ข่าวเศรษฐกิจ

'อินเดีย' จ่อผงาดเศรษฐกิจอันดับ 3 อีก 7 ปี ได้แซง ‘ญี่ปุ่น - เยอรมนี’

1 ธ.ค. 65
'อินเดีย' จ่อผงาดเศรษฐกิจอันดับ 3  อีก 7 ปี ได้แซง ‘ญี่ปุ่น - เยอรมนี’

หลังจากที่เพิ่งแซงอดีตประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ และก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกแล้วนั้น ประเทศอินเดียก็มีแววว่าจะก้าวขึ้นมาแซงประเทศญี่ปุ่น และเยอรมนี สู่อันดับ 3 ของโลกในเวลาอีก 7 ปี

 

ประเทศอินเดีย

 

 

โดยศูนย์วิจัยด้านการตลาดของ S&P Global คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน (Nominal GDP) ของประเทศอินเดียจะเติบโตขึ้นปีละ 6.3% ตั้งแต่ปี 2021 ไปจนถึงปี 2030 ซึ่งจะทำให้ขนาดเศรษฐกิจของอินเดียก้าวข้ามประเทศ ญี่ปุ่น และเยอรมนี จากปัจจัยการเปิดเสรีด้านการค้าและการเงิน การพลิกโฉมตลาดแรงงาน รวมไปถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และทรัพยากรมนุษย์

 

รัฐบาลอินเดียมุ่งมั่นที่จะปั้นประเทศให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตของนานาชาติ โดยได้ออก ‘โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการผลิต’ (Production Linked Incentive Schemes ; PLIS) มูลค่ากว่า 32,380 ล้านรูปี (ราว 1.39 หมื่นล้านบาท) เพื่อกระตุ้นการลงทุนของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ด้วยหลากหลายมาตรการอุดหนุน อาทิ การคืนภาษี การจัดสรรที่ดินสำหรับกิจการเฉพาะทาง ฯลฯ

 

ธงชาติอินเดีย

 

ด้าน Morgan Stanley วาณิชธนกิจรายใหญ่จากสหรัฐ มีมุมมองในทิศทางเดียวกัน โดยคาดว่า GDP ของอินเดียมีโอกาสเติบโตกว่า 2 เท่า ภายในปี 2031 จากอานิสงส์การย้ายฐานการผลิตของต่างชาติ การลงทุนขยายฐานการผลิต การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ล้ำหน้ากว่าประเทศอื่นๆ ใน

 

นอกจากนี้ Morgan Stanley ยังเผยว่า สัดส่วนของ GDP ที่มาจากภาคการผลิตของอินเดีย จะเพิ่มจาก 15.6% ในปัจจุบัน สู่ 21% ในปี 2031 สะท้อนให้เห็นว่า รายได้จากภาคการผลิตอาจโตได้ถึง 3 เท่าตัว จาก 4.47 แสนล้านดอลลาร์ (15.6 ล้านล้านบาท) เป็น 1.49 ล้านล้านดอลลาร์ (52.1 ล้านล้านบาท)

 

รถไฟ อินเดีย

 

อย่างไรก็ดี ในระยะใกล้นี้ อินเดียก็ยังมีความท้าทายที่ทำให้หลายสถาบันระดมหั่น GDP ในปีหน้าลง เช่น Goldman Sachs ได้ปรับคาดการณ์การเติบโตของ GDP ในปี 2023 ลงเหลือ 5.9% เทียบกับการเติบโต 6.9% ในปี 2022 จากปัจจัยด้านต้นทุนการกู้ยืม หรือแรงส่งแง่บวกจากเศรษฐกิจช่วงเปิดประเทศที่เสื่อมลง

 

หรือในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนนี้ ด้าน Moody’s เอง ก็หั่นคาดการณ์การเติบโตของปี 2022 จาก 7.7% เหลือ 7% อันเนื่องมาจากเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง 

 

 สำหรับอันดับประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด 5 อันดับจากการจัดอันดับของ World O Meter เป็นดังนี้

 

  1. สหรัฐอเมริกา GDP 19.485 ล้านล้านดอลลาร์
  2. จีน GDP 12.238 ล้านล้านดอลลาร์
  3. ญี่ปุ่น GDP 4.872 ล้านล้านดอลลาร์
  4. เยอรมนี GDP 3.693 ล้านล้านดอลลาร์
  5. อินเดีย GDP 2.651 ล้านล้านดอลลาร์

 

ที่มา : CNBC, DITP, WorldoMeter

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT