Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ฟอร์ดไม่รอด คาดภาษีทรัมป์ทำรายได้หด 4.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มต้นทุนอ่วม
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ฟอร์ดไม่รอด คาดภาษีทรัมป์ทำรายได้หด 4.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มต้นทุนอ่วม

6 พ.ค. 68
11:34 น.
แชร์

ฟอร์ดระงับแนวโน้มการเงินประจำปี เซ่นผลกระทบภาษีทรัมป์ คาดสูญรายได้ก่อนดอกเบี้ย-ภาษีราว 1.5 พันล้านดอลลาร์

บริษัท Ford Motor ประกาศระงับการให้แนวโน้มผลประกอบการประจำปีเมื่อวันจันทร์ (ตามเวลาสหรัฐ) เนื่องจากความไม่แน่นอนจากนโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยคาดว่าภาษีดังกล่าวจะสร้างต้นทุนให้กับบริษัทประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์ ในแง่ของรายได้ที่ปรับปรุงแล้วก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT)

นอกจากนี้ ผู้บริหารของ Ford ยังระบุว่า ภาษีตอบโต้ของทรัมป์คาดว่าจะเพิ่มต้นทุนให้ฟอร์ดรวมทั้งปี ถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะการนำเข้ารถยนต์จาก เม็กซิโกและจีน เพราะแม้บริษัทจะระงับการส่งออกรถยนต์ไปจีน แต่ยังมีการนำเข้ารถบางรุ่น เช่น Lincoln Nautilus จากจีนอยู่

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Ford เคยคาดการณ์กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษีปี 2025 ไว้ที่ 7.0 ถึง 8.5 พันล้านดอลลาร์ โดยยังไม่รวมผลกระทบจากภาษี โดยแม้คู่แข่งอย่าง General Motors (GM) จะปรับเป้าแนวโน้มใหม่พร้อมรวมผลกระทบจากภาษีแล้ว แต่ Ford เลือกที่จะระงับการให้แนวโน้มจนกว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นทั้งในด้าน ภาษีตอบโต้จากต่างประเทศ และ พฤติกรรมผู้บริโภคต่อราคาขายที่อาจเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานปัจจุบัน บริษัทยังสามารถลดต้นทุนได้ราว 1 พันล้านดอลลาร์ ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การขนส่งรถจากเม็กซิโกไปแคนาดาด้วยระบบ bond carrier เพื่อลดการเสียภาษีในสหรัฐ

จิม ฟาร์ลีย์ CEO ของ Ford กล่าวกับนักวิเคราะห์ในช่วงเย็นวันจันทร์ว่า "ยังเร็วเกินไปที่จะเข้าใจการตอบสนองของคู่แข่งต่อภาษีเหล่านี้อย่างถ่องแท้ แต่ที่ชัดเจนคือ ผู้ผลิตที่มีฐานการผลิตในสหรัฐมากที่สุดจะได้เปรียบอย่างมากในสภาพแวดล้อมใหม่นี้"

หลังปิดตลาดหุ้นสหรัฐฯ หุ้นของ Ford ปรับตัวลดลงประมาณ 2.3% ในการซื้อขายนอกเวลาทำการ

ผลประกอบการไตรมาส 1: กำไรลด แต่ยังดีกว่าคาด

จากรายงาน กำไรต่อหุ้นในไตรมาสแรกของ Ford อยู่ที่ 14 เซนต์ โดยแม้จะลดลงจาก 49 เซนต์ เมื่อปีก่อน แต่ก็สูงกว่าที่นักวิเคราะห์จาก LSEG คาดไว้เพียง 2 เซนต์ ต่อหุ้น

บริษัทเผยว่า การปรับปรุงด้านต้นทุนและคุณภาพผลิตภัณฑ์ช่วยให้ผลประกอบการออกมาดีกว่าคาด แม้ก่อนหน้านี้เคยเตือนว่าไตรมาสแรกจะได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในหลายโรงงาน

ทั้งนี้ กำไรสุทธิของ Ford ร่วงลงอย่างมากจาก 1.3 พันล้านดอลลาร์ เหลือเพียง 471 ล้านดอลลาร์ ขณะที่รายได้รวมในไตรมาสแรกอยู่ที่ 4.07 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลง 5% จากปีก่อนหน้า แต่ยังดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ราว 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยแบ่งเป็นผลประกอบการตามหน่วยธุรกิจ ได้ดังนี้

  • Ford Pro (รถเชิงพาณิชย์): รายได้ไตรมาส 1 อยู่ที่ 1.52 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลง 16% จากปีก่อน
  • เครื่องยนต์น้ำมัน: รายได้ไตรมาส 1 อยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์
  • Model e (EV + ซอฟต์แวร์): รายได้ไตรมาส 1 อยู่ที่ อยู่ที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์

บริษัทชี้ว่า ความกังวลของผู้บริโภคต่อการขึ้นราคาหลังมีภาษีใหม่ส่งผลให้ยอดขายรถเพิ่มขึ้นในระยะสั้น โดย Ford เป็นหนึ่งในไม่กี่ค่ายที่อัดโปรโมชั่นเพื่อเร่งยอดขายและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดช่วงนั้น

นอกจากภาษีแล้ว Ford ยังต้องเผชิญผลขาดทุนจำนวนมากจากธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยปีนี้บริษัทคาดว่าจะขาดทุนจาก EV และธุรกิจซอฟต์แวร์สูงสุดถึง 5.5 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่นับตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นมา Ford ขาดทุนจากธุรกิจนี้แล้วมากกว่า 10 พันล้านดอลลาร์

Reuters รายงานพิเศษว่า Ford ได้ยกเลิกโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มโครงสร้างไฟฟ้ารุ่นใหม่ชื่อ FNV4 เนื่องจากประสบปัญหาล่าช้าและต้นทุนสูงเกินควบคุม โดย CEO ฟาร์ลีย์ ระบุว่า “การยกเลิกการพัฒนาครั้งนี้ถือเป็นการประหยัดต้นทุนที่สำคัญมาก”

ภาษีทรัมป์กดต้นทุนทั้งอุตสาหกรรม

จากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ การจัดเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน คาดว่าจะทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นรวมกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ ในปีนี้

แม้รัฐบาลทรัมป์จะมีการผ่อนผันภาษีบางรายการเมื่อเดือนก่อน โดยให้เครดิตภาษีสูงสุด 15% สำหรับรถที่ผลิตในประเทศ แต่ภาพรวมอุตสาหกรรมยังต้องแบกรับภาระภาษีส่วนใหญ่

คู่แข่งของ Ford อย่าง GM เพิ่งปรับลดเป้ากำไรปี 2025 และคาดว่าภาษีใหม่จะเพิ่มต้นทุนสูงสุดถึง 5 พันล้านดอลลาร์ โดยบริษัทหวังว่าจะสามารถเยียวยาได้อย่างน้อย 30% ขณะที่ Ford ซึ่งมีรถที่ผลิตในสหรัฐฯ ถึง 79% เทียบกับ GM ที่มีสัดส่วน 53% จึงได้รับผลกระทบน้อยกว่า ซึ่งนักวิเคราะห์จาก Barclays มองว่าเป็นจุดแข็งที่นักลงทุนยัง “เทใจให้ Ford”

ด้าน Stellantis ผู้ผลิตรถ Jeep ก็เลือกระงับการให้แนวโน้มผลประกอบการเช่นเดียวกัน อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนด้านภาษี

แชร์
ฟอร์ดไม่รอด คาดภาษีทรัมป์ทำรายได้หด 4.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มต้นทุนอ่วม