ข่าวเศรษฐกิจ

เปิดเหตุผลทำไม กนง.คงดอกเบี้ย 2.5% ด้วยมติ 5 ต่อ 2 เอกชนยังอยากให้ลด

10 เม.ย. 67
เปิดเหตุผลทำไม กนง.คงดอกเบี้ย 2.5% ด้วยมติ 5 ต่อ 2 เอกชนยังอยากให้ลด

เป็นที่จับตามองเป็นอย่างมาก สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้ ภายหลังจากที่ได้ถูกกดดันและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ขั้นวิกฤตแล้ว โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อโดยตลอดว่า ถึงเวลาแบงก์ชาติต้องลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว

ล่าสุด ในวันนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดย 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ด้วยเหตุผลอะไรบ้าง SPOTLIGHT จะพามาดูกัน

กนง.มองว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายภาครัฐที่กำลังจะกลับมาเพิ่มในช่วงที่เหลือของปี 

ส่วนภาคการส่งออกค่อยๆ ขยายตัว แต่ยังมีแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยกนง.คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตที 2.6% และในปีหน้า 3.0% และคาดการณ์ว่าไตรมาส 1% อาจจะดูว่าต่ำแต่เป็นขับเคลื่อนขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว ใกล้เคียงกับศักยภาพในภาพรวม  

ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ จากปัจจัยด้านอุปทานและมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ และมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567

ดังนั้น กรรมการส่วนใหญ่ จึงเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน และเห็นว่า นโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง 

จึงเห็นควร ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ แต่ยังต้องติดตามความไม่แน่นอนของปัจจัยที่จะเข้ามากระทบเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า 

ขณะที่กรรมการ 2 ท่าน เห็นว่า ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง

กนง.

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.ในวันที่ 10 เมษายน 2567 เผยว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้าที่คาดเติบโตระดับ 2.6% และ3.0% ตามลำดับนั้น ถือว่าเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม  โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นทั้งในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อคน การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่องแม้จะชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัวสูง และการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 

ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่โน้มต่ำลงหลังวิกฤตโควิด สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันศักยภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการผลิตที่เผชิญความท้าทายจากความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลงและภาวะสินค้าล้นตลาด ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจำกัด

กนง.

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อมองไปข้างหน้าเพิ่มขึ้นไปในกรอบเป้าหมาย โดยคาดการณ์ปีนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ระดับ 0.6% และปีหน้า 1.3%  ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ที่ 0.6% และ 0.9% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ ตามการปรับลดลงของราคาอาหารสดบางกลุ่มเนื่องจากปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก 

อีกทั้ง จากราคากลุ่มพลังงานที่ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ซึ่งหากหักผลของมาตรการดังกล่าว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปตลอดช่วงที่ผ่านมายังคงเป็นบวก ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นกลับเข้ากรอบเป้าหมายได้ภายในปลายปีนี้ โดยต้องติดตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และมาตรการภาครัฐที่ส่งผลต่อราคาพลังงาน

โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ขยายตัวชะลอลงจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกที่ล่าช้า การใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลงมาก และแรงกดดันจากสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูงกว่าปกติ   

ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ใกล้เคียงเดิม สินเชื่อภาคธุรกิจและครัวเรือนขยายตัวชะลอลงจากการชำระคืนหนี้ ขณะที่ปริมาณสินเชื่อปล่อยใหม่ในภาพรวมยังขยายตัว อย่างไรก็ดี ธุรกิจขนาดเล็กบางกลุ่มและครัวเรือนรายได้น้อยเผชิญภาวะการเงินที่ตึงตัว เนื่องจากมีปัญหาเชิงโครงสร้างในการเข้าถึงสินเชื่อมาต่อเนื่อง ประกอบกับความสามารถในการชำระหนี้ปรับลดลงจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งสอดคล้องกับยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพที่คาดว่าจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นแต่ไม่เร่งตัวแบบก้าวกระโดด 

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ มีความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเห็นความสำคัญของกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (debt deleveraging) ที่ควรมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเปราะบางของเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมถึงพิจารณาว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ จึงสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ในการดำเนินมาตรการเฉพาะจุดผ่านสถาบันการเงิน โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวน โดยอ่อนค่านำสกุลเงินภูมิภาค ตามการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจการเงินในประเทศในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามความผันผวนของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กรรมการส่วนใหญ่ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว 

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนโดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคการส่งออก รวมทั้งผลของการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการดังกล่าวและพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

สภาอุตฯ ยังอยากเห็นแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยเอื้อภาคเอกชน

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ว่า ควรต้องมีการปรับลดลง เพราะขณะนี้ผู้ประกอบการธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงินจะได้มีภาระทางการเงินที่ลดลง 

นอกจากนี้ หากดอกเบี้ยในระบบปรับลดลง อาจช่วยทำให้ดอกเบี้ยหนี้นอกระบบลดลงได้ด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อไปยังประชาชนที่กำลังประสบปัญหาหนี้นอกระบบสูงอยู่ในขณะนี้  

สำหรับปัญหาใหญ่ที่สุดของภาคธุรกิจในเวลานี้ คือ การขาดสภาพคล่อง และผู้ประกอบการรายเล็กไม่สามารถกู้แบงก์ได้ เพราะแบงก์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ หรือหากได้รับสินเชื่อก็จะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่อยู่ดี ดังนั้น หากดอกเบี้ยนโยบายลดลงน่าจะเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ได้

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT