการยื่นภาษี เก็บรวบรวมเอกสารการยื่นภาษีทั้งหมดไว้เป็นหลักฐาน
    ในกรณีเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรต้องการตรวจสอบในภายหลัง โดยต้องเก็บไว้ 5 ปี ซึ่งตรงมาจากหลักการอำนาจในการตรวจสอบย้อนหลังของทางสรรพากรที่มีตามกฎหมาย นั่นคือ กรณียื่นภาษีสามารถตรวจย้อนหลังได้สูงสุด 5 ปีนั่นเองครับ 

โดยหลักฐานที่ว่า มีทั้งหลักฐานการมีรายได้ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ไปจนถึงหลักฐานการหักค่าใช้จ่ายจริง และหลักฐานการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ที่เราได้ใช้ในการยื่นภาษี แนะนำว่าเก็บไว้ให้ดี และเก็บไว้อย่างมีระบบ จะช่วยลดปัญหาส่วนนี้ได้จริง ๆ ครับ 

  1. ทบทวนการวางแผนภาษีประจำปี 2567 ต่อไป สำหรับคนที่ยังเสียภาษีไม่มาก หรือ ได้คืนภาษี อาจจะใช้ประสบการณ์ในการยื่นภาษีในปีนี้ ทำความเข้าใจเรื่องการคำนวณภาษีมากยิ่งขึ้น หรือ ลองวิเคราะห์ข้อมูลดูว่าตรงไหนจัดการเพิ่มเติมได้อีก เพื่อปรับกลยุทธ์การวางแผนภาษีสำหรับปีต่อไปให้เหมาะสมกับตัวเรามากยิ่งขึ้นครับ

ในทางกลับกัน ถ้าคุณเป็นคนที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเยอะ อาจจะต้องมองหาช่องทางอื่นๆ ที่เหมาะสมในการวางแผนจัดการภาษีอีกระดับหนึ่ง เช่น พิจารณาจดบริษัท (เปลี่ยนเป็นนิติบุคคล) หรือ เปลี่ยนวิธีการหักค่าใช้จ่าย (จากเหมาเป็นจริง - หากทำได้) เพื่อให้บริหารและจัดการวางแผนภาษีได้มากขึ้นเช่นกันครับ 

  1. ใครที่ได้คืนภาษี อย่าลืมวางแผนให้ดี หากสามารถทำได้ แนะนำว่าเงินที่ได้จากการคืนภาษีสามารถนำไปวางแผนต่อยอดในการลดหย่อนภาษีปีต่อไปได้เช่นกันครับ ดังนั้นถ้าใครสะดวกบริหารจัดการแนวนี้ ก็จะช่วยให้เรามีเงินไปต่อยอดลดหย่อนได้อีกต่อหนึ่งเรื่อย ๆ แต่ก็ควรพิจารณาร่วมกับเป้าหมายการเงินที่มี และกระแสเงินสดที่ต้องใช้ด้วยนะครับ  

  2. ใครที่จ่ายเพิ่มแล้วผ่อน อย่าพลาดลืมผ่อน อีกหนึ่งคำแนะนำสำหรับคนที่จ่ายภาษีเพิ่มและผ่อนกับทางสรรพากรไว้ 3 งวด แนะนำว่าอย่าลืมจ่ายในงวดต่อ ๆ ไปให้ตรงเวลาด้วยนะครับ เพราะว่าถ้าจ่ายช้าอาจต้องเสียเงินเพิ่มอีกต่อหนึ่ง ซึ่งไม่คุ้มกันเลยครับผม 

สุดท้ายหวังว่าทุกคนจะยื่นภาษีเรียบร้อย ได้คืนไว ไม่มีปัญหาย้อนหลัง แต่วางแผนภาษีได้อย่างมีพลังสำหรับปี 2567 นี้นะครับ :) 

ถนอม เกตุเอม

ถนอม เกตุเอม

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms

advertisement

SPOTLIGHT