กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งกับการเก็บภาษีจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทย หลังกระทรวงการคลังซึ่งมีหน่วยงานที่ดูแลด้านการจัดเก็บภาษีคือ กรมสรรพากร ออกมาระบุว่า อยู่ระหว่างการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐให้มีความยั่งยืน โดยหนึ่งในแผน คือการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Financial Transaction tax) ในอัตรา 0.1% ของมูลค่าการขายหุ้นเฉพาะนักลงทุนที่มีมูลค่าการซื้อขายเกิน 1 ล้านบาทต่อเดือน โดยกระทรวงการคลังเองออกมายืนยันว่ามีความจำเป็นต้องเก็บภาษีในส่วนนี้ซึ่งจะเริ่มในปี 2565 หลังจากภาษีดังกล่าวที่ถูกยกเว้นมานานกว่า 30 ปี เพื่อส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้น
แต่เเรื่องการเก็บภาษีก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ซะทีเดียว เพราะหากย้อนกลับไปในช่วงประมาณกว่า 10 ปีก่อนหน้านี้ก็เคยมีกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลังเคยศึกษาการเก็บภาษีกำไรจากการหุ้น(capital gain) มาแล้วหลายครั้ง แต่ก็เกิดกระแสต่อต้านคัดค้านจากผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายจนสุดต้องถอยฉากออกไป
วันนี้นักลงทุนลองมาทำความรู้จักกันว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยมีภาษีหลักๆ อะไรบ้าง?
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบว่า
"ปัจจุบันกระทรวงการคลัง ได้ยกเว้นภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงยกเว้น Capital gains tax ซึ่งในหลายประเทศมีการจัดเก็บภาษีทั้ง 2 ตัวนี้ บางประเทศก็เก็บตัวใดตัวหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่มีการเก็บ Financial Transaction Tax กระทรวงการคลังมีความจำเป็นต้องเก็บภาษีดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับภาครัฐ หลังจากที่ได้มีการยกเว้นการจัดเก็บมาอย่างยาวนาน โดยการนำกฎหมายภาษีตัวใดออกมาใช้ในประเทศนั้น จำเป็นต้องพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆว่า มีการฟื้นตัวแล้วหรือยังด้วย"
ส่วนนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยภายในงานแถลงข่าว "มุมมอง SET เกี่ยวกับประเด็นภาษีขายหุ้น" ว่า
"การจัดเก็บภาษีจะทำให้ต้นทุนของนักลงทุนสูงขึ้นทำให้มีนักลงทุนบางประเภทที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นกลุ่มนักลงทุนเทรดดิ้ง ทั้งนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศที่ซื้อขายเร็วด้วยการหวังกำไรระยะสั้นคงจะมีผลกระทบ โดยคงจะต้องรอให้ราคาของสินทรัพย์ของตราสารเคลื่อนไหวมากกว่าเดิมถึงจะมีการซื้อขาย เพราะฉะนั้นจะมีการกระทบต่อวอลุ่มการซื้อขายของตลาดแน่นอน จากปัจจุบันที่ตลาดมีมูลค่าการซื้อขายที่ราว 9 หมื่นล้านบาทต่อวัน ซึ่งยังคงสูงเป็นอับดับ 1 ในภูมิภาคเอเซียน"
สำหรับการเก็บภาษีเป็นนโยบายภาครัฐ แต่ต้องการเสนอให้ภาครัฐพิจารณา คือหาแนวทางที่เหมาะสมที่จะลดผลกระทบจากจำนวนนักลงทุน เพราะถ้าเก็บตามปริมาณการซื้อขาย หรือตามหลักบางอย่างจะสามารถควบคุมให้ไม่กระทบกับจำนวนนักลงทุนได้มาก อีกทั้งอัตราภาษีที่จะใช้ ถ้าเป็นอัตราภาษีที่เหมาะสมและไม่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยแตกต่างจากตลาดทุน อื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งหรือที่ใช้เป็นมาตรฐานก็ถือเป็นเหตุผลที่ควรจะใช้มาพิจารณา
ก่อนหน้านี้นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย(FETCO)กล่าวกับทีมข่าว "SPOTLIGHT" ว่า สภาธุรกิจตลาดทุนไทยซึ่งมีสมาชิก ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.), สมาคมบริษัทจัดการกองทุน, สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย, สมาคมตราสารหนี้ไทย และ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ มีความเห็นตรงกันว่า
"ไม่เห็นด้วย หากสรรพากรจะจัดเก็บภาษี Transaction Tax จริง เพราะจะมีผลกระทบในเชิงลบต่อภาพรวมการพัฒนาภาคตลาดทุนและเศรษฐกิจของไทยมากกว่าจะเกิดผลในทางบวก"
เนื่องจากปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ ของไทยยังอยู่ในช่วงระหว่างการพัฒนา ทั้งในเรื่องการสร้างเพิ่มจำนวนฐานผู้ลงทุนซึ่งรัฐบาลเองมีนโยบายต้องการส่งเสริมให้เกิดการออมภาคกับประชาชนผ่านช่องทางการออมต่างๆ โดยการออมในตลาดหุ้นเป็นช่องทางการออมในระยะยาวที่ดี ขณะที่ปัจจุบันมีประชาชนที่เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นในระบบของไทยรวมประมาณ 2 ล้านบัญชี ถือเป็นสัดส่วนที่ยังต่ำมากเมื่อเปรียบกับจำนวนประชากรของไทยที่มีจำนวนประมาณ 70ล้านคนจึงจะเป็นประเด็นที่เป็นอุปสรรคต่อการออมาภาคประชาชนของไทย อีกทั้งจะเป็นการสร้างอุปสรรคในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ คือ ธุรกิจกลุ่ม New Economy และเทคโนโลยีที่รัฐบาลมีนโยบายต้องการสนับสนุนให้เข้ามาระดมเงินทุนในการขยายธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยซึ่งรัฐบาลต้องการดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดทุนไทย และผลักดันให้ไทยขึ้นเป็นศูนย์กลางการระดมทุนในภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเมียนมา(CLMV) เนื่องจากจะทำให้ต้นทุนการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มทันที ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้วอย่างตลาดหุ้นสิงคโปร์ที่ไม่มีการเก็บภาษี Transaction Tax จะทำให้ความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยลดลงเมื่อเปรียบกับตลาดหุ้นสิงคโปร์
บริษัทหลักทรัพย์(บล.เอเซีย พลัส )วิเคราะห์ว่า ปกติไทยมีการจัดเก็บภาษีรายรับจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ในอัตรา 0.1% อยู่แล้วตามกฎหมาย แต่ภาษีดังกล่าวได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534–ปัจจุบัน ภาครัฐจึงสามารถพิจารณากลับมาจัดเก็บภาษีได้ หากต้องการขยายฐานภาษี หากภาครัฐกลับจัดเก็บภาษีจริง คาดว่าจะส่งให้รัฐมีรายได้เพิ่ม และกระทบตลาดหุ้น ดังนี้
1. รายได้รัฐจะเพิ่มปีละประมาณ 1- 2 หมื่นล้านบาท (ถ้ามูลค่าซื้อขายยังอยู่ในระดับใกล้เคียงอดีต) คือ ในปีปัจจุบันนักลงทุนประเภท Active มีการซื้อขายหุ้นเฉลี่ยราว 2-3 ล้านบาท/เดือน หากรัฐเรียกเก็บภาษีนักลงทุนที่มีการขายหุ้นเกิน 1 ล้านบาท/เดือน แสดงว่านักลงทุนประเภท Active ส่วนใหญ่จะถูกเก็บภาษี
ในเบื้องต้นหากคำนวณรายได้รัฐจากการเก็บภาษีหลักทรัพย์ ในช่วงตั้งแต่ 1 ม.ค. – 14 ธ.ค. 2564 ตลาดฯมีมูลค่าซื้อขาย (คิดขาเดียว) รวม 20.5 ล้านล้านบาท เมื่อคูณอัตราภาษี 0.1% รัฐจะมีรายได้เพิ่มประมาณ 2.05 หมื่นล้านบาท และหากพิจารณาจากมูลค่าซื้อขายในอดีต พบว่า ส่วนใหญ่แล้วรัฐจะได้รายได้เพิ่มเกิน 1 หมื่นล้านบาทต่อปี
2. ขีดความสามารถในการแข่งขันตลาดหุ้นโลกลดลง เนื่องจากผลตอบแทนของการ Trading ลดลง จาก Transaction cost ที่สูงขึ้นมาก ทำให้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศได้ลดน้อยลง โดยเฉพาะจากนักเก็งกำไร
3. มูลค่าการซื้อขายหดตัวลง อาจส่งผลให้การเรียกเก็บภาษีในระยาวมีโอกาสลดลง ตราบที่มูลค่าซื้อขายในอนาคตยังคงลดลงต่อเนื่อง
4. ประเด็นดังกล่าว ถือว่ามีผลกระทบต่อตลาดหุ้นพอสมควร สะท้อนได้จากมีประเด็นนี้เข้ามาในวันที่ 7 ก.ค. 64 SET Index ปรับฐานแรงเกือบ 50 จุด หรือราว -3% ภายในระยะเวลา 2 วันเท่านั้น (ตลาดหุ้นสหรัฐ -0.5% ในช่วงเวลาเดียวกัน) และอาจกดดันมูลค่าตลาด ให้หดหายไปมากกว่าภาษีที่รัฐอาจได้รับ
ดังนั้นหากรัฐปฏิบัติจริงถือว่ากดดันตลาดหุ้นพอสมควร ทั้งในมุมผลตอบแทน และมูลค่าซื้อขายที่ลดลง