อินไซต์เศรษฐกิจ

อนาคตค่าเงินบาทของไทย จะอ่อนค่าต่อ หรือ พอแค่นี้ ?

11 ต.ค. 65
อนาคตค่าเงินบาทของไทย จะอ่อนค่าต่อ หรือ พอแค่นี้ ?

แม้ในสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทของไทยจะเริ่มกลับมาแข็งค่าได้บ้างต่ำกว่า 38 บาทต่อดอลาร์สหรัฐ แต่ทิศทางหรือแนวโน้มค่าเงินบาทยังมีโอกาสที่จะอ่อนค่าลงได้อีกทั้งจากปัจจัยภายนอกนั่นคือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯที่คาดว่า จะขึ้นดอกเบี้ยที่เหลืออีก 2 ครั้งสุดท้ายของปีนี้ รวมไปถึงปัจจัยภายในคือสถานการณ์เศรษฐกิจ และการดำเนินนโยบายการเงินของไทย 

Spotlight สรุปข้อมูลการอ่อนค่าของค่าเงินสกุลเอเชียเกือบทุกประเทศ ทำลายสถิติในรอบหลายสิบปี เช่นเดียวกับเงินบาทของไทยอ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี ทะลุ 38 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าไปราวกว่า 10% หากเทียบจากต้นปี จากราว ๆ 33-34 บาท ในช่วงต้นปี   

ค่าเงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ16 ปี

3 สาเหตุบาทของเงินบาทอ่อนค่า 

1.ความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ย
ธนาคารกลางหสรัฐ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ 3- 3.25%  และประเมินกันว่า ในการประชุมที่เหลืออีก 2 ครั้ง ในเดือน พ.ย.  และ ธ.ค. 2565 

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าอาจจะเห็นการปรับดอกเบี้ยของเฟดอีก  น่าจะทะลุ 4% หากเฟด อัดยาแรงขึ้นดอกเบี้ยทีละ 0.75% เหมือน 3 ครั้งที่ผ่านมา อาจจะเห็นดอกเบี้ยโยบายอยู่ที่ 4.25-4.50% ภายในปลายปีนี้ส่วนปีหน้าอาจจะยังเห็นเฟด ขึ้นดอกเบยี้ยนโยบายต่ออีกเล็กน้อย อาจจะเห็น ระดับ 4.75% ในปีหน้าและทิ้งเอาไว้ที่ระดับดังกล่าวทั้งปีหน้า  

ขณะที่ กนง.ของไทยมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 2 ครั้งจนปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1% ซึ่ยังห่างจากดอกเบี้ยเฟดมากทีเดียว

2.ไทยยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 
นั่นคือการที่ไทยซื้อสินค้าและบริการสุทธิในตลาดโลกมากกว่าการส่งออก   ตัวเลยของปีนี้จากเดิมเกินดุล ก็มาค่อยๆ เกินดุลน้อยลงๆๆ จนกระทั่งขาดดุล สถานะล่าสุดมกราคม-สิงหาคมของปีนี้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไปแล้ว 18,300 ล้านเหรียญ

ขณะที่การท่องเที่ยวเป็นภาคที่หลายฝ่ายจับตามองว่า ทั้งรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวจะได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ 

3.แนวโน้มเศรษฐกิจ 
การดำเนินนโยบาย และ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยสะท้อนผ่านค่าเงิน การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจทำให้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยเช่นกัน 

แนวโน้มเงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าแตะ   40 บาท /ดอลลาร์สหรัฐ 

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทของไทยจะอ่อนค่าต่อ หรือไม่ดร.จิตติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน จากบลจ.ยูโอบี ประเทศไทย มองว่า ในระยะกลางยังมีโอกาสที่เงินบาทยังอ่อนค่าได้อยู่ ทั้งจาก 3 ปัจจัย  คือ ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย , กระแสการปิด/เปิดรับความเสี่ยงของตลาดเงินตลาดทุน การให้ดอลลาร์เป็นสกุลเงินที่พักที่ปลอดภัย ซึ่ง2 ปัจจัยนี้ส่งผลให้ดอลลาร์แข็ง และ กระทบบาทให้อ่อนค่า

ปัจจัยที่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนของทิศทางค่าเงินในสหรัฐคือ การเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐฯ หากมีการเปลี่ยนเทรนด์ ก็จะทำให้ดอลลาร์อ่อนค่ากลับได้ และกลับทิศให้บาทแข็งค่าได้เช่นกัน  

"แต่หาก 3 ปัจจัยดังกล่าวยังอยู่จะส่งผลให้กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่า  ส่วนความผันผวนต่อปีอยู่ประมาณ 10%  หมายความว่า ในช่วงไตรมาส 1ถึง2 ของปีหน้าเป็นไปได้ที่จะเห็นบาทอ่อนได้ถึงประมาณ 1.50 - 3 บาท ดังนั้นมองกรอบแนวต้านบาทอ่อนอยู่ที่ 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ "

ส่วนกรอบแนวรับ ประเมินจากสมมติฐานว่าเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวในไตรมาสที่4 และธนาคารกลางสหรัฐฯหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย ธนาคารกลางประเทศอื่นขยับดอกเบี้ยขึ้นได้บ้าง  อาจจะเห็นดอลลาร์อ่อนค่า และค่าเงินบาทมีแนวรับอยู่ที่  35 -36 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ 

ดร.จิติพล
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์
นักกลยุทธ์การลงทุน จากบลจ.ยูโอบี ประเทศไทย

 

เงินทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลกปรับลดลง 1  ล้านล้านดอลาร์สหรัฐ

ผลจากค่าเงินในเอเชียที่อ่อนค่า ทำให้หลายประเทศมีทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง บลูมเบิร์ก รายงานว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศทั่วโลก ลดลงประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 7.8% ในปีนี้ ไปอยู่ที่ 12 ล้านล้านดอลลาร์ ถือเป็นการลดลงมากที่สุด นับตั้งแต่บลูมเบิร์กเริ่มรวบรวมข้อมูลในปี 2546   สาเหตุเป็นเพราะการตีมูลค่าเป็นดอลลาร์และอีก 1 เหตุผลคือ การนำเอาทุสนำรองไปดูแลค่าเงินให้มีเสถียรภาพมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น  ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของอินเดียร่วงลง 9.6 หมื่นล้านดอลลาร์ อยู่ที่ 5.38 แสนล้านดอลลาร์

ทางการญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ใช้เงินประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์ในเดือนก.ย. เพื่อชะลอการอ่อนค่าของเงินเยน ในการแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 19% ของการลดลงของเงินสำรองฯ ในปีนี้

ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขเงินสำรองระหว่างประเทศ วันที่ 30 ก.ย.65 อยู่ที่ 199.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากวันที่ 23 ก.ย.อยู่ที่ 202.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

การสู้กับธนาคารกลางหสรัฐฯคือการขึ้นดอกเบี้ย ไม่ใช่แทรกแซงค่าเงิน

แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา มุมมองจาก ดร.นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  มองว่า   ดอกเบี้ยของไทยต่ำอย่างผิดปกติมายาวนาน ดังนั้นต้องปรับให้กลับเข้าสู่ภาวะที่ปกติ เพื่อดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูง แต่แบงค์ชาติไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็ว และแรง เหมือนในสหรัฐญฯหรือยุโรป  เพราะบริบทของไทยไม่เหมือนกัน

ดังนั้น การอ่อนค่าของเงินบาทในระยะนี้ มาจากปัจจัยดอลลาร์แข็งค่าเป็นหลัก ไม่ได้เป็นเพราะมีเงินทุนไหลออกอย่างมีนัยสำคัญ โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงล่าสุด พบว่ามีเงินไหลเข้าสุทธิราว 3.5 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทถือว่ายังเป็นการอ่อนค่าอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค

เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง เงินทุนสำรองฯ อยู่ในระดับสูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก โดยเงินทุนสำรองฯ ต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น มีสัดส่วนอยู่ที่ 3.2 เท่า ตลอดจนฐานะการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ก็มีความแข็งแกร่งด้วยเช่นกัน ขณะที่คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย จะสามารถกลับมาเกินดุลได้ในปี 2566

ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 65 โต 3.3% ก่อนขยายตัวเป็น 3.8% ในปี 66 จากแรงส่งหลักจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้อยู่ที่ 9.5 ล้านคน และเพิ่มเป็น 21 ล้านคนในปี 66

ดร.จิตติพล มองท่าทีของธนาคารกลางแห่งประเทศไทยว่า การใช้นโยบายการเงินสามารถเลือกได้ว่าให้ความสำคัญกับเป้าหมายเรื่องใด หากธนาคารแห่งประเทศไทยเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ย หรือต้องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบช้าๆเพราะมีจุดอ่อนคือหนี้ครัวเรือนสูง และเศรษฐกิจยังชะลอตัว ผลต่อค่าเงินคือทำให้ “ค่าเงินบาทอ่อนค่าแน่นอน”   

แต่หากต้องการให้ค่าเงินบาทคงที่เท่าเดิม ต้องยอมปล่อยให้ดอกเบี้ยสูง ตัวอย่างกรณีในสิงคโปร์  ให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อสูง ไม่อยากให้ค่าเงินอ่อน จึงขึ้นดอกเบี้ย  เช่นเดียวกับฮ่องกง ที่ผูกติดกับค่าเงินดอลาร์ดังนั้นสหรัฐฯขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่ ฮ่องกงปรับขึ้นตามทันที

ผลต่อค่าเงินบาทอ่อนของไทย

  1. ในช่วงเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะขาดดุลเกินค้า บาทอ่อนไม่ส่งผลดีเพราะต้องใช้เงินบาทมากขึ้นในการซื้อสินค้าต่างชาติ

  2. ความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะลดลงทันทีจากบาทที่อ่อนค่า  แม้เงินบาทอ่อนเป็นเพียงภาพสะท้อนเท่านั้น 

ดร.จิตติพล มองว่า แม้ไทยจะขึ้นดอกเบี้ยไปบ้าง อาจจะกระทบเศรษฐกิจไม่มากเพราะอัตราการกู้ของประเทศไทยไม่ได้เกิน100%ของ GDP และอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันต่ำกว่าเฉลี่ยมาก หากไทยไม่สามารถรับการขึ้นดอกเบี้ยอยู่ประมาณ 0.25%  จะหมายถึงโครงสร้างเศรษฐกิจมีปัญหาหรือไม่ และจะมีผลต่อความเชื่อมั่นลดลงได้ 

 “ถ้าจะสู้กับธนาคารกลางสหรัฐฯ ทางที่ดีที่สุดไม่ใช่การIntervene (แทรแซง)ค่าเงิน แต่คือการขึ้นดอกเบี้ย หากเราไม่ขึ้นดอกเบี้ยถือว่า เกมส์จบ ต้องยอมปล่อยตรงนั้นไปแต่ต้องยอมรับผลที่บาทอ่อนค่าเยอะๆโอกาสที่เงินไหลเข้า นักลงทุนจะลงทุนในอนาคตก็จะยากขึ้นเป็นเงาตามตัว”

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT