การเงิน

เงินบาทอ่อนไม่หยุด ทะลุ 36.70 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าในรอบเกือบ16ปี

15 ก.ค. 65
เงินบาทอ่อนไม่หยุด ทะลุ 36.70 บาท/ดอลลาร์  อ่อนค่าในรอบเกือบ16ปี

ค่าเงินบาทของไทยยังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดช่วงบ่ายวันนี้เคลื่อนไหวทะลุ 36.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐแล้ว  หลังจากเปิดตลาดช่วงเช้าอยู่ที่ 36.58 บาท/ดอลลาร์ และอ่อนค่าต่อจากเย็นวานที่ปิดตลาดที่ระดับ 36.51 บาท/ดอลลาร์ เท่ากับอ่อนค่าลงกว่า 20 สตางค์ในช่วงเวลาไม่ถึง 1วัน โดยการอ่อนค่าทะลุ 36.70 บาท/ดอลลาร์นับเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดในรอบเกือบ 16 ปี คือนับจากปี 2549

 

สาเหตุของการอ่อนค่าต่อเนื่องของเงินบาท คือ แนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด เตรียมจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรง ระหว่าง 0.75 % - 1% ในการประชุมปลายเดือนนี้ หลังจากเงินเฟ้อสหรัฐเดือนมิถุนายนพุ่ง 9.1% สูงที่สุดในรอบ 40 ปี โดยหากดอกเบี้ยสหรัฐขึ้นแรงต่อเนื่อง จะยิ่งทำให้ เงินบาทไทยมีโอกาสอ่อนค่า เพราะระยะห่าง ระหว่างดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับสหรัฐห่างกันมากขึ้นไปอีก

 

“โดยอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯปัจจุบันอยู่ที่ 1.50% - 1.75  ส่วนดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 0.50%”

 

ท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทยล่าสุดคือ เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมาส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท โดยนางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถงข่าวว่า ธปท.เน้นดูความผันผวนมากกว่า ถ้าผันผวนมากกว่าปกติจึงจะเข้าไปดูแล มองไปข้างหน้าทุกอย่างยังมีความเสี่ยง อ่อนได้ก็แข็งได้ แต่บาทที่อ่อนค่าในขณะนี้ยังเป็นผลมาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลักและเกาะกลุ่มกับค่าเงินในภูมิภาค  ไม่จำเป็นต้องมีนโยบายคุมเงินไหลออก คาดว่า ครึ่งปีหลังเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้

 

ขณะที่ มุมมองของ KKP Research ก่อนหน้านี้มอง ดอกเบี้ยไทย Behind the curve คือแบงค์ชาติปรับดอกเบี้ยช้าเกินไป จะส่งผลให้การดำเนินนโยบายการเงินทำได้ยากขึ้นมาก  เชื่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 75bps ในวันที่ 26-27 กรกฎาคม ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการประชุม กนง ของไทยครั้งต่อไปในวันที่ 10 สิงหาคม กว่า 2 สัปดาห์ และจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่างสหรัฐ และไทย สูงขึ้นถึง 1.875% ซึ่งเป็นส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงปี 2007

 

KKP Research คาดการณ์ว่าในช่วงเวลานั้นแรงกดดันต่อค่าเงินบาทจะมีเพิ่มสูงขึ้นมากและอาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้อีก และปรับการคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยจากเดิมที่คาดว่าจะขึ้น 25bps ในการประชุมรอบหน้า เป็นขึ้น 50bps และคาดว่าจะขึ้นต่อเนื่องอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 25 bps ในปีนี้ซึ่งจะทำให้ในปลายปีอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยจะปรับตัวสูงขึ้นไปอยู่ที่ 1.5% จากระดับปัจจุบันที่ 0.5%

 

702572

 

advertisement

SPOTLIGHT