ข่าวเศรษฐกิจ

แบงก์ชาติชี้ส่วนต่างดอกเบี้ยเป็นไปตามกลไกตลาด สั่งแบงก์ลดขึ้นดอกเบี้ย ขยายมาตรการช่วยลูกหนี้แล้ว

16 ม.ค. 67
แบงก์ชาติชี้ส่วนต่างดอกเบี้ยเป็นไปตามกลไกตลาด สั่งแบงก์ลดขึ้นดอกเบี้ย ขยายมาตรการช่วยลูกหนี้แล้ว

ธปท. แถลงสถานการณ์และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้หลังกนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยการเงิน เผยมีการออกและขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่อง พร้อมออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เริ่มบังคับใช้ปีนี้ ชี้ส่วนต่างดอกเบี้ยเป็นไปตามกลไกตลาด ธนาคารยังไม่ขาดสภาพคล่อง ไม่มีแจงจูงใจให้ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. นางสาว สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยในงาน BOT Policy Briefing ว่า ธปท. ได้มีการออกและขยายมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องหลังกนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ด้วยการดูแลให้การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง รวมไปถึงขยายระยะเวลาให้สินเชื่อฟื้นฟูจากเดือนเมษายนมาเป็นจนกว่าจะหมดวงเงินอนุมัติ

มีการส่งผ่านดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อยต่ำกว่า 50% 

นางสาว สุวรรณีกล่าวว่า เพื่อดูแลไม่ให้การขึ้นดอกเบี้ยของกนง. กระทบกับลูกหนี้รายย่อยมากเกินไป ธปท. ได้กำกับดูแลให้การส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จริงอยู่ในระดับที่ต่ำ 

โดยในปัจจุบัน แบงก์ชาติดูแลให้มีการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายไปยังดอกเบี้ย MRR หรืออัตราดอกเบี้ยรูปแบบลอยตัว (Floating Rate) ที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อย เพียง 49% ทำให้หากแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 200 basis points ดอกเบี้ย MRR ในธนาคารพาณิชย์จะขึ้นเพียงประมาณ 100 basis basis points ซึ่งน้อยกว่าประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ และออสเตรเลียที่มีการส่งผ่านดอกเบี้ย 100% และ 96% ตามลำดับ

ทั้งนี้ อัตราการส่งผ่านดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ เช่น MOR และ MLR นั้นสูงกว่าอัตราการส่งผ่านดอกดเบี้ยสำหรับรายย่อยทั้งหมด ซึ่งอยู่ที่ 64% และ 69% ตามลำดับ

มีการออกและขยายมาตรการดูแลลูกหนี้ต่อเนื่อง 

นอกจากการดูแลอัตราการส่งผ่านดอกเบี้ย แบงก์ชาติยังได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยอีกทางหนึ่ง ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของกนง. มากเกินไป เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ 

จากข้อมูลของแบงก์ชาติ กลุ่มลูกหนี้ที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบันคือ กลุ่มลูกหนี้สินเชื่อรถยนต์ที่มีรายได้ต่ำ เพราะรถยนต์เป็นสินทรัพย์ที่มีการเสื่อมค่า มูลค่าจะสวนทางกับยอดหนี้ ทำให้บางคนที่ไม่มีรายได้พอจ่ายค่ารถก็จะมีการปล่อยรถออกไป ทำให้ราคาสรถมือสองลดลงมากในปัจจุบัน

นอกจากลูกหนี้สินเชื่อรถยนต์ อีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือลูกหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย เพราะแม้ค่างวดบ้านของลูกหนี้ส่วนมากจะคงเดิมเพราะเป็นค่างวดบ้านส่วนมากเป็น fixed installment แต่ดอกเบี้ยของลูกหนี้บางส่วนอาจเพิ่มขึ้น เพราะธนาคารไม่ได้คิดค่างวดเผื่อการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยหรือ ‘บัฟเฟอร์’ ไว้มากเพียงพอ

ดังนั้น แบงก์ชาติจึงได้มีการพูดคุยกับธนาคารพาณิชย์เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้วยการขยายระยะมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูไปจนกว่าจะหมดวงเงินอนุมัติ และการออกหลักเกณฑ์ Responsible Lending ซึ่งกำหนดบทบาทให้เจ้าหนี้รับผิดชอบลูกค้าตลอดวงจรการเป็นหนี้อย่างเหมาะสม

ตั้งแต่เริ่มมาตรการจนถึง ต.ค. ปี 2023 แบงก์ชาติได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งหมด 6.1 ล้านบัญชี เป็นมูลค่าถึง 3.46 ล้านล้านบาท และได้อนุมัติให้สินเชื่อฟื้นฟูแล้ว 2.59 แสนล้านบาท แก่เจ้าของธุรกิจ 65,931 ราย โดยแต่เดิมมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูนี้จะหมดเขตตั้งแต่เดือนเม.ย. ปี 2023 แต่ได้ถูกขยายระยะเวลาไปจนถึงวงเงินจะหมด ซึ่งในปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 16,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในวันที่ 1 ม.ค. 2024 ที่ผ่านมา ธปท. ยังได้เริ่มบังคับใช้หลักเกณฑ์ Responsible Lending เพื่อกำกับดูแลให้เจ้าหนี้ทั้งธนาคารและนอนแบงก์ดูแลคุ้มครองลูกหนี้อย่างเหมาะสม อย่างเช่น 

  • การห้ามคิดค่าปรับชำระหนี้ก่อนกำหนด ยกเว้นหนี้บ้าน 
  • การกำหนดหลักเกณฑ์การแก้หนี้ที่เข้มขึ้น ให้เจ้าหนี้ปรับโครงสร้างหนี้อย่างน้อยให้ 1 ครั้งก่อนให้เป็นหนี้เสีย และเมื่อเป็นหนี้เสีย เจ้าหนี้ต้องปรับให้อย่างน้อยอีก 1 ครั้ง ก่อนขายหรือฟ้อง
  • การกำหนดหลักการโฆษณาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ให้ข้อมูลอย่างถูกต้อง ครบถ้วน เปรียบเทียบได้ และไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้มากเกินควร

 

ส่วนต่างดอกเบี้ยเป็นไปตามกลไกตลาด ขึ้นอยู่กับการบริหารของธนาคาร

สำหรับกรณีที่มีผู้ท้วงถึงส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ที่อาจมากเกินไปนั้น นางสาว สุวรรณีกล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากเป็นไปตามกลไกตลาด เพราะในปัจจุบัน ธนาคารยังมีสภาพคล่องอยู่ คนยังฝากเงินในบัญชีเงินออม ทำให้ธนาคารไม่มีแรงจูงใจที่จะขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับบัญชีเงินออม

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยยังขึ้นอยู่กับนโยบายในการบริหารจัดการทรัพย์สินของธนาคารพาณิชย์ แบงก์ชาติไม่มีส่วนกำหนด และในปัจจุบันเนื่องจากยังไม่พัฒนาการทางเศรษฐกิจใดๆ ที่ผิดปกติ กนง. จึงจะไม่มีการประชุมนัดพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหานี้

อย่างไรก็ตาม ผู้ฝากเงินอาจหาทางเลือกอื่นที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่ในปัจจุบันสูงกว่าดอกเบี้ยเงินออม หลังจากมีกระแสคนถอนเงินอยู่ช่วงหนึ่ง หรือ e-saving และผู้เล่นอื่นๆ เพราะจะทำให้เกิดการแข่งขัน และทำให้มีการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากตามมา

ในระยะยาว ธปท. มีแนวนโยบายส่งเสริมการแข่งขันอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม โดยเปิดให้มี Virtual Bank เพื่อเพิ่มผู้เล่นใหม่และสนับสนุนให้แบงก์นำเทคโนโลยีมาพัฒนาบริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้เพิ่มเติม รวมไปถึงทบทวนกฎกติกาในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานสำคัญให้ทั้ง ธพ. และ non-bank เข้าถึงได้บนมาตรฐานเดียวกัน

นอกจากนี้ ในด้านดอกเบี้ยเงินกู้ แบงก์ชาติยังมีแนวคิดผลักดันให้มีการคิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ โดยถ้าหากเป็นลูกหนี้พฤติกรรมดี ที่ความเสี่ยงต่ำก็ควรที่จะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าคนที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งในกรณีนี้จะผลักดันให้มีการสร้างกลไก open data for consumer empowerment ให้ประชาชนหรือ SMEsใช้สิทธิส่งข้อมูลของตนเองที่มีอยู่กับผู้ให้บริการต่าง ๆ (เช่น ข้อมูลบัญชีเงินฝาก ประวัติการชำระค่าน้ำ-ค่าไฟ ประวัติการใช้จ่าย) ผ่านช่องทางดิจิทัลได้สะดวก ปลอดภัย เพื่อประกอบการขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงเงินทุน ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะกับความเสี่ยงของผู้กู้



advertisement

SPOTLIGHT