อินไซต์เศรษฐกิจ

ปอร์เช่เตรียม IPO มูลค่า 3 ล้านล้าน ดันบริษัทแม่เป็นผู้ผลิตรถอันดับ 1

30 ส.ค. 65
ปอร์เช่เตรียม IPO มูลค่า 3 ล้านล้าน ดันบริษัทแม่เป็นผู้ผลิตรถอันดับ 1

เป็นข่าวใหญ่เมื่อมีสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าในที่สุด ‘ปอร์เช่’ (Porsche) บริษัทผลิตรถสปอร์ตสัญชาติเยอรมันอาจได้เอาหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์แฟรงเฟิร์ตในเดือนกันยายนนี้แล้ว หลังแย้มแพลน IPO มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แต่ถูกผลัดมาเรื่อยๆ เพราะบริษัทเห็นว่าภาวะเงินเฟ้อและวิกฤติพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน

istock-1225776583_1

จากบทความ แหล่งข่าวบอกกับบลูมเบิร์กว่าแผนการเสนอหุ้น IPO ครั้งนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของบอร์ดบริหารของ ‘โฟล์คสวาเกน กรุ๊ป’ (Volkswagen Group) บริษัทแม่ของปอร์เช่ ที่น่าจะเคาะรายละเอียด IPO ออกมาภายในสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน

นอกจากนี้ยังประมาณการณ์อีกว่า IPO นี้อาจมีมูลค่าสูงถึง 6 หมื่นถึง 8.5 หมื่นล้านยูโร หรือราว 2.2 ล้านล้าน ถึง 3 ล้านล้านบาท หลังพบเสียงตอบรับอย่างล้นหลามจากนักลงทุนที่ส่งพรีออเดอร์เข้ามาจองหุ้นกันจำนวนมากจนปริมาณหุ้นที่จะปล่อยอาจมีไม่พอขาย 

ซึ่งถ้าตัวเลขประมาณการณ์นี้เป็นจริง การเสนอขายหุ้น IPO ของปอร์เช่ครั้งนี้จะเป็น IPO ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นเยอรมันและยุโรป โดยถ้าจะเทียบจะให้เห็นชัดๆ ถึงความยิ่งใหญ่ก็คือ มูลค่า IPO ในครั้งนี้จะสูงกว่ามูลค่าตลาดของ บริษัท ปตท.จำกัด ที่มีมูลค่าสูงสุดในตลาดหุ้นไทยถึงเกือบ 3 เท่า

เรียกได้ว่าเป็นอีเวนท์ครั้งยิ่งใหญ่ของนักลงทุนยุโรปที่กำลังจะมีโอกาสได้ครอบครองส่วนแบ่งบริษัทผลิตรถสปอร์ตที่ทำกำไรได้สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก 

แต่ทำไมอยู่ดีๆ โฟล์คสวาเกน กรุ๊ป ถึงตัดสินใจตัดแบ่งเค้ก ปล่อยหุ้นปอร์เช่ออกมาให้คนนอกถือเพื่อระดมทุนหลังเก็บไว้กินกำไรเองมาตั้งแต่ปี  2012  และจะเอาเงินที่ได้จากการขายหุ้นไปทำอะไรในอนาคต ในบทความนี้ทีมข่าว Spotlight จะมาสรุปให้อ่านกัน

 

ระดมทุนเพื่อความอยู่รอดในสมรภูมิรถยนต์ไฟฟ้า

เมื่อหน่วยงานทั่วโลกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนออกมารณรงค์ให้ลดการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศกันอย่างแข็งขัน รถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (internal combustion engine: ICE) ที่คนส่วนมากใช้กันอยู่ในขณะนี้ก็เข้าสู่ขาลง เปิดทางให้รถยนต์ไฟฟ้า (electric cars) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมยานยนต์มากขึ้น โดยจะเห็นได้จากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตสวนทางกับยอดขายรถแบบดั้งเดิม

ข้อมูลจากองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) ระบุว่า ในปี 2021 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกพุ่งขึ้นมากกว่าสองเท่าจากปี 2020 ไปแตะ 6.6 ล้านคัน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10% ของรถยนต์ทั้งหมดที่ถูกขายไปในปีนั้น และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ยอดขายรถที่ใช้เครื่องยนต์ ICE ตกลงมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2017 จนลงไปต่ำกว่า 70 ล้านคันในปี 2020

ในเมื่อผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้นเช่นนี้ บริษัทผลิตรถยนต์สันดาปภายในแบบดั้งเดิมทั้งหลายต่างก็ต้องพยายามปรับโครงสร้างธุรกิจ หันไปผลิตรถยนต์ไฟฟ้ากันยกใหญ่เพื่อเอาตัวรอดในอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลง 

ซึ่งนั่นก็รวมไปถึง ‘โฟล์คสวาเกน กรุ๊ป’ เครือบริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ที่เป็นเจ้าของแบรนด์รถใหญ่ๆ ชื่อคุ้นหูหลายแบรนด์เช่น อาวดี้ ลัมโบร์กีนี และดูคาติ ด้วย

istock-501572466

จากประวัติของบริษัท โฟล์คสวาเกนก็ถือได้ว่าเป็นผู้มาก่อนกาลในวงการรถยนต์ไฟฟ้าเจ้าหนึ่ง เพราะได้มีการพยายามพัฒนาเครื่องยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรีมาตั้งแต่ช่วงปี 1970s

ในปัจจุบัน โฟล์คสวาเกน กรุ๊ป มีรถยนต์ไฟฟ้าในไลน์อัพมากมาย เช่น Volkswagen ID.4, Volkswagen ID.3, Audi Q4 e-tron, และ Porsche Taycan และครองอันดับ 4 ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ด้วยส่วนแบ่งยอดขาย 8% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) และ 7.8% สำหรับ รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี BEV (Battery Electric Vehicle) 

จากข้อมูลล่าสุดในเว็บไซต์ของบริษัท ในครึ่งปีแรกของ 2022 โฟล์คสวาเกน กรุ๊ป ขายรถ BEVs ไปแล้วถึง 217,100 คัน โดย 18,900 คันในนั้นเป็นรถรุ่น ไทคานน์ (Taycan) รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของปอร์เช่

istock-1302248885

แต่ถึงแม้ถ้าดูจากยอดขายและอันดับ บริษัทในเครือโฟล์คสวาเกนจะถือว่าทำได้ไม่เลวนักสำหรับผู้ผลิตรถยนต์รายเก่าที่พยายามผันตัวเองไปเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า สถิติพวกนี้ก็ถือว่าห่างชั้นนักกับผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดที่มาสายรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัวอย่าง Tesla, BYD, และ SAIC (เจ้าของ MG Motor) 

โดยเฉพาะ Tesla ที่ปัจจุบันครองตำแหน่งบริษัทผลิตรถยนต์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกด้วยมูลค่าตลาด 8.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 32.2 ล้านล้านบาท แซงหน้าแชมป์เก่าอย่าง Toyota ไปเมื่อกลางปี 2020

การเติบโตของผู้เล่นหน้าใหม่ในวงการยานยนต์นี้กำลังทำให้ผู้เล่นรายเก่าเครียด และพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้บริษัทตัวเองยังอยู่รอด ไม่ถูกเด็กใหม่เขี่ยให้ตกกระป๋องไป

เพราะฉะนั้นเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด และทำความฝันที่จะกลับมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 1 ในโลกภายในปี 2025 ให้เป็นจริง คุณปู่ โฟล์คสวาเกน กรุ๊ป ย่อมต้องการเงินจำนวนมหาศาลเพื่อขยายธุรกิจผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของตัวเองให้ใหญ่สมน้ำสมเนื้อ พอแข่งขันกับเด็กๆ ได้

ซึ่งสำหรับบริษัทใหญ่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานจนเป็นที่ไว้วางใจในความสามารถอย่างโฟล์คสวาเกน ก็คงไม่มีวิธีไหนที่จะระดมทุนได้ดีและเร็วเท่าการปล่อยหุ้นออกขายในตลาดหลักทรัพย์อีกแล้ว

 

ทำไมโฟล์คสวาเกน ‘เลือก IPO ปอร์เช่’ 

 

แต่มาถึงตรงนี้ อีกหนึ่งคำถามที่สำคัญก็คือ ในเมื่อโฟล์คสวาเกน กรุ๊ป มีบริษัทผลิตรถยนต์อยู่ในเครือถึง 12 บริษัทด้วยกัน ซึ่งล้วนแต่เป็นแบรนด์รถที่มีชื่อเสียงเช่น โฟล์คสวาเกน (Volkswagen), อาวดี้ (Audi), เบนท์ลีย์ (Bentley), บูกัตติ (Bugatti), ลัมโบร์กีนี (Lamborghini), และ ดูคาติ (Ducati) ทำไมโฟล์คสวาเกนถึง ‘เลือก IPO ปอร์เช่’ ล่ะ

สำหรับคำถามนี้ ถึงยังไม่มีใครรู้คำตอบแน่ชัด เมื่อดูจากผลประกอบการที่ยอดเยี่ยมของปอร์เช่ การที่โฟล์คสวาเกนเลือกเอาหุ้นจากแบรนด์นี้ออกมาขายก่อนเพื่อนก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักหากต้องการเรียกร้องความสนใจและความเชื่อมั่นจากนักลงทุน

ในปี 2021 ปอร์เช่เป็นบริษัทผลิตรถที่ทำกำไรได้สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยทำเงินให้โฟล์คสวาเกนไปได้ถึง 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากกำไรทั้งหมด 21 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถึงแม้รถจากปอร์เช่จะคิดเป็นเพียง 3.5% ของจำนวนรถที่โฟล์คสวาเกนขายไปทั้งหมดในปีนั้น บ่งบอกว่ารถแต่ละคันของปอร์เช่มี profit margin ที่สูงกว่ารถในแบรนด์อื่นๆ ของเครือโฟล์คสวาเกน

นอกจากนี้ปอร์เช่ยังเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ก่อตั้งขึ้นในปี 1931 ก่อนโฟล์คสวาเกนจะเกิด 6 ปีและมีชื่อเสียงมากในแง่ของการพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ เพราะเดิมทีบริษัทก็เกิดขึ้นมาจากความต้องการของผู้ก่อตั้งที่อยากได้รถสปอร์ตสมรรถภาพดีมีน้ำหนักเบาที่หาไม่ได้ในตลาดขณะนั้น

เรียกได้ว่า ‘ความสร้างสรรค์’ อยู่ในดีเอ็นเอของปอร์เช่ที่ผลิตรถสปอร์ตดีไซน์สุดโฉบเฉี่ยวออกมาครองใจนักซิ่งมาแล้วหลายยุคหลายสมัย

และถ้าโฟล์คสวาเกนกำลังอยากได้แบรนด์ที่สามารถดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนได้จากทั้งจากภาพลักษณ์และผลประกอบการที่ยอดเยี่ยม ก็คงไม่มีบริษัทไหนเหมาะเท่าปอร์เช่อีกแล้ว

 

ขายหุ้น แต่ไม่ขาย ‘การควบคุม’

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้โฟล์คสวาเกนจะยอมเอาหุ้นปอร์เช่ออกมาขายเพราะต้องการเงินมาลงทุนในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ก็ไม่ได้หมายความว่าตัวบริษัทจะยอมเสียสิทธิขาดในการควบคุมแนวทางการทำธุรกิจของปอร์เช่ไป 

จากแถลงการณ์ของบริษัท หลังการ IPO หุ้นของปอร์เช่จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ด้วยกันคือ หุ้นสามัญ (ordinary shares) ที่โฟล์คสวาเกนไม่ขายและจะถือไว้ดังเดิม และ หุ้นบุริมสิทธิ (preferred stocks) ที่โฟล์คสวาเกนจะแบ่งออกมาครึ่งหนึ่งหรือ 25% ของหุ้นทั้งหมดเพื่อปล่อยเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์

และด้วยความที่หุ้นเหล่านั้นเป็นเพียงหุ้นบุริมสิทธิ ผู้ถือหุ้นจะไม่มี voting rights หรือไม่มีสิทธิอะไรเลยในการกำหนดทิศทางบริษัท และจะได้เพียงเงินปันผลจากกำไรที่ปอร์เช่ทำได้ในปีนั้นๆ

นักวิเคราะห์บางคนมองว่าการที่โฟล์คสวาเกนออกมาขายหุ้นโดยมุ่งแต่จะเอาเงินแต่ไม่ให้สิทธินักลงทุนตัดสินใจอะไรเลยแบบนี้อาจทำให้มีนักลงทุนสนใจเข้ามาซื้อหุ้นของปอร์เช่ไม่มากเท่าที่ควร 

แต่บางส่วนก็มองว่าชื่อ ‘ปอร์เช่’ และผลกำไรที่ได้ในแต่ละปีก็เพียงพอแล้วที่จะดึงให้คนมาลงเงินกับบริษัทผลิตรถสปอร์ตที่มีชื่อเสียงมายาวนานกว่า 91 ปีบริษัทนี้

ซึ่งถ้าดูจากข่าวที่รายงานออกมาในตอนนี้ ข้อสังเกตที่น่าจะเป็นจริงก็น่าจะเป็นของนักลงทุนกลุ่มหลัง

 

จึงเป็นที่น่าจับตาว่าหากปอร์เช่ระดมทุนจากหุ้นเพียง 25% ได้มากขนาดนั้นจริง เงินก้อนนั้นจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรใน โฟล์คสวาเกน กรุ๊ป และสร้าง ‘แรงกระเทือน’ อะไรในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ทั่วโลกได้บ้าง 




ที่มา: Bloomberg, Reuters, IG, Porsche, CompaniesMarketCap



 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT