ข่าวเศรษฐกิจ

จีนใช้กลยุทธ์ “การทูตทุเรียน” หวังกระชับความสัมพันธ์กับชาติอาเซียน

15 ก.พ. 66
จีนใช้กลยุทธ์ “การทูตทุเรียน” หวังกระชับความสัมพันธ์กับชาติอาเซียน

รู้หรือไม่ ประเทศไทยเคยเป็นชาติเดียวที่จีนเปิดตลาดให้ส่งออกทุเรียนสดไปจำหน่ายในประเทศได้ จนกระทั่งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้ จีนได้เริ่มเปิดให้ประเทศอื่นในอาเซียนคือ เวียดนามและฟิลิปปินส์ ส่งออกทุเรียนสดเข้าจีนด้วย

ในปี 2022 ทุเรียนที่ไทยส่งออกไปยังจีนสร้างรายได้ให้ไทยถึง 106,038,468,861 บาท เติบโตขึ้น 7.86% และขณะนี้กำลังสร้างรายได้ สร้างงาน ให้กับเวียดนามและฟิลิปปินส์ ด้วยเช่นกัน 

ทำไมจีนจึงเริ่มปล่อยให้ประเทศอาเซียนส่งออกทุเรียนเข้าไปมากขึ้น? รู้จัก “การทูตทุเรียน” วิธีที่จีนใช้กระชับความสัมพันธ์กับชาติอาเซียนด้วยการนำเข้าทุเรียน และขยายอิทธิพลทางการค้าในภูมิภาคที่ทำให้ชาติอาเซียนพึ่งพาผู้บริโภคในตลาดจีนมากยิ่งขึ้น

 

ทำไมต้องใช้ทุเรียนสร้างความสัมพันธ์กับชาติอาเซียน?

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศมาเลเซีย ก่อนจะถูกนำไปปลูกในประเทศใกล้เคียงอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย เวียดนามและพม่า โดยมีหลักฐานชี้ว่าผลไม้ประเภทนี้เป็นที่รู้จัก และถูกนำเพาะปลูกและบริโภคอย่างแพร่หลายตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนจะเป็นที่รู้จักในชาติตะวันตกเมื่อ 600 ปีก่อน หลังมีชาติอื่นเข้ามาติดต่อค้าขายกับประเทศในแถบอาเซียน

เพราะเหตุนี้ ทุเรียนจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นอัตลักษณ์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเป็นสิ่งหนึ่งที่หลายๆ ชาติอาเซียนมีร่วมกัน

istock-1324661148

ในทางการทูต การสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศอาเซียนด้วยทุเรียนจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลเพราะทุเรียนเป็นผลไม้ที่ประเทศอาเซียนเกือบทุกประเทศเพาะปลูกและส่งออก และจีนเป็นตลาดที่มีผู้ต้องการบริโภคทุเรียนสูงอยู่แล้ว โดยจากข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จากคนจีน 100 คน จะมีถึง 8 คนที่บริโภคทุเรียน ซึ่งถ้าพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่าปัจจุบันจีนมีประชากร 1,400 คนแล้ว เท่ากับว่าในจีนจะมีคนบริโภคทุเรียนถึง 112 ล้านคนเลยทีเดียว

ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของทุเรียนแล้ว การที่จีนเริ่มนำเข้าทุเรียนจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียนนอกจากไทยในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจึงถูกมองว่าเป็นกลยุทธ์หนึ่งของจีนที่จะขยายอิทธิพลทางการค้าเข้ามาในภูมิภาค และกระชับความสัมพันธ์กับชาติอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างที่สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ กำลังคุกรุ่น ทำให้สองประเทศต้องพยายามรวบรวมพันธมิตรทั้งทางการเมืองและการค้าให้มากที่สุด 

 

การทูตทุเรียนจะส่งผลอย่างไรต่ออาเซียนและไทย? 

การที่จีนเริ่มนำเข้าทุเรียนจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียนมากขึ้น แน่นอนว่าจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจของอาเซียนโดยรวมที่จะมีรายได้จากการส่งออกทุเรียนมากขึ้น ถึงแม้ไทยอาจจะถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดที่เราเคยเป็นผู้ผูกขาดไปบ้าง โดยเฉพาะเวียดนามและฟิลิปปินส์ที่เพิ่งได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนสดไปที่จีนอย่างถูกกฎหมายเมื่อช่วงปลายปี 2022 และต้นปี 2023 ที่ผ่านมา

จากการรายงานของ SCMP จีนได้อนุญาตให้ผู้ปลูกทุเรียน 51 ราย และบริษัทแพ็คทุเรียนสด 25 รายจากเวียดนามส่งออกทุเรียนสดไปที่จีนอย่างถูกกฎหมาย ก่อนในวันที่ 4 มกราคม จีนจะเปิดให้ฟิลิปปินส์เป็นอีกประเทศที่สามารถส่งออกทุเรียนสดได้ โดยหลังจากลงนามในความตกลงเพื่อส่งออกและนำเข้าทุเรียนสดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางการฟิลิปปินส์ก็ได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ว่า การส่งออกทุเรียนไปจีนนี้จะสร้างรายได้ใฟ้ฟิลิปปินส์ถึง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสร้างงานโดยตรงถึง 9,696 ตำแหน่ง

ในอดีต ไทยเคยเป็นประเทศเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนสดไปยังประเทศจีน เนื่องจากรัฐบาลไทย-จีน ได้มีการลงนามในพิธีสารว่าด้วยการนำเข้า-ส่งออกผักผลไม้ผ่านประเทศที่ 3 โดยในปี 2022 ทุเรียนที่ไทยส่งออกไปยังจีนสร้างรายได้ให้ไทยถึง 106,038,468,861 บาท เติบโตขึ้น 7.86% จากปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ความสัมพันธ์ทางการค้านี้จะส่งผลดีในด้านเศรษฐกิจ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ได้ออกมาแสดงความกังวลว่านี่อาจทำให้ประเทศอาเซียนตกที่นั่งลำบากได้ในอนาคตหากมีความขัดแย้งกับจีน หรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือกระหว่างจีนและมหาอำนาจอื่น เพราะจีนสามารถใช้ความสัมพันธ์ทางการค้านี้มาบีบประเทศคู่ค้าให้ยอมทำตามที่จีนต้องการได้ ซึ่งการคว่ำบาตรหรือตัดขาดการค้าเพราะเหตุผลทางการเมืองนี้ก็เป็นสิ่งที่จีนเคยทำมาแล้วหลายครั้ง

 

นักวิชาการชี้จีนอาจใช้การทูตทุเรียนกับข้อพิพาททะเลจีนใต้

Andrea Chloe Wong อดีตนักวิเคราะห์ที่ Foreign Service Institute ของฟิลิปปินส์ กล่าวกับ SCMP ว่าในอดีตจีนเคยใช้ความสัมพันธ์การค้ามาลงโทษประเทศที่มีความขัดแย้งด้านการเมืองกับจีนมาแล้วหลายครั้ง

หนึ่งตัวอย่างสำคัญของมาตรการนี้ ก็คือการที่จีนสั่งห้ามไม่ให้มีการนำเข้ากล้วยจากฟิลิปปินส์ในปี 2012 โดยอ้างว่าเป็นเพราะกล้วยมีเพลี้ยแป้ง แต่แท้จริงแล้วเป็นเพราะข้อพิพาททะเลจีนใต้ที่หมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์ (Scarborough Shoal) หรือหมู่เกาะหวงเหยียน ในทะเลจีนใต้ ที่ทั้งสองประเทศถกเถียงกันอยู่ว่าใครมีกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่นั้น ซึ่งในปัจจุบัน อีก 2 ประเทศที่มีส่วนร่วมในการแย่งกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้ก็คือ เวียดนาม และมาเลเซีย 

นี่ทำให้นักวิชาการคาดว่าจีนอาจวางแผนบีบให้ประเทศอาเซียนเลิกอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ดังกล่าวในอนาคตด้วยการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า เพราะเมื่อชาติอาเซียนต้องพึ่งรายได้จากจีนมากแล้ว การตัดสัมพันธ์ในภายหลังเพื่อเป็นการลงโทษจะทำให้ชาติเหล่านี้เจ็บหนักมากยิ่งขึ้น

ซึ่งถ้าแผนนี้เป็นจริง ก็นับว่าจีนวางแผนขยายอิทธิพลเพื่อหวังผลทั้งทางการทูต การค้า และการเมืองได้อย่างแยบยลทีเดียว ถึงแม้ไทยอาจจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรเพราะไม่ได้เข้าไปมีความขัดแย้งทางการเมืองกับจีน และไม่ได้มีส่วนร่วมกับข้อพิพาทนี้

อย่างไรก็ตาม ไทยก็ถือว่าเป็นคู่ค้าที่สำคัญกีบจีน เพราะจีนเป็นตลาดที่สำคัญของสินค้าส่งออกหลายประเภทของไทย ไม่ใช่แค่ผลไม้สด เพราะฉะนั้นถ้าในอนาคตมีเหตุการณ์ที่ทำให้เราต้องมีความขัดแย้งกับจีน การทูตทุเรียนนี้ก็อาจย้อนกลับมาทำร้ายเราเช่นกัน

 

ที่มา: SCMPศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากรกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 













advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT