Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
พร้อมรับทุกสถานการณ์! รู้จักวิธีปฐมพยาบาล "สัตว์บาดเจ็บ" ในภาวะฉุกเฉิน

พร้อมรับทุกสถานการณ์! รู้จักวิธีปฐมพยาบาล "สัตว์บาดเจ็บ" ในภาวะฉุกเฉิน

24 ก.ค. 68
15:08 น.
แชร์

ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะอุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ หรือภัยสงคราม เราทุกคนต้องพร้อมรับมือกับอันตรายรอบตัว ที่อาจส่งผลให้ทั้งคนและสัตว์ได้รับบาดเจ็บ บทความนี้จะมาแนะนำวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นในภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้ทั้งคน สัตว์เลี้ยงของเรา และสัตว์ทุกชนิดปลอดภัยในทุกสถานการณ์

อุบัติเหตุและภาวะฉุกเฉินอาจเกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงของเราเมื่อไหร่ก็ได้ การปฐมพยาบาลที่ถูกต้องและรวดเร็วอาจช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต หรือลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงได้ เมื่ออยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน สิ่งแรกที่ควรทำ คือ “การประเมินอาการสัตว์ป่วยวิกฤต”

1. ตรวจสอบการมีสติ

  • เรียกชื่อ
  • หยิกปลายเท้าดูการตอบสนองต่อการสัมผัส
  • ใช้ไฟฉายส่องตาดูการหดตัวของม่านตาที่ตอบสนองต่อแสง
  • แตะหัวตาดูการกะพริบตา

หากสัตว์เลี้ยงไม่ตอบสนอง ถือว่าอยู่ในภาวะโคม่า ต้องรีบนำส่งสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุด

2. ตรวจสอบการหายใจ

  • สังเกตการเคลื่อนไหวของช่องอก
  • ตรวจดูสิ่งแปลกปลอม หรือสิ่งคัดหลั่งที่อาจไปอุดตันช่องจมูกและช่องปาก

หากพบสิ่งอุดตัน ให้จับสัตว์เลี้ยงนอนตะแคง จัดคอยืดตรง ดึงลิ้นออกจากปาก แล้วล้วงเอาสิ่งที่อุดตันออกจากช่องปาก เพื่อให้สัตว์เลี้ยงหายใจได้

3. ตรวจสอบการเต้นของหัวใจ

  • ใช้ฝ่ามือแตะลงไปบริเวณหน้าอก ใกล้ ๆ กับศอก

หากสัตว์เลี้ยงหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ต้องรีบทำการช่วยชีวิต (CPR) ทันที

วิธีการทำ CPR หรือการช่วยชีวิต

จับสัตว์เลี้ยงนอนตะแคง แล้วทำการนวดหัวใจ โดยวางมือทั้ง 2 ข้างลงบนอกสัตว์เลี้ยงหลังข้อศอก กดมือให้ได้ความลึก 1/3-1/2 ของช่องอก ทำติดต่อกัน 30 ครั้ง โดยแต่ละครั้งให้ห่างกัน 1 วินาที จากนั้นให้เริ่มผายปอดด้วยวิธีปากต่อจมูก 2 ครั้ง ทำสลับกันไปจนกว่าหัวใจจะเต้น แล้วจึงผายปอดอย่างเดียว หรือทำจนกว่าจะถึงมือสัตวแพทย์

  • สุนัขที่ช่องอกลึกหรือกลม เช่น บลูด็อก ให้จับสุนัขนอนหงายกดมือทั้ง 2 ลงไปที่ช่องอกโดยตรง
  • สุนัขพันธุ์เล็กน้ำหนักน้อยกว่า 10 กิโลกรัม และแมว สามารถใช้มือข้างที่ถนัดจับไปที่ช่องอกหลังรักแร้แล้วบีบนิ้วมือกดช่องอกโดยตรงได้เลย

การช่วยเหลือในภาวะต่าง ๆ ก่อนส่งถึงมือสัตวแพทย์

1. อุบัติเหตุ/โดนกัด

  • หากเกิดบาดแผลและมีเลือดออก ให้ห้ามเลือดโดยใช้ผ้าสะอาดกดไปที่บาดแผล หรือพันทับแผลให้กระชับ ไม่แน่นหรือหลวมไป
  • หากมีบาดแผลบริเวณช่องอก หรือช่องอกทะลุ ให้ใช้ผ้ากดบริเวณแผล แล้วจับสัตว์นอนตะแคงเอาด้านที่มีแผลลงด้านล่าง เพื่อให้ปอดข้างปกติทำงานได้อย่างเต็มที่
  • หากมีแผลทะลุช่องท้องมีอวัยวะบางส่วนหลุดออกมา ให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำหมาดๆ กดหรือพับรอบแผลก่อนเคลื่อนย้าย
  • หากมีเลือดออกจากจมูกหรือเลือดกำเดาไหล ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือห่อน้ำแข็งวางบนสันจมูก

หลังจากห้ามเลือดแล้ว ให้เคลื่อนย้ายสัตว์อย่างระมัดระวัง อาจใช้ผ้าหรือแผ่นกระดานสอดเข้าด้านล่างตัวสัตว์ทำเป็นเปลสำหรับหาม ในกรณีที่สัตว์เคลื่อนไหวไม่ได้ หมดสติ กระดูกหัก หรือสงสัยว่าได้รับการกระแทกในส่วนของกระดูกสันหลัง แต่ถ้าสัตว์สามารถลุกได้อาจใช้วิธีอุ้มช้อนส่วนอกและบั้นท้าย หันด้านที่มีแผล หรือขาข้างที่หักออกจากตัวผู้อุ้ม

2. Heat Stroke (ภาวะลมแดด)

ในภาวะอากาศร้อนที่ส่งผลให้สัตว์มีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น มีอาการหอบ ซึม น้ำลายไหลมาก เหงือกสีแดงสด ปลายเท้าและหูร้อน บางรายถ่ายเหลวเป็นเลือด อาจรุนแรงถึงหมดสติ และเสียชีวิตได้

ให้รีบเคลื่อนย้ายสัตว์ไปยังที่ที่มีอากาศถ่ายเทและเย็นกว่า และรีบพาไปพบสัตวแพทย์ ระหว่างทางให้เช็ดน้ำลายออกจากปากสัตว์ป่วยเพื่อให้หายใจสะดวก เช็ดตัวด้วยน้ำเย็น แต่อย่าให้เย็นจัดจนเกินไป และให้สัตว์ดื่มน้ำเองได้ตามต้องการ

แม้ภาวะ Heat Stroke อาการจะดีขึ้นแล้ว ควรฝากสัตว์เลี้ยงไว้กับสัตวแพทย์ก่อน เพื่อเฝ้าระวังภาวะไตวาย ปัสสาวะและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด รวมถึงภาวะเลือดออกทั่วร่างกายที่อาจเกิดจากความร้อน

3. โดนสัตว์มีพิษ

  • กรณีสงสัยว่าโดนงูกัด มีอาการตัวสั่น ตื่นเต้น อาเจียน น้ำลายไหล ม่านตาขยาย หรือล้มลงทันที หากทราบตำแหน่งที่โดนกัดให้ล้างบริเวณนั้นด้วยน้ำสะอาดปริมาณมากๆ ให้น้ำแข็งประคบเพื่อลดการไหลเวียนของเลือด ถ้าโดนกัดบริเวณขาอาจใช้ผ้าพันรอบบริเวณนั้นให้แน่น เพื่อชะลอการกระจายของพิษก่อนนำส่งสัตวแพทย์
  • หากโดนผึ้งและตัวต่อต่อย จะทำให้เกิดการบวมและเจ็บปวด บางตัวอาจแสดงอาการแพ้พิษ เช่น การบวมตามใต้ผิวหนังทั่วร่างกาย อาเจียน ท้องเสีย หน้าบวม หายใจไม่สะดวก ถ้าอาการยังไม่รุนแรงให้พยายามดึงเหล็กในออก และใช้น้ำแข็งประคบลดอาการปวดและบวมได้ แต่ถ้ารุนแรงให้นำส่งสัตวแพทย์ทันที
  •   คางคกและตัวบุ้ง  เมื่อสัตว์ได้รับพิษโดยการสัมผัสโดยเฉพาะบริเวณปากและลิ้น จะทำให้น้ำลายไหล มีตุ่มบวม ถ้าได้รับพิษคางคกมาก ๆ อาจทำให้ชักหมดสติได้ แนะนำให้ใช้น้ำสะอาดฉีดล้างบริเวณที่สัมผัสพิษทันที ระวังอย่าให้สำลักหรือกลืนน้ำเข้าไปก่อนนำส่งสัตวแพทย์

4. ได้รับสารพิษ

สารพิษสามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยการกิน ซึมผ่านผิวหนัง หรือการหายใจ โดยอาการที่พบแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสารพิษที่ได้รับ เช่น น้ำลายฟูมปาก อาเจียน ท้องเสีย เดินเซ กล้ามเนื้อกระตุก ล้มฟุบ ชัก และหมดสติ

  • หากได้รับสารพิษทางผิวหนัง ให้ล้างตัวด้วยน้ำปริมาณมาก ๆ
  • หากได้รับจากการสูดดม ให้รีบนำสัตว์ออกสู่บริเวณที่อากาศบริสุทธิ์และการถ่ายเทดี
  • หากระคายเคืองตา รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดแบบเปิดไหลผ่านอย่างน้อย 15 นาที
  • หากระคายเคืองผิวหนัง ถอดเสื้อที่ปนเปื้อนออก และล้างบริเวณที่สัมผัส (ถ้าให้ดีควรล้างทั้งตัวไปเลย) ด้วยน้ำสะอาด และสามารถถูสบู่ได้ เมื่อล้างน้ำออกไประยะหนึ่งแล้ว ข้อควรระวัง หากมีการไหม้ของเสื้อผ้าติดที่ผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ก็ตาม อย่าพยายามแกะลอกออกเอง เพราะจะทำให้ยิ่งเป็นแผลลึกและเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น
  • หากระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ รีบออกจากบริเวณที่มีการลุกไหม้ให้เร็วที่สุด อย่าลืมเอาเจ้าสี่ขาไปด้วยนะ โดยอาจพบอาการได้ 24 ชั่วโมงภายหลังการสูดดมควันและสารพิษ ดังนั้นควรเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด แม้จะไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ ในช่วงแรกก็ตาม หากมีผิดปกติภายหลัง เช่น อาการไอ จามไม่หยุด มีเลือดปน หายใจหอบ หายใจลำบากมาก ควรรีบพบแพทย์หรือสัตวแพทย์ทันที ควรเฝ้าระวังอย่างยิ่ง ในสุนัขพันธุ์หน้าสั้น เช่น ปั๊ก, เฟรนช์ บูลด็อก, ชิวาว่า รวมถึงแมวพันธุ์หน้าสั้น เช่น แมวเปอร์เซีย

5. ถูกไฟฟ้าช็อต

  • ใช้วัสดุที่ไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น ไม้ หรือพลาสติก ดันหรือผลักสัตว์เลี้ยงออกจากแหล่งไฟฟ้า
  • ตรวจสอบการหายใจและการเต้นของหัวใจ
  • หากไม่ตอบสนอง ให้ทำ CPR และพาไปหาสัตวแพทย์ทันที

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับสัตว์ เป็นทักษะที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงและทุกคนควรมี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน การเรียนรู้และฝึกฝนการปฐมพยาบาลจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาสัตว์ให้ปลอดภัยและฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วที่สุด โดยสิ่งสำคัญคืออย่าลืมพามาพบสัตวแพทย์หลังปฐมพยาบาลเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว เพื่อตรวจรักษาอย่างละเอียดต่อไป

ที่มา: โรงพยาบาลสัตว์ HOSPETAL

โรงพยาบาลสัตว์บางกอกฮาร์ท ทองหล่อ

MSD Veterinary Manual

Advertisement

แชร์
พร้อมรับทุกสถานการณ์! รู้จักวิธีปฐมพยาบาล "สัตว์บาดเจ็บ" ในภาวะฉุกเฉิน