นับตั้งแต่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศอัตราภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ในวันที่ 2 เมษายน ราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำ All Time High แตะระดับ 3,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (+12.43%) ภายใน 20 วัน ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ปัจจุบัน บรรดาคู่ค้าของสหรัฐฯ เริ่มทยอยบรรลุการเจรจาเพื่อปรับลดอัตราภาษีนำเข้าลงมาได้ ก่อนที่จะถึงเส้นตายเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ส่งผลให้ราคาทองคำเริ่มแกว่งตัวออกด้านข้าง
ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ได้เลื่อนบังคับใช้ Reciprocal Tariffs ออกไป 90 วัน ซึ่งครบกำหนดไปเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม และขยายระยะเวลาอีกครั้งถึงวันที่ 1 สิงหาคม โดยบรรดาประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ จะถูกบังคับใช้อัตราภาษีตามที่ระบุไว้ในจดหมาย
ทั้งนี้ ราคาทองคำไม่ได้ตอบสนองเชิงลบมากนัก เนื่องจากยังมีอีกหลายประเทศคู่ค้าหลักที่ถูกปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้า เช่น แคนาดา, เม็กซิโก ที่ระดับ 35%, 30% และสหภาพยุโรป (EU) ที่ระดับ 30% แม้โฮเวิร์ด ลุตนิก รมว.พาณิชย์สหรัฐ จะเชื่อมั่นว่า สหรัฐสามารถบรรลุข้อตกลงกับ EU ได้ก่อนเส้นตาย 1 สิงหาคม รวมถึงบราซิลที่ถูกปรับขึ้นภาษีเป็น 50% เนื่องจากเป็นประเทศในกลุ่ม BRICS ประกอบกับการขาดเสถียรภาพทางการเมือง
นอกจากนี้ แคนาดากำลังเตรียมตอบโต้โดยลดการพึ่งพาทางการค้ากับสหรัฐ ด้วยการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มสมาชิก Mercosur ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคลาตินอเมริกาใต้
ความสนใจของนักลงทุน เริ่มย้ายไปหาทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของ FED
หลังจากที่มาตรภาษีของทรัมป์ เริ่มก่อให้เกิดการเร่งตัวของเงินเฟ้อในบางรายการของ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อาทิ สินค้าของใช้ในบ้าน (Household Appliances) และสินค้าสันทนาการ (Recreational Goods) อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) นั้นยังอยู่ในระดับต่ำกว่าคาดการณ์ จึงประเมินว่าในระยะแรกภาษีนำเข้าจะมีอิทธิพลต่อเงินเฟ้อยังไม่มาก เนื่องจากราคาสินค้าที่สูงขึ้นนั้นไม่ได้ถูกผลักภาระไปที่ผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผู้ส่งออกและผู้ผลิตที่มาช่วยรับภาระ (absorb) ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ตัวเลขมาตรวัดเงินเฟ้อที่สูงขึ้น จะสลับมากดดันทองคำเป็นระยะๆ เท่านั้น แต่จะไม่ได้เป็นปัจจัยกดดันทองคำอย่างรุนแรง
อีกทั้ง สถานการณ์ของเจอโรม พาวเวลล์ กับตำแหน่งประธาน FED ที่เริ่มสั่นคลอน
หลังจาก Bloomberg รายงานข่าวเมื่อวันพุธที่ 16 กรกฎาคม ว่าเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว ระบุว่าทรัมป์มีแนวโน้มที่จะไล่พาวเวลล์ออกเร็วๆ นี้ หลังจากที่เคยหารือสภาผู้แทนราษฎรในพรรครีพับลิกันว่าควรปลดหรือไม่ ขณะที่ สกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวว่ากระบวนการสรรหาผู้สืบทอดได้เริ่มต้นแล้ว แม้ว่าทรัมป์จะกล่าวผ่าน CNBC ว่า “ไม่ได้มีการวางแผนไว้ เว้นแต่ว่าเขาจะลาออกเอง” ก็ตาม
ปัจจัยดังกล่าว นับเป็นปัจจัยหนุนทองคำ ท่ามกลางความน่าเชื่อถือของระบบการเงินของสหรัฐที่ถูกบั่นทอน จากการที่องค์กรอิสระอย่าง FED กลับถูกแทรกแซงโดยรัฐบาล ซึ่งสะท้อนถึงการขาดเสถียรภาพ จนอาจจุดกระแส Sell America ขึ้นมาอีกครั้ง จากที่ตลาดตอบสนองด้วยการ Sell-off ทั้งดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
โดยเฉพาะ Bond Yield สหรัฐที่ผันผวนอย่างชัดเจน โดยเกิดภาวะ Steepening Yield Curve หรือการที่ส่วนต่างของ Bond Yield ระยะยาว-ระยะสั้น ที่เพิ่มขึ้น จากการที่ Bond Yield สหรัฐระยะยาว อายุ 30 ปี พุ่งขึ้นเหนือระดับ 5% ขานรับความกังวลเงินเฟ้อในระยะยาว ขณะที่ Bond Yield สหรัฐระยะสั้น อายุ 2 ปี กลับย่อตัวลง ขานรับการคาดการณ์ว่า FED มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยเร็วขึ้น หลังพาลเวลล์ถูกกดดัน ประกอบกับ ตลาดคาดว่าประธาน FED คนใหม่ มีโอกาสเป็น “เควิน แฮสเซตต์” ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Director of the National Economic Council เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง สายอนุรักษ์นิยม และสนับสนุนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท YLG Bullion And Future จำกัด