ไลฟ์สไตล์

สัตว์เลี้ยงแพร่ "เชื้อดื้อยา" ให้เจ้าของได้ คนสูงอายุ-ภูมิต่ำเสี่ยงสุด

20 มี.ค. 66
สัตว์เลี้ยงแพร่ "เชื้อดื้อยา" ให้เจ้าของได้ คนสูงอายุ-ภูมิต่ำเสี่ยงสุด

วิจัยจากเจอรมนีพบ สัตว์เลี้ยงที่บ้านสามารถแพร่ “เชื้อดื้อยา” ให้กับเจ้าของได้ หลังตรวจเชื้อจากคนไข้ที่มีเชื้อดื้อยาและสัตว์เลี้ยงที่บ้านแล้วพบว่าคนไข้บางส่วนมีเชื้อตัวเดียวกับที่อยู่ในสัตว์เลี้ยง

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยของทีมแพทย์ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Charité ที่เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ซึ่งกำลังจะนำเสนอผลงานวิจัยดังกล่าวในงานประชุมสภาจุลชีววิทยาคลินิกและโรคติดเชื้อแห่งยุโรป (European Congress of Clinical Microbiology & Infectious Diseases) ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ในวันที่ 15-18 เมษายนที่กำลังจะถึงนี้

จากการรายงานของ The Guardian ทีมวิจัยของโรงพยาบาลนำโดยแพทย์หญิง Carolin Hackmann สุ่มตรวจคนไข้มากกว่า 2,800 คนและสัตว์เลี้ยงที่บ้านเพื่อหาคำตอบว่าผู้ป่วยที่ป่วยด้วยเชื้อดื้อยาหลายขนาน (Multidrug-Resistant Organism) หรือเชื้อจุลชีพที่ดื้อยาต้านจุลชีพตั้งแต่ 3 กลุ่มขึ้นไป ได้เชื้อมาจากไหน และเจ้าของและสัตว์เลี้ยงสามารถส่งต่อเชื้อให้กันและกันได้หรือไม่

จากผลการวิจัย พบว่าจากคนไข้ 2,891 คน มีมากถึง 30% หรือ 871 คน ป่วยจากเชื้อดื้อยาหลายขนาน โดยใน 30% นั้นมีผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงเป็นสุนัข 11% (93 คน) และสัตว์เลี้ยงเป็นแมว 9% (80 คน) และเมื่อนำสัตว์เลี้ยงของผู้ป่วยที่มีเชื้อดื้อยาหลายขนานมาตรวจหาเชื้อ ทีมนักวิจัยพบว่า มีสุนัข 15% (30 ตัว) และแมว 5% (9 ตัส) ที่ถูกตรวจมีเชื้อดื้อยาหลายขนานอยู่ในร่างกาย และเมื่อนำมาตรวจเทียบกันก็พบว่ามี 4 เคสที่เจ้าของและสัตว์เลี้ยงมีเชื้อดื้อยาตัวเดียวกันอยู่ในร่างกาย

โดยถึงแม้เคสที่ตรวจพบจะเป็นส่วนน้อยของเคสทั้งหมด การที่คนไข้และสัตว์เลี้ยงจะมีเชื้อตัวเดียวกันอยู่ในร่างกายก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะในวงการวิทยาศาสตร์เป็นมีหลักฐานบ่งชี้มาหลายปีแล้วว่าสัตว์เลี้ยงสามารถแพร่เชื้อดื้อยาให้กับมนุษย์ และมนุษย์ก็สามารถแพร่เชื้อดื้อยาให้สัตว์เลี้ยงได้

 

เชื้อดื้อยาในสัตว์เลี้ยงเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ในอดีต สัตว์เลี้ยงเป็นสัตว์ที่ไม่มีปัญหาเชื้อดื้อยานัก เพราะไม่ค่อยได้รับยาฆ่าเชื้อ หรือยาปฏิชีวนะมากเหมือนสัตว์เลี้ยงเพื่ออาหาร อย่างไรก็ตามในตอนนี้สัตว์เลี้ยงเริ่มได้รับยาต้านจุลชีพ หรือยาฆ่าเชื้อมากยิ่งขึ้น จากการจ่ายยาของสัตวแพทย์ หรือความเข้าใจผิดของเจ้าของที่ต้องการยาฆ่าเชื้อให้สัตว์เลี้ยงของตัวเองทั้งที่ไม่มีความจำเป็น และเมื่อได้รับยามาแล้วบางครั้งก็ไม่ใส่ใจดูแลให้สัตว์เลี้ยงกินยาให้ครบตามที่หมอสั่ง เพราะการบังคับให้สัตว์เลี้ยงกินยาเป็นเรื่องยาก

เช่นเดียวกับการเกิดเชื้อดื้อยาในมนุษย์ เมื่อสัตว์เลี้ยงได้รับยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็น หรือกินยาไม่ครบตามที่หมอสั่งบ่อยๆ เข้า ในร่างกายสัตว์ก็เกิดเชื้อดื้อยาหลายขนานขึ้น โดยจากการวิจัยพบว่ามีเชื้อจากสัตว์หลายชนิดที่สามารถแพร่จากสัตว์สู่คนได้ เช่น Campylobacter และ Staphylococcus ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษ ทำให้หากเชื้อเหล่านี้กลายเป็นเชื้อดื้อยาในตัวสัตว์เลี้ยง เชื้อดื้อยาเหล่านี้อาจจะแพร่เข้ามาสู่คน และสร้างอาการเจ็บป่วยร้ายแรงได้

นอกจากนี้ จากการศึกษาในประเทศสิงคโปร์ ที่นักวิจัยทำการวิเคราะห์ตัวอย่างจากคลินิกสัตว์เลี้ยงช่วงปี 2014-2016 นักวิจัยยังพบอีกว่าจากเชื้อแบคทีเรียที่แยกออกมาได้ 359 สายพันธุ์ มีถึง 186 สายพันธุ์ที่สามารถก่อโรคสัตว์สู่คนได้ และมีถึง 45% เป็นเชื้อดื้อยาหลายขนาน

การเจ็บป่วยจากเชื้อดื้อยาถือเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ทุกคนต้องเร่งแก้ไข โดยจากข้อมูลของ World Organization for Animal Health ในปี 2019 มีคนประมาณ 4 ล้านคนเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับเชื้อดื้อยา และมี 1.3 ล้านคนเสียชีวิตจากผลกระทบโดยตรงของเชื้อดื้อยา 

ทั้งนี้เป็นเพราะเมื่อร่างายมนุษย์หรือสัตว์ได้รับเชื้อดื้อยาไปแล้ว แพทย์จะไม่มียาฆ่าเชื้อตัวไหนมาเพื่อให้ผู้ป่วยใช้สู้กับเชื้อตัวดังกล่าว ทำให้สุดท้ายแล้วหลายๆ เคสเชื้อดื้อยามักจะจบลงด้วยการเสียชีวิตของผู้ป่วย เพราะร่างกายของมนุษย์ไม่สามารถสู้กับเชื้อโรคที่มีการกลายพันธุ์ไปแล้วได้

 

ที่มา: The Guardian, World Organization for Animal Health

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT