ข่าวเศรษฐกิจ

แบงก์ชาติจีนคงดอกเบี้ยที่ 2.5% ยอดการผลิต-สินเชื่อโตต่ำ คาดครี่งปีหลังรัฐฯ อัดนโยบายกระตุ้นศก.ต่อ

17 มิ.ย. 67
แบงก์ชาติจีนคงดอกเบี้ยที่ 2.5% ยอดการผลิต-สินเชื่อโตต่ำ คาดครี่งปีหลังรัฐฯ อัดนโยบายกระตุ้นศก.ต่อ

แบงก์ชาติจีนคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระยะกลาง (MLF) ที่ 2.5% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 พร้อมระบายสภาพคล่องมูลค่า 5.5 หมื่นล้านหยวน สะท้อนว่าจีนยังระมัดระวังการผ่อนคลายนโยบายการเงิน แต่อาจใช้นโยบายคลังต่อในครึ่งปีหลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพการเงิน

ในวันนี้ (17 มิถุนายน) ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระยะกลาง 6 เดือนถึง 1 ปี (MLF) หรือ อัตราดอกเบี้ยที่ PBOC ปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการสภาพคล่องจากธนาคารกลาง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีน ไว้ที่ 2.5% ตามความคาดหมายของนักลงทุน

โดยในปัจจุบัน ธนาคารกลางจีนได้ปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด 1.82 แสนล้านหยวน หรือราว 9.23 แสนล้านบาท และกำลังจะมีสินเชื่อครบกำหนดเป็นมูลค่าทั้งหมด  2.37 แสนล้านหยวนในเดือนนี้ ทำให้จีนถอนสภาพคล่องออกไปทั้งหมด 5.5 หมื่นล้านหยวน

การตัดสินคงดอกเบี้ยนโยบายสะท้อนว่าธนาคารกลางจีนยังระมัดระวังในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน แม้เศรษฐกิจจะไม่มีวี่แววฟื้นตัวที่แน่นอน เพราะค่าเงินหยวนยังต่ำจากแรงกดดันของดอลลาร์ ขณะที่สภาพคล่องในระบบยังมีสูง นอกจากนี้ยังสะท้อนว่า ธนาคารกลางน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (LPR) หรือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารพาณิชย์ให้แก่ลูกค้าชั้นดี ไว้ในระดับเดิมที่ 3.45% ในวันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายนที่กำลังจะถึงนี้

ยอดผลผลิตต่ำกว่าคาด ไม่มีสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นชัดเจน

นักวิเคราะห์มองว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธนาคารกลางจีนตัดสินใจไม่ลดดอกเบี้ยเพราะกังวลว่าจะเป็นการทำลายเสถียรภาพการเงินและสถาบันการเงินของประเทศ เพราะในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยอดปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เติบโตต่ำลงกว่าคาดที่ 9.3% ซึ่งเป็นระดับที่น้อยที่สุดตั้งแต่ปี 1978 สะท้อนดีมานด์ที่ยังต่ำจากการซบเซาของภาคอสังหาริมทรัพย์ 

นอกจากนี้ ในไตรมาสที่ 2 ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของธนาคารพาณิชย์จีนยังลดลงมาเหลือ 1.54% จาก 1.69% จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่เงินหยวนอ่อนค่าลงแล้ว 2.1% จากแรงกดดันของเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้หากลดดอกเบี้ยนโยบาย ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารก็จะลดลง และเงินหยวนก็มีสิทธิอ่อนค่าลงไปอีก

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนก็ยังต้องการการกระตุ้น ดูได้จากอัตราการเติบโตของยอดการผลิตสินค้า และการลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์คงที่ (fixed asset investment) เช่น อสังหาริมทรัพย์ ที่น้อยกว่าคาด ทำให้จีนเหมือนอยู่ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก และรัฐบาลต้องใช้นโยบายการคลังแทนนโยบายการเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้ แม้ยอดการผลิตจะลดลง การบริโภครายย่อยของจีนกลับเพิ่มขึ้นทั้งในพื้นที่เมืองและพื้นที่ชนบท โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 3.7% ในพื้นที่เมือง และ 4.1% ในพื้นที่ชนบทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 7.6% 

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังมองว่า การที่อัตราการเติบโตของการปล่อยสินเชื่อลดลงอาจะเป็นผลมาจากการที่มีฐานสูงในปีก่อนหน้า รวมไปถึงปัจจัยรบกวนระยะสั้นอื่นๆ แต่ในช่วงนี้รัฐบาลและภาคเอกชนมีการออกพันธบัตรและหุ้นกู้ ทำให้จีนยังมีฐานเงินทุนในการขยายและกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปได้

โดยในเดือนพฤษภาคนที่ผ่านมา กระทรวงการคลังของจีนเพิ่งได้เปิดขายพันธบัตรระยะยาวเป็นมูลค่าทั้งหมด 1 ล้านล้านหยวน เพื่อระดมทุนมากระตุ้นเศรษฐกิจในภาคส่วนที่กำลังซบเซา



 

ที่มา: Reuters, MarketWatch, CNBC

advertisement

SPOTLIGHT