การเงิน

เมือ "ลอนดอน" ปิดตลาด "สัญญาทองคำ" ราคาทองโลกจะกระทบแค่ไหน?

6 พ.ค. 65
เมือ "ลอนดอน" ปิดตลาด "สัญญาทองคำ" ราคาทองโลกจะกระทบแค่ไหน?

เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ตลาด LME หรือชื่อเต็มๆ คือ London Metal Exchange ได้ประกาศ "ระงับการซื้อขายทองคำและแร่เงิน" ของเดือนกรกฎาคม 2565 จนสร้างความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับตลาดซื้อขายโลหะมีค่าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกแห่งนี้ และที่สำคัญก็คือ มันจะส่งผลต่อราคาทองคำ และแร่โลหะมีค่าอย่างไรบ้าง


LME คืออะไร?

London Metal Exchange หรือ LME เป็นตลาดซื้อขายสัญญาโลหะที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ตั้งแต่กลุ่มโลหะอุตสาหกรรมอย่าง นิกเกิล กลุ่มโลหะมีค่า (Precious metal) อย่าง ทองคำ และเงิน ไปจนถึงสัญญาเหล็กและพลาสติก ตลาดนี้มีมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์ จึงถือเป็นหนึ่งในตลาดซื้อขายโลหะที่ใหญ่ที่สุดของโลก และถูกใช้เป็นราคาอ้างอิงการซื้อขายโลหะนอกกลุ่มเหล็กมากกว่า 90% ด้วย ที่สำคัญคือ สามารถใช้ตลาด LME ในการบริหารความเสี่ยงด้านราคา (Hedging) ผ่านสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทั้งสัญญา Future สัญญา Forward และ สัญญา Options

ตลาด LME
ตลาด LME


ทำไม LME ต้องระงับการซื้อขายสัญญาล่วงหน้า "ทองคำ และเงิน"

วรุต รุ่งขำ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทวายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จํากัด อธิบายว่า ระบบของตลาด LME อาจจะกำลังมีปัญหาเรื่องการวางหลักประกันการลงทุนในสัญญาล่วงหน้า ทำให้ไม่สามารถส่งมอบของได้จริง หรือภาวะที่เรียกว่า “Short Squeeze”

ในอีกมุมหนึ่งอาจอธิบายได้ว่า การเกิด Short squeeze เกิดจากการที่ราคาหุ้น/สัญญา พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้คนที่ทำ Short sell (ยืมมาขายทำกำไรก่อน โดยเก็งว่าราคาหุ้นจะลดลง) เอาไว้ขาดทุนมหาศาลจนต้องยอม Cut loss ซึ่งการ Cut loss ที่ว่านี้ก็คือการไล่หาซื้อหุ้น/สัญญาตัวนั้นๆ เพื่อพยายามปิดสถานะ Short sell นั่นเอง ทำให้ราคามีแต่ขึ้นไม่มีลง เพราะฝ่ายหนึ่งก็ไล่ซื้อเพื่อทำ Short sell ส่วนอีกฝ่ายก็ต้องไล่ซื้อมาคืนเพื่อปิดสถานะ Short sell เช่นกัน

ปัญหานี้เองที่เชื่อมโยงโดยตรงกับตลาด LME เพราะตลาด LME เพิ่งเจอวิกฤตครั้งใหญ่ เมื่อราคาแร่นิกเกิลได้พุ่งขึ้น 250% ภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง และทำให้เศรษฐีชาวจีนที่เป็นเจ้าของบริษัท Tsingshan Holding Group บริษัทผลิตแร่นิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดในโลก เข้าไปทำ Short Sell สัญญานิกเกิลเอาไว้มหาศาล และเกิดภาวะ Short Squeeze ขึ้นจน LME ต้องปิดตลาดซื้อขายสัญญานิกเกิลลงทันทีชั่วคราว ซึ่งทาง YLG วิเคราะห์ว่า นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในตลาด LME

การปิดตลาดซื้อขายนิกเกิลชั่วคราวนั้น ถือเป็น "เรื่องใหญ่" ของตลาด LME เป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่หน่วยงานตลาดหลักทรัพย์อังกฤษต้องเรียกสอบ LME ทันที เพราะถือเป็นการสั่นสะเทือนความเชื่อมั่นของ "ลอนดอน" ในฐานะศูนย์กลางการซื้อขายสัญญาโลหะของโลก และทำให้หลายคนหวนนึกไปถึง "วิกฤตซับไพรม์" ปี 2008 ที่การซื้อขายแบบไร้กลไกควบคุมที่ดีพอ อาจจำไปสู่ปัญหาในสเกลใหญ่กว่านี้ตามมา

บรรยากาศการซื้อขายในตลาด LME
บรรยากาศการซื้อขายในตลาด LME


สงครามรัสเซีย-ยูเครน สร้างแรงกดดันกว่าที่คาด
 
สถานการณ์สงครามรัสเซีย ยูเครน ก็มีส่วนสร้างความเปลี่ยนแปลงในตลาดการซื้อขายโลหะมีค่าเช่นกัน โดยหลังจากรัสเซียถูกมาตรการคว่ำบาตร ส่งผลต่อธุรกรรมการซื้อขายของโลหะมีค่า ทั้ง ทองคำ เงิน ไปจนถึงโลหะอุตสาหกรรมอย่าง นิกเกิล ซบเซาลงอย่างมาก การซื้อขายสัญญาทองคำในตลาดล่วงหน้าโดยสถาบันยักษ์ใหญ่ชาติตะวันตกอย่าง สถาบันการเงินสัญชาติอังกฤษ HSBC สถาบันการเงินสัญชาติอเมริกันอย่าง Citi, JP Morgan Chase, Morgan Stanley ล้วนใช้การกู้ หรือ Leverage ในอัตราสูง และธุรกรรมในตลาดการเงินมีขนาดใหญ่กว่าการซื้อขายทองคำจริงหลายเท่าตัว นอกจากนี้ การซื้อขาย หรือ Trade ตราสารอนุพันธ์ก็มีการเก็งกำไรและซื้อขายทองคำ สูงกว่าทองคำที่ผลิตได้จริงหลายเท่าตัว

ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต เคยอธิบายว่า เมื่อธนาคารกลางรัสเซียเพิ่มการเก็บทองคำหลังจากถูกคว่ำบาตรทางการเงิน และรัสเซียมีเหมืองทองคำและผลิตทองคำได้เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกภาวะดังกล่าวจะทำให้ราคาทองคำผันผวนหนัก หากราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้นตามอุปสงค์ที่เกิดขึ้นจริง นักลงทุนรายใหญ่ที่ทำ Short Sell ต้อง Cut Loss เพื่อลดความเสียหายด้วยการยอมเข้าซื้อราคาทองคำในราคาที่สูงมากเพื่อนำทองคำส่งมอบตามสัญญา Short Sell ขณะนี้ มีการเข้าซื้อเพื่อเก็บทองคำจริง (Physical Gold) เพิ่มขึ้น ทองคำจะเป็นสินทรัพย์ที่มีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิมในระบบบการเงินโลกและระบบอัตราแลกเปลี่ยนโลก



จะมีผลกระทบต่อราคาทองคำโลกมากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม กรณีการปิดตลาด LME นั้น YLG มองว่า เป็นภาวะชั่วคราวเท่านั้น และเชื่อว่า ไม่มีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำมากนัก เพราะนักลงทุนสามารถโยก Position การลงทุนไปในตลาดอื่นได้ เช่นตลาด Comex ของสหรัฐอเมริกา และหลังจากนี้ ตลาด LME น่าจะไปปรับระบบและเงื่อนไขต่างๆ เพื่อรองรับกับการฏิรูประบบการเงินในอนาคตให้ได้ และจะกลับมาเปิดดำเนินการซื้อขายอีกครั้ง

ทองคำ

ด้านสำนักข่าว Bloomberg ระบุว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่ LME ตัดสินใจปิดตลาดซื้อขายทองคำละเงิน เป็นเพราะว่า ตลาดมีปริมาณการซื้อขายที่ค่อนข้างต่ำ เพราะแม้ว่า "ลอนดอน" จะเป็นศูนย์กลางการซื้อขายสัญญาโลหะมีค่าที่มีการซื้อขายในหลัก "ล้านล้านดอลลาร์" ต่อปี แต่ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดจะเป็นการซื้อขายแบบนอกตลาด OTC (Over-the-counter) ที่นำโดยแบงก์ขาใหญ่ เช่น เจพีมอร์แกน และ เอชเอสบีซี

LME นั้นเปิดตลาดทองมาได้ประมาณ 5 ปี ช่วงแรกๆ นั้นถือว่าประสบความสำเร็จพอตัว และตั้งใจจะยกระดับให้เป็นตลาดเหมือนฝั่ง Comex ในสหรัฐ โดยในช่วงพีกเคยมีสัญญาซื้อขายทองคำมากถึงกว่า 3 ล้านออนซ์ต่อสัปดาห์ แต่ก็ต้องเจอปัญหาเมื่อ "ซอคเจน" หรือธนาคารโซซิเอเต เจเนราล ซึ่งเป็น 1 ในพาร์ทเนอร์ตั้งต้นของ LME ประกาศปิดการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์เกือบทั้งหมดลงในปี 2019 ทำให้วอลุ่มหดหายไปมาก ทำให้ LME ไม่สามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบกับ โคเม็กซ์ สหรัฐ (ตลาด CME) หรือเทียบกับตลาดเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Gold Exchange) ในจีน

ดังนั้น เนื่องจากปริมาณการซื้อขายที่ต่ำอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับตลาด OTC และการที่ยังเป็นตลาดใหม่เมื่อเทียบกับโคเม็กซ์ สหรัฐ นักวิเคราะห์จึงมองว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำในตลาดโลกอะไรนัก แต่เชื่อว่า LME อาจจะไม่ได้หยุดการซื้อขายทองคำ-เงินอย่างถาวร แต่เป็นการปิดตลาดซื้อขายชั่วคราวในวันที่ 11 ก.ค.นี้ เพื่อไปปรับปรุงระเบียบกฎเกณฑ์และความโปร่งใสใหม่ ให้รัดกุมขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น หลังจากมีบทเรียนครั้งใหญ่จากเคส "นิกเกิล" มาแล้ว



อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ย ราคาทองคำจะขึ้นหรือจะลง ?
ราคาทองขึ้นแบบจำกัดระวังแรงขาย ดอกเบี้ยขาขึ้น กดดันราคาทองคำ

advertisement

SPOTLIGHT