ข่าวเศรษฐกิจ

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติญี่ปุ่นยอมขอโทษ ปากลั่น "ประชาชนยอมรับของแพงได้"

8 มิ.ย. 65
ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติญี่ปุ่นยอมขอโทษ ปากลั่น "ประชาชนยอมรับของแพงได้"

 

"พลาดได้ ก็ต้องขอโทษได้" ผู้ว่าแบงก์ชาติญี่ปุ่นแถลงขอโทษหลังพูดว่า ชาวญี่ปุ่นยอมรับภาวะของแพงได้ ขณะที่ รมว.คลังสหรัฐก็ยอมรับเก็งเงินเฟ้อพลาดเหมือนกัน


ว่ากันว่าคนระดับ "ผู้นำ" ต้องระวังคำพูดเป็นพิเศษ เพราะเป็นคนที่มี "อำนาจ" (และความรู้) ดังนั้นจึงต้องมี "ความรับผิดชอบ" ในสิ่งที่พูดออกไปด้วย ดังเช่นที่ ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ พ่อหนุ่มแมงมุมเคยพูดเอาไว้สวยๆ ในหนังว่า "With great power comes great responsibility"


ดังนั้น ผู้นำที่กล้าพูดว่า "ประชาชนยอมรับภาวะของแพงได้" จึงอาจต้องลองมานั่งทบทวนคำพูดตัวเองใหม่ว่า ประชาชนคนหาเช้ากินค่ำและมนุษย์เงินเดือนทั่วไป เขายอมรับได้หรือเขาอยู่ในภาวะจำใจต้องรับให้ได้กันแน่


เรื่องราวนี้กำลังทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกรียวกราวในประเทศ "ญี่ปุ่น" เมื่อนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานเสวนาของสำนักข่าวเกียวโดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ว่า ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นสามารถยอมรับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ได้แล้ว

ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ
ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ

เหตุการณ์ต้นเรื่องนั้น มาจากการที่นายคุโรดะกล่าวอ้างอิงผลสำรวจความเห็น ซึ่งจัดทำโดยนายผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยโตเกียว ว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ได้รับการสำรวจกล่าวว่า ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น 10% นั้น จะไม่ทำให้พวกเขาหยุดซื้อสินค้าต่างๆ ในร้านค้า


"หนึ่งในข้อสันนิษฐานก็คือว่า การที่ผู้บริโภคถูกสถานการณ์บีบให้ต้องออมเงินในช่วงที่รัฐบาลบังคับใช้มาตรการควบคุมโควิด-19 นั้น อาจนำไปสู่พัฒนาการที่ว่า ผู้บริโภคสามารถยอมรับราคาสินค้าที่สูงขึ้นได้" นายคุโรดะ กล่าว


โดยทั่วไปนั้น ประชาชนจะยอมรับภาวะข้าวของที่แพงขึ้นได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู งานไม่ขาด เงินเดือนก็ขึ้น ทำมาค้าขายคล่องตัว เล่นหุ้นดี ซึ่งนั่น"ไม่ใช่ภาวะปัจจุบัน"ที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวลง 0.5% ในไตรมาสแรกปีนี้ และอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดรอบ 7 ปี โดยยังคงเป็นผลกระทบจากโควิด ภาวะราคาน้ำมันแพงที่กดดันต้นทุน และภาคการท่องเที่ยวที่ปิดประเทศมายาวเกือบ 2 ปี

กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ล่าสุด ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติญี่ปุ่นได้ออกมาแถลงขอโทษแล้ว ซึ่งการขอโทษในลักษณะเช่นนี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก หลังจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาแสดงความเห็นที่ไม่เหมาะสม


นายคุโรดะแถลงข่าวที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นว่า "ผมไม่ได้หมายความว่าผู้บริโภคเต็มใจยอมรับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ผมต้องขอโทษหากว่าคำพูดของผมทำให้เกิดการเข้าใจผิด"


นายคุโรดะชี้แจงว่า การแสดงความเห็นของเขานั้นอยู่ในบริบทที่ว่า "มีผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นที่ต้องการค่าแรงเพิ่มขึ้น" แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้บริโภคถูกบีบให้ยอมรับราคาสินค้าที่แพงขึ้น ซึ่งเป็นความเจ็บปวดที่ไม่อาจเลือกได้


"ผมขอน้อมรับคำวิจารณ์เกี่ยวกับคำถามที่ว่า เป็นเรื่องเหมาะสมหรือไม่ที่จะพูดว่าผู้บริโภคสามารถยอมรับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น" นายคุโรดะ กล่าว


นอกจากผู้ว่าการแบงก์ชาติญี่ปุ่นแล้ว ก่อนหน้านี้ไม่นานก็เพิ่งมีเหตุการณ์คล้ายๆ กันเกิดขึ้นที่ "สหรัฐ" เมื่อนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คนก่อนหน้านี้มาหมาดๆ ยอมรับกับสื่อว่า "เธอพลาดเองที่เคยคาดการณ์ว่าภาวะเงินเฟ้อสหรัฐจะเป็นแค่ภาวะชั่วคราว"

เจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐ
เจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐ และอดีตผู้ว่าการเฟด

เยลเลนซึ่งเคยกุมบังเหียนเฟดมา 4 ปี และผู้ว่าการเฟดคนปัจจุบันที่มารับไม้ต่ออย่าง เจอโรม พาวเวลล์ ต่างย้ำสัญญาณมาตลอดปี 2021 ที่ผ่านมาว่า ภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐที่กำลังปรับตัวสูงขึ้นนั้น เป็นแค่ภาวะชั่วคราว (Transitory) และจะจบลงในปีเดียวกันนั้น


แต่กลายเป็นว่าสถานการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เงินเฟ้อสหรัฐพุ่งแรงต่อเนื่องตลอดปี 2022 นี้ และจากที่ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดรอบ 30 ปีเมื่อช่วงต้นปี ปัจจุบันกลายเป็นพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปีไปแล้ว เมื่อราคาน้ำมันโลกพุ่งทะลุ 120 ดอลลาร์/บาร์เรล


เยลเลนกล่าวยอมรับขณะที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN ว่า เธอคาดการณ์ทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐผิดพลาด โดยคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในปีที่แล้วจะไม่ขยับพุ่งแรงจนก่อให้เกิดปัญหาที่ตามมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีเหตุปัจจัยที่กระตุ้นให้ราคาอาหารและพลังงานแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประจวบเหมาะกับที่ปัญหาคอขวดในระบบซัพพลายเชนยังไม่คลี่คลายดี จนส่งผลลบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทั้งหมดนี้ เธอยอมรับว่าในขณะนั้น ตนเองยังไม่มีความเข้าใจต่อสถานการณ์โดยรวมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นอย่างถ่องแท้พอ

 

advertisement

SPOTLIGHT