การเงิน

เงินเยนอ่อนสุดในรอบ 34 ปี ทะลุ 155 เยน/ 1 USD ตลาดจับตาแบงก์ชาติญี่ปุ่นแทรกแซงหรือไม่?

25 เม.ย. 67
เงินเยนอ่อนสุดในรอบ 34 ปี ทะลุ 155 เยน/ 1 USD  ตลาดจับตาแบงก์ชาติญี่ปุ่นแทรกแซงหรือไม่?

เงินเยนอ่อนค่าต่อเนื่อง ล่าสุด ทะลุระดับ 155.73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ต่ำสุดในรอบ 34 ปี นับตั้งแต่ปี 1990 ขณะดอลลาร์แข็งค่ากดดันต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนจับตามองว่าธนาคารกลางของญี่ปุ่นจะออกมาตรการการเงินมาพยุงเงินเยนหรือไม่

ปัจจุบัน ค่าเงินเอเชียหลายสกุล เช่น เยน วอน บาท รูเปียห์ และ รูปี อ่อนค่าลงต่อเนื่องจากการที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ดี และอัตราเงินเฟ้อที่ยังค่อนข้างสูง ทำให้มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) น่าจะคงดอกเบี้ยระดับสูงไว้อีกซักพัก 

ปัจจัยเหล่านี้กดดันสกุลเงินเอเชียให้ลดลง รวมถึง เยนที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องจนในวันนี้ (25 เม.ย.) ทะลุระดับ 155 เยน แตะระดับสูงสุดที่ 155.51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่น่าเป็นห่วง และอาจจะทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องออกมาแถลงการณ์ เคลื่อนไหว หรือออกมาตรการบางอย่างเพื่อพยุงค่าเงินเยนไม่ให้ผันผวน หรืออ่อนค่าลงไปมากกว่านี้

ขณะที่นักลงทุนและนักวิเคราะห์ต่างจับตามองผลการประชุมนโยบายการเงินของแบงก์ชาติญี่ปุ่นประจำเดือนเมษายน ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน ในวันที่ 25-26 เมษายน เพราะแม้หลายๆ ฝ่ายยังคาดการณ์ว่า แบงก์ชาติจะยังคงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.1% ในครั้งนี้ คำแถลงการณ์หลังการประชุมย่อมส่งผลต่อค่าเงินเยน เพราะมันจะสะท้อนแนวทางในการควบคุมค่าเงินของแบงก์ชาติญี่ปุ่นต่อไป

โดยถ้าหากแบงก์ชาติญี่ปุ่นส่งสัญญาณว่า จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า เงินเยนก็อาจจะอ่อนตัวลงอีก อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2022 ที่เกิดเหตุการณ์เงินเยนอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็ว เพราะผู้ว่าแบงก์ชาติออกมาแสดงทีท่าว่าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ย จนทำให้สุดท้ายรัฐบาลต้องเข้ามาแทรกแซง

อย่างไรก็ตาม หากแบงก์ชาติส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ย ก็อาจจะกระทบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ทำให้ความท้าทายใหญ่ของแบงก์ชาติในขณะนี้ คือ การรักษาเสถียรภาพของค่าเงินเยนและการกระตุ้นเศรษฐกิจ

รมว. คลังจับตา อาจแทรกแซงหากกระทบเศรษฐกิจ

ในการประชุมสภาในวันนี้ Shunichi Suzuki รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นประกาศว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังจับตามองการเคลื่อนไหวของเงินเยนอย่างใกล้ชิด และจะดำเนินการด้วยมาตรการที่เหมาะสมแน่นอนเพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจในประเทศ

แตกต่างจากประเทศอื่นที่ธนาคารกลางอาจมีสิทธิตัดสินใจในการการแทรกแซงค่าเงิน ในญี่ปุ่นหน่วยงานที่มีอำนาจในด้านนี้ คือ กระทรวงการคลัง ทำให้การตัดสินใจแทรกแซงค่าเงินแต่ละครั้งมักจะมีจุดประสงค์ทางการเมือง และถ้าหากค่าเงินอ่อนถึง 160 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ รัฐบาลก็น่าจะเข้ามาแทรกแซง

ส่วนทางด้านนโยบายการเงิน เบื้องต้นหลายฝ่ายคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้งในปีนี้ เพราะมองว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังเปราะบาง และการเพิ่มดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วอาจจะทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นซบเซาลงอีก แต่อาจจะปรับลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อพยุงค่าเงินแทน





ที่มา: Reuters 

advertisement

SPOTLIGHT