การเงิน

3 เรื่องที่ต้องตัดสินใจให้ดี ก่อนใช้สิทธิ์ช้อปดีมีคืน

22 ม.ค. 66
3 เรื่องที่ต้องตัดสินใจให้ดี ก่อนใช้สิทธิ์ช้อปดีมีคืน

กลับมาอีกครั้งกับนโยบายสุดฮิต อย่างสิทธิ์ลดหย่อนภาษีช้อปดีมีคืนประจำปี 2566 ที่บุคคลธรรมดาอย่างเราสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 40,000 บาท สำหรับการซื้อสินค้าหรือบริการที่เข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดในช่วงเวลา 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ 

ผมเชื่อเหลือเกินว่านโยบายแบบนี้เป็นนโยบายที่โดนใจใครหลายคน เพราะถือเป็นสิทธิ์ประโยชน์ส่วนเพิ่มจากการใช้จ่าย และสามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้อีกด้วย  แต่สิ่งที่อยากชวนคิดเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดของเรา นั่นคือ เราจะบริหารจัดการเงินอย่างไรให้คุ้มค่าทั้งเรื่องภาษี และสิ่งทีได้รับมาจากการใช้นั่นเองครับ

ผมมีคำถาม  3 ข้อสั้นๆ ที่อยากจะชวนทุกคนเช็คตัวเองก่อนใช้สิทธิ์ เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากนโยบายนี้ และดีต่อเงินในกระเป๋าของเราไปด้วยกัน มาครับ เรามาเริ่มกันที่คำถามแรกกันก่อนเลย … 

ข้อแรก สิทธิ์สูงสุด 40,000 บาทที่เราจ่ายไป ลดภาษีได้เท่าไร? 

เมื่อสิทธิ์ประโยชน์ตัวนี้เป็นรายการลดหย่อนภาษี นั่นแปลว่าเงินที่เราจ่ายไปทั้งหมดไม่สามารถลดภาษีได้ทั้งจำนวน ดังนั้นถ้าอยากให้คุ้มแบบสุด ๆ เราควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าว่า ใช้แล้วจะลดภาษีได้กี่บาทกันแน่ ซึ่งจะตอบคำถามนี้ได้นั้น เราจำเป็นต้องรู้ว่าในปัจจุบัน เราเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราเท่าไรอยู่ครับ 

ช้อปดีมมีคืน
จากรูปจะเห็นว่าถ้าเราไม่ได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่แล้ว แม้ว่าจะจ่ายไปเต็มที่ 40,000 บาทก็ไม่สามารถลดภาษีได้ แต่ถ้าหากเราเสียในอัตราที่สูงขึ้นเรือย ๆ ความคุ้มค่าในการลดหย่อนภาษีถึงจะเพิ่มขึ้นตามเช่นเดียวกันครับ 

ถ้าหากใครยังไม่รู้ว่าตัวเองเสียภาษีในอัตราเท่าไร สิ่งที่ผมอยากให้เช็ค คือ แบบแสดงรายการภาษีปีที่แล้วครับ (ถ้าปีนี้รายได้ไม่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ก็พอใช้เป็นแนวทางในการเปรียบเทียบได้) หรือไม่ก็ต้องลองคำนวณภาษีจากฐานรายได้ของตัวเองดูสักที เพื่อที่เราจะได้มั่นใจว่าสิทธิ์ที่เราได้คุ้มค่านั่นเองครับ 

แต่ถ้าหากคิดแล้วคุ้มแน่ ผมอยากชวนมองต่อในข้อต่อไปครับ นั่นคือ …

ข้อสอง ของ (สินค้าหรือบริการ) ที่ซื้อได้ใช้จริงไหม?

การใช้จ่ายโดยปกติจะมาจากพื้นฐานอยู่ 2 เรื่องครับ นั่นคือ ความต้องการ หรือ ความจำเป็น ในการใช้จ่าย ซึ่งถ้าหากเป็นสิ่งที่เราต้องการมีแต่ไม่ได้จำเป็น เราต้องมองเห็นผลกระทบด้วยครับว่า แล้วมันจะมีผลต่อเงินในกระเป๋าเราอย่างไร การใช้จ่ายในวงเงินนี้มีผลกระทบทำให้เงินหมุนเวียนที่มีของเราลดลงไปหรือเปล่า ? 

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้ห้ามหรือบอกว่าต้องซื้อเฉพาะของที่จำเป็นเท่านั้นนะครับ เพียงแต่ว่าสุดท้ายแล้วสินค้าหรือบริการที่เราซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้มันอย่างคุ้มค่า หรือว่าเป็นการซื้อเพียงเพราะความอยากได้ชั่วครั้งชั่วคราว อาจจะเป็นเรื่องสิ้นเปลืองเกินไป และถ้าหากมันกระทบเงินในกระเป๋าของเราจนลำบาก ก็น่าจะเป็นปัญหาได้ในอนาคตเช่นเดียวกัน

ดังนั้น อย่าลืมคิดให้ดีก่อนที่จะใช้ เพื่อไม่ให้เราได้รับประโยชน์แค่ลดภาษี แต่มันควรจะเป็นสิ่งที่เราได้รับจากการจ่ายไปให้คุ้มค่าที่สุดครับ

ถ้าผ่านสองข้อนี้มาได้ ก็แน่นอนว่า สุดท้ายแล้วเราต้องมาเช็คตัวนี้ครับ นั่นคือ เงื่อนไขของกฎหมาย

ช้อปดีมีคืน

ข้อสาม เงื่อนไขถูกต้องตามกฎหมายหรือเปล่า ? 

โดยข้อกฎหมายได้กำหนดไว้ว่าเราต้องมีการซื้อสินค้าหรือบริการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้ดังนี้ครับ

(1) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

(2) ค่าซื้อหนังสือหรือค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

(3) ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว

หรือพูดง่าย ๆ มันคือ สินค้าและบริการตามระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม หนังสือและอีบุ๊ค และ สินค้า OTOP นั่นแหละครับ และต้องเป็นการซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2566

แต่อย่าเพิ่งดีใจไปนะครับ เพราะเราไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้ทุกอย่างครับ เนื่องจากยังมีสินค้าและบริการบางตัวที่กฎหมายไม่ให้สามารถใช้สิทธิ์ดังต่อไปนี้ครับ

โดยหลักฐานที่ใช้ในปี 2566 นี้มีการแบ่งประเภทใบกำกับภาษีและสิทธิ์ลดหย่อนออกเป็น 2 ส่วน คือ ใบกำกับภาษีแบบกระดาษ กับ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้ครับ

  • ใบกำกับภาษีแบบกระดาษ รวมทุกใบได้สูงสุด 30,000 บาท
  • ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (E-TAX Invoice) รวมทุกใบสูงสุด 40,000 บาท

ซึ่งมูลค่ารวมจากใบกำกับภาษีทั้งหมดตามเงื่อนไข สามารถใช้สิทธิ์สูงสุดไม่เกิน 40,000 บาท ดังนั้นถ้าในกรณีที่เราใช้ใบกำกับภาษีแบบกระดาษครบสิทธิ์ 30,000 บาทแล้วที่เหลือต้องเป็นใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (E-TAX Invoice) จำนวน 10,000 บาทนั่นเองครับ

หรือจะใช้วิธีการเช็คง่าย ๆ ตามนี้ก็ได้ครับ 

  • ลองเช็คดูก่อนว่า สินค้า/บริการต่างๆ ที่เราต้องการซื้อนั้น เป็นสินค้าหรือบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่มไหม ถ้าหากไม่ใช่ก็ไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ครับ (ยกเว้นหนังสือกับ OTOP ที่ไม่ต้องเป็นผู้ประกอบการจด VAT)
  • ลองสอบถามผู้ขายว่า ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้ได้หรือเปล่า ถ้าหากไม่สามารถออกให้ได้ ก็ไม่สามารถใช้ได้เช่นเดียวกันครับ (ยกเว้นหนังสือกับ OTOP ใช้ใบเสร็จรับเงินแทนได้) โดยใบกำกับภาษีทีว่าต้องมีชื่อ นามสกุล และ ที่อยู่ของเราครบถ้วนครับ 
  • กรณีการซื้อสินค้าหรือบริการ ต้องไม่ใช่สินค้าหรือบริการที่กฎหมายไม่ให้สิทธิ์ และมีวงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดจำนวน 40,000 บาท ซึ่งต้องเป็นการซื้อสินค้าหรือบริการในช่วงเวลา 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2566
  • ในกรณีที่เป็นการรับบริการ ระวังเรื่องระยะเวลาของบริการที่ต้องเกิดขึ้นและสิ้นสุดระหว่างวันที 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2566 โดยไม่มีบริการครอบคลุมในระยะเวลาก่อนหน้าหรือหลังจากนั้น

สุดท้ายนี้ หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์สำหรับคนที่วางแผนใช้สิทธิ์ช้อปดีมีคืน 2566 นี้ทุกคนครับ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า สวัสดีครับ ... TAXBugnoms

 

 

ถนอม เกตุเอม

ถนอม เกตุเอม

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms

advertisement

SPOTLIGHT