ข่าวเศรษฐกิจ

รู้จัก World Economic Forum ที่ ‘ดาวอส’ ที่ซึ่งคนรวยสุด 1% ของโลกร่วมคุยแก้ไขปัญหาโลก

17 ม.ค. 66
รู้จัก World Economic Forum ที่ ‘ดาวอส’ ที่ซึ่งคนรวยสุด 1% ของโลกร่วมคุยแก้ไขปัญหาโลก

การประชุมเศรษฐกิจโลก หรือการประชุมประจำปีของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เริ่มขึ้นแล้วปีนี้ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีแรกที่เหล่านักธุรกิจมหาเศรษฐี และบุคลากรรัฐระดับสูงของประเทศได้กลับมาพบปะหารือกันต่อหน้าในสกีรีสอร์ทสุดหรูหลังการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้มีอิทธิพลด้านเศรษฐกิจเหล่านี้ต้องประชุมกันทางออนไลน์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

337742d-highres

โดยในปีนี้ หัวข้อหลักที่จะนำการสนทนาทั้งการประชุมทั้ง 5 วัน ระหว่างวันที่ 16-20 มกราคม ก็คือ “Cooperation in a Fragmented World” หรือ “ความร่วมมือในโลกที่แตกแยก” ซึ่งจะเน้นการหารือเพื่อแก้ไขปัญหาที่กำลังส่งผลกระทบต่อทั้งโลก อย่างเช่น ปัญหาเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูง วิกฤติพลังงาน สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร และปัญหาเกี่ยวกับสภาพอากาศ

ในโอกาสที่ผู้มีอิทธิพลด้านเศรษฐกิจทั่วโลกได้กลับมาพบปะกันในคราวนี้ ทีมข่าว Spotlight จึงอยากชวนทุกคนมาย้อนดูคร่าวๆ กันว่าการประชุมเศรษฐกิจโลก หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “การประชุมดาวอส” ตามชื่อที่จัดนี้มีความเป็นมาอย่างไร และมีความสำคัญอย่างไรบ้างกับเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงว่าในปีนี้ผู้นำเศรษฐโลกมีประเด็นฮอตอะไรต้องรีบพูดคุยกันบ้าง

 

การประชุมที่รวมสุดยอดผู้มีอิทธิพลด้านเศรษฐกิจจากภาครัฐและเอกชนจากทั่วโลก

สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรสัญชาติสวิส ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1971 โดยศาสตราจารย์เคล้าส์ ชวอบ (Klaus Schwab) ศาสตราจารย์ชาวเยอรมัน สาขาวิชาธุรกิจ แห่งมหาวิทยาลัยเจนีวา ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหารของ WEF

WEF เป็นองค์กรอิสระนานาชาติที่ได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน สมาชิกประกอบด้วย ผู้นำรัฐบาล รัฐมนตรีคลัง รัฐมนตรีการค้า รัฐมนตรีต่างประเทศ ผู้ว่าการธนาคารกลาง ผู้บริหารสูงสุดหรือซีอีโอของบริษัทชั้นนำทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ องค์กรนานาชาติ เยาวชน ผู้คิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยี และตัวแทนประชาสังคม ที่มารวมตัวประชุมกันที่เมืองดาวอส ซึ่งเป็นเมืองสกีที่อยู่ในจุดที่สูงที่สุดของทวีปยุโรปเป็นประจำกันทุกปีเพื่อหารือและสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาของโลก โดยมีหลักการสำคัญคือความเป็นอิสระ ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย และไม่มีผลประโยชน์พิเศษซ่อนเร้น

2kj_l_s0yzvel66s5jcsarlajzlvd

ในคราวแรก ศาสตราจารย์ชวอบตั้งใจจัดการประชุมนี้ขึ้นมาเพื่อรวมตัวซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำต่างๆ ทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกาให้มาปรึกษาหารือเรื่องการทำธุรกิจกัน ในช่วงแรกๆ ที่มีการจัดประชุม การประชุมดาวอสจึงมีภาพลักษณ์ว่าเป็นการประชุมของ ‘เหล่าอีลีตทางธุรกิจ’ มาพูดคุยเรื่องผลประโยชน์กันมากกว่าที่จะเป็นเวทีที่ให้ผู้นำมาพูดคุยเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาระดับโลก

อย่างไรก็ตาม เมื่อการประชุมนี้เป็นที่สนใจมากขึ้นจากบุคลากรสำคัญจากทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลก การประชุมที่ดาวอสก็กลายเป็นเวทีพบปะพูดคุยของบุคคลผู้มีอิทธิพลของโลกไป และทำให้มีความสำคัญในฐานะเวทีที่อาจกำหนดแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในโลก จาก ‘การพูดคุยเล็กๆ’ อย่างไม่เป็นทางการที่ย่อมมีสิทธิเกิดขึ้นหากจับคนสำคัญทั่วโลกมาอยู่ด้วยกันในสกีรีสอร์ท

โดยตลอด 52 ปีที่มีการประชุมมา มีหลายๆ ไอเดียเกิดขึ้นมาจากการพูดคุยของเหล่าอีลีตด้านเศรษฐกิจกลุ่มนี้ แต่บางไอเดียก็ไปได้ไกลกว่าเพื่อน และกลายมาเป็นสนธิสัญญาและกรอบความร่วมมือจริงจังระหว่างประเทศ อย่างเช่น ในปี 1988 ที่มีการเซ็นสนธิสัญญา Davos Declaration กันที่การประชุม ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ช่วยยุติความขัดแย้งระหว่างตุรกีและกรีซในขณะนั้น 

ปี 1994 ที่มีการเสนอให้มีความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA ซึ่งเป็นกรอบการค้าเสรีระหว่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก

หรือปี 2000 ที่มีการก่อตั้ง Global Alliance for Vaccines and Immunisation (Gavi) องค์กรที่รวมทั้งภาคเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศเข้าด้วยกัน โดยมีสมาชิกอย่างเช่น UNICEF มูลนิธิบิลและเมลินด้า เกตส์ และองค์การอนามัยโลก และมีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดหาวัคซีนให้กับผู้ด้อยโอกาส และเด็กทั่วโลก

ในปี 2020 WEF ได้ออก Davos Manifesto เพื่อประกาศเจตนารมณ์ขององค์กรในการร่วมแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และปัญหาด้านสังคมเพิ่ม ซึ่งเป็นการปรับภาพลักษณ์ของเวทีการประชุมให้มีความเป็นธุรกิจน้อยลง และมุ่งเพิ่มการหารือเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การประชุมดาวอสก็ยังได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ และเสียงประท้วงจากองค์กรด้านการพัฒนาทั่วโลก เพราะหลายๆ คนมองว่าการประชุมดาวอสเป็นการประชุมที่ให้ผู้มีอิทธิพลด้านเศรษฐกิจที่ร่ำรวยล้นฟ้าอยู่แล้วมาร่วมประชุมกันเพื่อหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง ไม่ได้มีผลดีกับประชากรโดยรวม รวมไปถึงเป็นการประชุมที่เปลืองทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างมลพิษเป็นจำนวนมากจากการที่ผู้นำและผู้บริหารทั้งหลายต้องนั่งเจ็ตส่วนตัวไปร่วมประชุม

33748qz-highres

 

การประชุมดาวอสเริ่มเสื่อมความสำคัญ?

ปีนี้ผู้นำ G7 เมินไม่เข้าร่วม แต่ภาคธุรกิจยังคึกคัก

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นการประชุมระดับโลกที่สื่อทั้งโลกยังคงจับตามอง สื่อต่างประเทศหลายเจ้าต่างก็ให้ข้อสังเกตว่าการประชุมดาวอสอาจเริ่มเสื่อมความสำคัญในด้านการเมืองลงไปมากแล้ว เพราะการประชุมในปีนี้มีผู้นำจากประเทศ G7 เข้าร่วมการประชุมเพียงประเทศเดียว คือ นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ (Olaf Scholz) จากเยอรมนี ส่วนประเทศอื่น ๆ ส่งตัวแทนเข้าร่วม สะท้อนว่าผู้นำระดับโลกอาจไม่ได้มองว่าเวทีการประชุมนี้เหมาะกับการหารือเรื่องกิจการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกต่อไปแล้ว

โดยจากรายชื่อผู้ตอบรับเข้าร่วมประชุม งาน WEF ปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 2,658 คนทั่วโลก ประกอบด้วย

  1. ผู้นำของรัฐจากประมาณ 40 ประเทศทั่วโลก รวมไปถึง นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ (Olaf Scholz) จากเยอรมนี และผู้นำจาก เบลเยี่ยม โคลอมเบีย ฟินแลนด์ กรีซ เกาหลีใต้ สเปน
  2. ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทใหญ่ทั่วโลก เช่นผู้บริหารของ Shell, Amazon, Citigroup, Moderna, Blackrock รวมไปถึง Gautam Adani จาก Adani Group มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย และร้่ำรวยที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก
  3. สมาชิกราชวงศ์ยุโรป อาทิ สมเด็จพระราชินีมักซิมาแห่งเนเธอร์แลนด์, สมเด็จพระราชินีมาตีลด์แห่งเบลเยียม และ เจ้าชายอาลแบร์ที่ 2 เจ้าผู้ครองโมนาโก
  4. ศิลปิน และคนดัง เช่น ไอดริส อัลบา นักแสดงชาวอังกฤษ และภรรยา
  5. สื่อมวลชนจากสำนักต่างๆ เช่น CNBC, The Washington Post, The Wall Street Journal และ The Financial Times

33782zu-highres

โดยจากการรายงานของสำนักข่าว Bloomberg ในปีนี้ ไม่มีมหาเศรษฐีจากรัสเซียและจีนเข้าร่วมการประชุมดาวอสเลย คาดว่าเกิดขึ้นจากปมความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และระหว่างรัสเซียกับผู้นำตะวันตกทั่วโลก เพราะมีรายงานว่าผู้นำของยูเครนจะปรากฎตัวในงานประชุม แต่อาจจะเป็นการพูดคุยทางวีดีโอ

ส่วนทางด้านไทย ในปีนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุม โดยมีกำหนดเข้าร่วมประชุมในวันที่ 17-18 มกราคม ในหัวข้อ Health Systems Transformation ซึ่งที่ประชุมจะหารือกันถึงความร่วมมือระดับโลกทั้งภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับระบบดูแลสุขภาพที่มีความยั่งยืน และหัวข้อ The Pulling Power of ASEAN เกี่ยวกับบทบาทของอาเซียนท่ามกลางการแข่งขันทางภูมิเศรษฐศาสตร์ที่รุนแรง และบทบาทการมีส่วนช่วยสร้างเสถียรภาพและความมั่งคั่งของโลกตลอดจนความร่วมมือในภูมิภาค

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรียังมีกำหนดการร่วมหารือกับผู้นำจากประเทศต่างๆ ในหัวข้อ How to Restart Global Cooperation ซึ่งจะว่าด้วยความร่วมมือระดับโลกในระยะต่อไปเพื่อรับกับความท้าทายระดับโลกในประเด็นหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน เศรษฐกิจที่อ่อนแอลง วิกฤตการณ์ด้านอาหารและพลังงาน รวมถึงมีกำหนดการพบปะกับผู้แทนประเทศและผู้บริหารองค์กรธุรกิจระดับโลกเป็นการเฉพาะหลายรายด้วยกัน

 

5 ประเด็นหลักของการประชุมดาวอส 2023

สืบเนื่องมาจากวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา การประชุมดาวอสในปีนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อร่วมหาวิธีแก้ปัญหาระดับโลกและป่องกันความเสี่ยงในระดับโครงสร้างต่างๆ ที่กำลังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลกในปัจจุบัน โดยมี 5 หัวข้อใหญ่ๆ ดังนี้คือ

  1. ปัญหาวิกฤตพลังงาน และความมั่นคงด้านอาหาร ที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนจากภาวะโลกร้อน
  2. ภาวะเงินเฟ้อ การเติบโตต่ำ ปัญหาหนี้ของประเทศทั่วโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้นหลังโควิด จากการที่ธนาคารกลางเริ่มใช้นโยบายทางการเงินเพื่อลดเงินเฟ้อ ในขณะที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ ทำให้เศรษฐกิจเสี่ยงเข้าสู่ภาวะซบเซา
  3. การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปช่วยในการทำธุรกิจในถาคอุตสาหกรรมต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพและความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
  4. ความเปราะบางทางสังคมในช่วงหลังโควิด ที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านการใช้ชีวิตมากมาย เช่น การทำงาน 
  5. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทำให้เกิดวิกฤตพลังงาน รวมไปถึงความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน




ที่มา: World Economic Forum, Quartz, Bloomberg, Reuters, รัฐบาลไทย








advertisement

SPOTLIGHT