อินไซต์เศรษฐกิจ

เงินเฟ้อไทยม.ค. -1.11% ต่ำสุดรอบ 35 เดือน โบรกชี้เปิดโอกาสให้กนง.ลดดอกเบี้ย

5 ก.พ. 67
เงินเฟ้อไทยม.ค. -1.11% ต่ำสุดรอบ 35 เดือน  โบรกชี้เปิดโอกาสให้กนง.ลดดอกเบี้ย

อัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนม.ค.2567 ติดลบ 1.1%  เป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 35 เดือน เป็นการปรับลดลงในสินค้ากลุ่มพลังงาน จากมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน

ขณะท่ีนักวิเคราะห์คาด จากเงินเฟ้อที่ติดลบนั้น จะส่งผลให้มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะผ่อนคลาย และมีโอกาสลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ รอดูท่าทีการประชุมกนง.ในวันที่ 7 ก.พ.นี้ แต่คาดประชุมรอบนี้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับเดิม

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนมกราคม 2567 เท่ากับ 106.98 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2566 ซึ่งเท่ากับ 108.18 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง 1.11% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 35 เดือน 

img_0100

โดยเป็นการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน จากมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของภาครัฐ ประกอบกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังคงลดลงต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา 

โดยเฉพาะผักสดและเนื้อสัตว์ เนื่องจากปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น รวมทั้งฐานราคาเดือนมกราคม 2566 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อค่อนข้างสูง มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง สำหรับสินค้าและบริการอื่น ๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ    

img_0102

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง 

โดยมีปัจจัยสนับสนุน ดังนี้

  1. มาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน ได้แก่ การตรึงราคาค่ากระแสไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งมีประชาชนได้รับประโยชน์ 17.77 ล้านราย และมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 19 เมษายน 2567 
  2. ผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญลดลง และบางพื้นที่มีอุณหภูมิลดลง ทำให้ปริมาณผักสดเข้าสู่ตลาดมากกว่าปีก่อนหน้า ส่งผลให้ราคามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง 

สำหรับปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ได้แก่ 

  1. สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังยืดเยื้อ ทำให้ค่าระวางเรือและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญปรับตัวสูงขึ้น 
  2. เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้น 
  3. ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากความต้องการเพิ่มขึ้น และการปรับราคาเพื่อให้มีความสมดุลและเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน 
  4. การขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว หลังจากภาครัฐมีนโยบายอำนวยความสะดวกในการเดินทางมาประเทศไทย ของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจประเทศต่าง ๆ ส่งผลให้อุปสงค์และราคาสินค้าในหมวดที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น 

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่าง (-0.3%) – 1.7% (ค่ากลาง 0.7%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหาdสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

โบรกคาดเงินเฟ้อติดลบ เปิดโอกาสกนง.ลดดอกเบี้ย

คุณสุทธิชัย คุ้มวรชัย หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล. อินโนเวสท์ เอกซ์ กล่าวกับ SPOTLIGHT ว่า “จากการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ที่ออกมาชะลอตัวลง อยู่ในการคาดการณ์ของเราอยู่แล้ว ซึ่งในเดือนหน้าก็คาดว่าจะลดลงอีก แต่มองเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น เชื่อว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นมา เพราะช่วงครึ่งปีหลังก็จะมีมาตรการภาครัฐมากระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีมุมมองว่า อัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกได้

img_0084

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของจีนที่จะประกาศมาวันที่ 8 ก.พ.2567 และอัตราเงินเฟ้อที่ออกมาติดลบนี้ ก็จะเปิดโอกาสให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้มากขึ้น ซึ่งในการประชุมกนง.ในวันที่ 7 ก.พ.นี้ เชื่อว่า กนง.จะมีการส่งสัญญาณถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายในลักษณะผ่อนคลายมากขึ้น แต่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมก่อน ที่ 0.25% ต่อปี 

ขณะที่ยายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์ม X ว่าเงินเฟ้อติดลบมา 4 เดือนติดต่อกัน ย่อมเป็นสัญญาณความอ่อนแอทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง

และเป็นการเตือนให้รู้ว่านโยบายการคลัง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และนโยบายการเงินที่เป็นหน้าที่ของแบงค์ชาติจะต้องสอดประสานและเดินไปด้วยกัน ถ้าต่างคนต่างทำคงจะแก้ปัญหาได้ยาก

ฉะนั้น เราคงต้องจับตาดูการส่งสัญญาณของกนง.ว่า จะมีลักษณะผ่อนคลายมากน้อยแค่ไหน จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในประชุมครั้งถัดไปหรือไม่ อย่างไร? ในเมื่อทิศทางอัตราเงินเฟ้อยังติดลบอยู่แบบนี้ หรือนี่ คือ สิ่งที่กนง.ประมาณการไว้แล้ว!! 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT