การเงิน

ส่องเทรนด์ลงทุน ปี 2024 ลงทุนอะไรดี?

31 ธ.ค. 66
ส่องเทรนด์ลงทุน ปี 2024 ลงทุนอะไรดี?

ปี 2023 กำลังจะผ่านพ้นไป เศรษฐกิจโลกที่ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจชะลอนัว โดยเฉพาะจีน ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง แต่ในปี 2024 ที่กำลังจะมาถึงนี้ นักลงทุนควรปรับกลยุทธ์การลงทุนอย่างไร ควรลงทุนอะไรดี? 

ท่ามกลางความเสี่ยงมากมาย หุ้นโลก หุ้นไทยยังน่าสนใจอยู่หรือไม่ ในยามที่สหรัฐฯ ส่งสัญญาณชัดเจนว่า คุมเงินเฟ้อได้ ปีหน้าจะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ตลาดต่างประเทศไหนที่โดดเด่น น่าลงทุน ในยามนี้ตลาดตราสารหนี้น่าสนใจหรือไม่ และความเสี่ยงใดบ้าง ขณะที่ธปท.มองดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับที่เหมาะสม SPOTLIGHT จะพามาดูธีมการลงทุนในปีหน้ากัน

จับตาเศรษฐกิจเกิดภาวะถดถอย หรือ recession

ในมุมมองของ  SCB CIO เห็นว่า เศรษฐกิจโลกน่าจะชะลอตัวลง แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน (Uneven slowdown) ส่วนดอกเบี้ย มองว่า จะอยู่ระดับสูงนาน และคาดว่าจะเห็น Fed เริ่มลดดอกเบี้ยช่วงไตรมาส 3 ปี  2567  

ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บลจ.กรุงไทย ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการเกิดเศรษฐกิจถดถอย (recession) ยังไม่หายไป โดยในส่วนของสหรัฐฯ ความต้องการผู้บริโภคมีแนวโน้มชะลอตัวลง เริ่มมีตัวเลขที่เกี่ยวข้องติดลบ และเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงอยู่ จากการชะลอการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 

 SCB CIO ชี้ปัจจัยเสี่ยงสำหรับการลงทุนปี 2024

โดยความเสี่ยงที่นักลงทุนควรติดตาม ได้แก่ 

  1. ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโตช้าแต่เงินเฟ้อสูง (Stagflation) 
  2. ความเสี่ยงจากการที่ภาคธุรกิจมีหนี้ใกล้ครบกำหนดจำนวนมาก มีความเสี่ยงที่จะต้องกู้ยืมใหม่ (Rollover risk) ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมาก 
  3. ความไม่แน่นอนด้านการเมืองและนโยบาย จากการเลือกตั้งในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ที่อาจนำมาสู่ความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบาย 
  4. ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ได้  

InnovestX ชี้ปี 2024 เป็นปีแห่งความไม่แน่นอน

บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด มองว่า ปี 2567  จะเป็นปีแห่งความไม่แน่นอน มีประเด็นสำคัญที่มีผลต่อการลงทุนที่ต้องจับตา คือ “3 เศรษฐกิจ 2 สงคราม 2 เลือกตั้ง” โดย 3 เศรษฐกิจ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และไทย โดยมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเผชิญภาวะถดถอยเล็กน้อยช่วงครึ่งปีหลัง แต่ภาพรวมทั้งปี 2567  จะเป็นบวกเล็กน้อย 

ส่วนเศรษฐกิจจีน มีโอกาสปรับตัวดีขึ้นจากปี 2566  ได้ ขณะที่เศรษฐกิจไทยต้องติดตามมาตรการดิจิทัล วอลเล็ต ว่าจะออกมาได้หรือไม่ เพราะจะมีผลกระตุ้นการบริโภค มีผลต่อตัวเลขเศรษฐกิจ รวมทั้งติดตามการดำเนินการอื่นๆ ของรัฐบาล เช่น การสร้าง Soft Power และการดึงนักลงทุนต่างชาติ

ส่วน 2 สงคราม คือ สงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่เริ่มเห็นภาพการเจรจากันมากขึ้น โดยคาดว่าสงครามน่าจะจบได้ในไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งไม่ใช่การยุติ แต่เป็นในลักษณะที่ไม่มีพัฒนาการใหม่ๆ และสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพราะ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ท้าชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่สนับสนุนงบให้ยูเครน หากทรัมป์ มีคะแนนนิยมมากขึ้น อาจทำให้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ต้องเร่งผลักดันให้เกิดการเจรจาเพื่อให้สงครามจบ

ขณะที่ 2 การเลือกตั้ง คือ การเลือกตั้งในไต้หวัน ซึ่งมีแนวโน้มที่พรรคที่ไม่ได้ต่อต้านจีนจะได้รับเลือกตั้ง ทำให้ความเสี่ยงของสงครามมีไม่มาก และการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ระหว่าง ทรัมป์ และไบเดน หากทรัมป์ ได้รับเลือก แม้จะดีต่อประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่จะสร้างความเสี่ยงต่อโลกด้านอื่น เช่น ด้านการดำเนินการตามเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก เพราะทรัมป์ ไม่สนับสนุนพลังงานหมุนเวียน อีกทั้ง สงครามการค้ากลับมา และทรัมป์ยังเข้าข้างอิสราเอล ซาอุดิอารเบีย แต่แบนอิหร่าน 

ดังนั้น อาจมีความรุนแรงมากขึ้นในตะวันออกกลางได้ ขณะเดียวกัน ทรัมป์ เน้นลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ อาจกระทบหุ้นเกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในสหรัฐฯ ส่วนตราสารหนี้ มีโอกาสที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (bond yield) จะเด้งขึ้นได้ หากนักลงทุนไม่เชื่อมั่นการดำเนินงานของทรัมป์

แนะติดตามการเลือกตั้งในหลายประเทศ

ขณะที่ประเด็นการเมืองในปี  2567 เป็นอีกเรื่องที่ต้องติดตาม เพราะจะมีการเลือกตั้งในหลายพื้นที่สำคัญ ได้แก่ ไต้หวัน อินโดนีเซีย อินเดีย และสหรัฐฯ โดยในสหรัฐฯ จากสถิติ พบว่า ช่วงที่มีการเลือกตั้ง 15 ครั้ง ส่วนใหญ่ตลาดหุ้นจะปรับตัวเป็นบวก มีเพียง 2 ครั้ง ที่ติดลบ คือช่วง ปี  ค.ศ. 2000 และวิกฤตแฮมเบอเกอร์ ในปี ค.ศ. 2008

สำหรับปัจจัยเรื่องของอัตราดอกเบี้ยจะมีผลกระทบต่อการลงทุนมากขึ้น เพราะตลาดเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะไม่ปรับขึ้นแล้ว และมองว่าจะเริ่มปรับลดลงในเดือน พ.ค.  2567  (ข้อมูลประมาณการ ณ วันที่ 27 พ.ย.  2566)  

ด้านบลจ.กรุงไทย เห็นว่า การที่สหรัฐจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น อาจจะเร็วเกินไป และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ น่าจะลดลงช่วงครึ่งหลังของปี   2567   เพราะรูปแบบการลดดอกเบี้ยมีความสำคัญค่อนข้างมาก หากเศรษฐกิจค่อยๆ ชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยลดลงค่อยเป็นค่อยไป ก็ไม่น่าเป็นกังวล จะทำให้การลงทุนในหุ้นน่าจะยังมีโอกาสปรับขึ้นได้อยู่ แต่ถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเร็ว ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับลดลงเร็ว อาจทำให้การลงทุนผันผวน ตลาดหุ้นปรับตัวลงแรงได้

แนะนำนักลงทุนลงในสินทรัพย์คุณภาพสูง

SCB CIO จึงแนะนำการลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพสูง ได้แก่ หุ้นกู้ Investment Grade การลงทุนในหุ้น แนะนำทยอยสะสมหุ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และไทย ที่เป็นกลุ่ม Quality Growth มีกำไรเติบโตสม่ำเสมอ มีงบดุลที่แข็งแกร่ง

บลจ.กรุงไทย แนะนักลงทุนให้จัดพอร์ตต้องเน้นความสมดุลมากขึ้นระหว่างการลงทุนในตราสารหนี้และหุ้น โดยตราสารหนี้ให้เน้นลงทุนเพื่อคาดหวังกระแสเงินสด ส่วนหุ้นมองว่า ยังมีโอกาสสำหรับการลงทุนระยะยาว ยกเว้นกรณีที่ดอกเบี้ยปรับลดลงแรง ซึ่งในปี  2566  โดยคาดว่าตลาดหุ้นโลกจะให้ผลตอบแทนประมาณ 15% ส่วนปี 2567 คาดว่าจะให้ผลตอบแทน 5-10% ซึ่งผลตอบแทนยังเป็นบวกอยู่ แต่ตลาดจะผันผวนมากขึ้น ก่อนจะค่อยๆ ดีขึ้นในช่วงปลายปี  

ปี 2567 เป็นปีแห่งการลงทุนตราสารหนี้และหุ้น

บริษัทหลักทรัพย์  ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด มองว่า ปี 2567  น่าจะเป็นปีที่ดีกับการลงทุนทั้งตราสารหนี้และหุ้น เพราะประเด็นความกังวลเรื่องเงินเฟ้อจะเบาบางลง เศรษฐกิจคงจะชะลอตัว ส่วนการขึ้นดอกเบี้ยก็คงจะไม่เกิดขึ้นอีก แต่จะเป็นการคงดอกเบี้ยไว้ ขณะที่การลดดอกเบี้ย คาดว่าจะเกิดขึ้น 3 ครั้ง เริ่มต้นในเดือน พ.ค. 2567 เป็นการลดอย่างช้าๆ ซึ่งปัจจัยเรื่องดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม เพราะกระทบการลงทุนได้ ในกรณีที่ไม่เกิดเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง จึงเชื่อว่า ความจำเป็นที่จะต้องปรับลดดอกเบี้ยเร็วคงไม่มี 

ในสภาวะนี้จึงแนะนำให้ลงทุนในตราสารหนี้ และหุ้นที่ได้ประโยชน์ในช่วงดอกเบี้ยผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยมองว่าการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวมีโอกาสขาดทุนน้อยมาก โดยกรณีที่ลงทุนในหุ้นกู้คุณภาพสูง อยู่ในระดับลงทุนได้ (Investment Grade) ก็มีโอกาสรับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยรับค่อนข้างสูง และยังมีโอกาสได้ผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาด้วย ขณะที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจชะลอตัวยังมีอยู่ จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง (High Yield)       

สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นนั้น ควรมีหุ้น 7 นางฟ้า หรือหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ 7 บริษัท ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ อยู่ในพอร์ต เนื่องจากกลุ่มนี้ยังมีการเติบโตที่ดีมีคุณภาพ (Quality Growth) ได้ประโยชน์จากกระแสการตื่นตัวและลงทุนด้าน A.I. และยังมีเงินสดในมือมาก มีต้นทุนทางการเงินต่ำ หากเศรษฐกิจไม่แย่มาก กลุ่มนี้ก็มีโอกาสทำผลการดำเนินงานโดดเด่นกว่าตลาด 

ตลาดหุ้นอินเดีย ญี่ปุ่นน่าสนใจลงทุน

ส่วนตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย ตลาดหุ้นจีนยังมีปัญหาด้านโครงสร้างและเศรษฐกิจทำให้ตลาดหุ้นอื่น เช่น อินเดียยังมีความน่าสนใจมากกว่าจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่ยังมีการเติบโต และยังมีตลาดหุ้นญี่ปุ่น ที่น่าสนใจ เพราะมีเงินลงทุนไหลเข้าไปอย่างต่อเนื่อง จากการปฏิรูปโครงสร้างธรรมาภิบาล มีโครงการซื้อหุ้นคืน สนับสนุนผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROEs) และสินทรัพย์นอกตลาด (Private Asset) ที่น่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้นในปี 2567 หากไม่มีเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้การระดมทุนนอกตลาดกลับมาเพิ่มขึ้น

FINOMENA H1/24 เน้นหุ้นสหรัฐ ยุโรป และ Emerging Market

FINOMENA มองธีมการลงทุนหลักในปี 2024 โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2024 นั้น จากปัจจัยเงินเฟ้อที่เป็นขาลงอย่างชัดเจน อัตราดอกเบี้ยขาลง ช่วยหนุนราคาสินทรัพย์ จึงแนะนำให้น้ำหนัการลงทุน ในหุ้นสหรัฐฯ (Laggard Play) หุ้นยุโรป หุ้น Emerging Market เพื่อรับโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวน้อยกว่าคาด

ขณะที่ช่วงปีหลังของปี 2024 ประเมินว่า เศรษฐกิจจะชะลอตัวแบบ Soft Landing ให้ระวังความเสี่ยงจากผลกระทบด้านนโยบายการเงิน เงินออมส่วนเกินที่ลดลง ตลาดแรงงานคลายความร้อนแรงลง จึงแนะนำให้กระจายความเสี่ยงในตราสารหนี้คุณภาพ หรือพันธบัตรรัฐบาล ทอง และเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เข้าสู่พอร์ตการลงทุน เพื่อความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้น และกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนมากขึ้น

โอกาสทองของตราสารหนี้รอบทศวรรษ

นอกจากนี้ คาดการณ์ว่า การที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในรอบ 20 ปี จะสร้างโอกาสทองต่อการลงทุนตราสารหนี้ เพราะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคต หนุนให้ตราสารหนี้ที่ลงทุนมีโอกาสสร้าง Capital Gain ได้อีกทางหนึ่งด้วย แนะนำให้ลงทุนในตราสารหนี้ ทั้งกลุ่มตราสารหนี้โลก, High-Grade และ Private Credit เพื่อรับผลตอบแทน ทั้งจาก Yield ที่สูง และ Capital Gain ที่อาจเกิดขึ้นตลอดปี 2024

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ท่ามกลางความเสี่ยงมากมายที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นนั้น ย่อมมีโอกาสเสมอ การลงทุนก็เช่นเดียวกัน เมื่อดอกเบี้ยปีหน้านี้ขาลงชัดเจนนั้น โอกาสที่จะลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีก็มีเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะตราสารหนี้ที่มีคุณภาพ เรตติ้งที่สูง รวมถึงหุ้นที่มีคุณภาพก็ยังน่าสนใจที่จะลงทุนเช่นเดียวกัน

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT