ข่าวเศรษฐกิจ

เวทีดาวอส 2024 ผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของโลก คุยอะไรกัน ?  

16 ม.ค. 67
เวทีดาวอส 2024 ผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของโลก คุยอะไรกัน ?  

การประชุม WEF Annual Meeting ประจำปี 2567 ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 15-19 มกราคม ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 54 แล้ว ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ดินแดนแห่งสกีรีสอร์ทสุดหรูที่ในสัปดาห์นี้เต็มไปด้วยผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของโลกรวมตัวกันที่นี่  

เวทีดาวอส หรือการประชุม WEF เป็นการหารือและสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาของโลก โดยมีหลักการสำคัญคือความพยามเป็นอิสระ ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย และไม่มีผลประโยชน์พิเศษซ่อนเร้น โดยการประชุมประจำปี 2024 นี้มีรัฐบาลมากกว่า 100 แห่งจากทั่วโลก เข้าร่วม รวมไปถึงองค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญทั้งหมด บริษัทเอกชน และพันธมิตรถึง 1,000 ตลอดจนผู้นำภาคประชาสังคม ผู้เชี่ยวชาญชั้นแนวหน้า รุ่นเยาวชนในปัจจุบัน ตัวแทนภาคประชาชน และสื่อมวลชนจากทั่วโลก 

สำหรับ WEF Annual Meeting ประจำปี 2567 ที่ดาวอสถูกจับตามองเป็นพิเศษเนื่องจากอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์หลายจุดบนโลก ไม่เพียงแต่สงครามรัสเซีย ยูเครน และ สงครามอิสราเอล ฮามาส เท่านั้น แต่โลกยังมีความท้าทายจากความเสี่ยงของความขัดแย้งอีกหลายจุด ทั้งในอิโดแปซิฟิก จีน VS สหรัฐ , ญี่ปุ่น VS เกาหลีใต้ VS ไต้หวัน , สงครามในทะเลจีนใต้ และอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นได้

ทำให้หัวข้อของเวทีดาวอส 2024 คือ  “Rebuilding Trust” ที่เน้นการฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่ออนาคต ความไว้เนื้อเชื่อใจในสังคม และระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายของโลกปัจจุบัน

ดาวอส 2024
ภาพจาก AFP :  ภาพประธานาธิบดียูเครน  Volodymyr Zelensky ที่จัดการเจรจาทวิภาคีกับคณะผู้แทน
และ Viola Amherdประธานาธิบดีสวิส  ก่อนที่จะเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum ในเมืองดาวอส 

WEF Annual Meeting ประจำปี 2567  มีการกำหนด 4 ธีมหลักของงาน

  1. การบรรลุความมั่นคงและความร่วมมือในการประสานความขัดแย้ง 
  2. สร้างการเติบโตและการทำงานในงานยุคใหม่
  3. AI -ปัญญาประดิษฐ์เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม
  4. ยุทธศาสตร์ระยะยาวเรื่องสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน 

AI - กลายเป็นธีมสำคัญที่ถูกพูดถึงในเวทีดาวอส

จะเห็นได้ว่า ธีมเรื่อง AI หรือปัญญาประดิษฐ์ถูกกำหนดเป็นหนึ่งในเรื่องลักในเวทีดาวอส โดยถูกมองเป็นเทคโนโลยีที่สำคัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากนี้ไป โดยจะมีการหารือกันเพื่อหาทางร่วมมือเพื่อจะใช้ AI ให้เป็นประโยชน์ต่อทุกคนได้อย่างไร? ขณะที่กฎระเบียบเรื่อง AI ของประเทศต่างๆในโลกมีความแตกต่างกัน คำถามคือจะสามารถสร้างสมดุลระหว่างนวัตกรรมกับความเสี่ยงทางสังคมอย่างไร และ AI จะเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ อย่างไร ไม่ว่าจะเป็น 5 / 6  G, คอมพิวเตอร์ควอนตัม และเทคโนโลยีชีวภาพ โดยในฟอรัม  AI Governance Alliance จะมีการบูรณาการความร่วมมือจากรัฐบาลและบริษัทสำคัญๆต่างๆ 20 แห่ง เพื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของโลก ทำให้มีหัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับ AIถูกพูดถึงในหลากหลายมิติ

หัวข้อการเสวนาที่เกี่ยวข้องกับ AI https://www.weforum.org/events/world-economic-forum-annual-meeting-2024/themes/artificial-intelligence-as-a-driving-force-for-the-economy-and-society

ดาวอส 2024

ภารกิจนายกฯเศรษฐา ในเวทีดาวอส 2024 

สำหรับการเข้าร่วม WEF ของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ นับเป็นการเข้าร่วมระดับผู้นำของไทยในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่ปี 2555 ในสมัยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเป็นการเยือนภูมิภาคยุโรปครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะตอกย้ำความพร้อมของไทยในการร่วมขับเคลื่อนประเด็นสำคัญของโลก และใช้โอกาสนี้พบปะหารือกับผู้นำทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจากทั่วโลก

กำหนดการสำคัญภายใต้กรอบ WEF นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วม 3 รายการ ได้แก่
1. กล่าวเปิดการเสวนา Country Strategy Dialogue (CSD) on Thailand
2. การเสนอโครงการ Thailand Landbridge: Connecting ASEAN with the World
3. ร่วมเสวนา Learning from ASEAN ซึ่งจะมีผู้นำไทย เวียดนาม และกัมพูชา เข้าร่วมด้วย 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังมีกำหนดการพบปะภาคเอกชนสำคัญ อาทิ ผู้บริหารบริษัทด้านเทคโนโลยี และ Solutions บริษัทท่าเรือ logistics บริษัทด้านการเงิน การธนาคาร บริษัทด้านโทรคมนาคม บริษัทด้านยาและวัคซีน บริษัทด้านอาหารและเครื่องดื่ม บริษัทด้านธุรกิจ Delivery และพบปะบุคคลสำคัญ อาทิ นายมาทีอัส คอร์มันน์ (Mathias Cormann) เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD นาย Klaus Schwab ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร WEF และ ผู้บริหารของ World Bank ด้วย

ภารกิจนายกฯเศรษฐา ในเวทีดาวอส 2024 

ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีจะร่วมประชุม WEF ในครั้งนี้ เพื่อผลักดันบทบาทของไทยในการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และความร่วมมือในโลก การส่งเสริมการค้าการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงาน รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรม EVs อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน เศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนการส่งเสริมความเชื่อมโยงผ่านโครงการ Landbridge ให้แก่ผู้นำและผู้แทนระดับสูงจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม วิชาการ และสื่อชั้นนำต่าง ๆ ที่เข้าร่วม เพื่อนำผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมกลับมาให้พี่น้องชาวไทย

ภาพจาก AFP : ภาพศูนย์การประชุม (ซ้าย) ของ World Economic Forum (WEF)
ภาพจาก AFP : ภาพศูนย์การประชุมของงาน World Economic Forum (WEF) เมือง ดาวอส

ที่มาของ World Economic Forum 

สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรสัญชาติสวิส ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1971 โดยศาสตราจารย์เคล้าส์ ชวอบ (Klaus Schwab) ศาสตราจารย์ชาวเยอรมัน สาขาวิชาธุรกิจ แห่งมหาวิทยาลัยเจนีวา ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหารของ WEF

WEF เป็นองค์กรอิสระนานาชาติที่ได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน สมาชิกประกอบด้วย ผู้นำรัฐบาล รัฐมนตรีคลัง รัฐมนตรีการค้า รัฐมนตรีต่างประเทศ ผู้ว่าการธนาคารกลาง ผู้บริหารสูงสุดหรือซีอีโอของบริษัทชั้นนำทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ องค์กรนานาชาติ เยาวชน ผู้คิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยี และตัวแทนประชาสังคม ที่มารวมตัวประชุมกันที่เมืองดาวอส ซึ่งเป็นเมืองสกีที่อยู่ในจุดที่สูงที่สุดของทวีปยุโรปเป็นประจำกันทุกปีเพื่อหารือและสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาของโลก 

ที่มา WEF , ทำเนียบรัฐบาล 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT