เวียดนามและเกาหลีใต้ยกระดับความเข้มงวดในการควบคุมการลำเลียงสินค้าจากจีนที่ใช้ประเทศของตนเป็นเส้นทางผ่านเพื่อหลบเลี่ยงภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ โดยทั้งเวียดนามและเกาหลีใต้อยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาลทรัมป์เพื่อให้รัฐบาลสหรัฐฯ ละเว้นหรือลดอัตราภาษีตอบโต้ ที่แม้จะอยู่ในสถานะชะลอการบังคับใช้ชั่วคราว แต่ก็มีแนวโน้มจะถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง
ทั้งสองประเทศได้แสดงจุดยืนพร้อมให้ความร่วมมือกับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้มีการบังคับใช้ภาษีต่อสินค้าจีนอย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่มีความพยายามเปลี่ยนแปลงแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างไม่ถูกต้อง
นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ฟาม มินห์ จิญ ได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคาร ให้เจ้าหน้าที่เร่งตอบสนองต่อข้อกังวลของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการวางมาตรการควบคุมการลักลอบนำเข้า การฉ้อโกงทางการค้า และการปลอมแปลงแหล่งกำเนิดสินค้า
กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าดำเนินมาตรการเข้มงวด โดยเฉพาะกับบริษัทที่มีการยื่นคำขอรับรองจากเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ ซึ่งจะต้องมีการลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานจริง เพื่อยืนยันแหล่งที่มาของสินค้า
กระทรวงฯ เตือนด้วยว่า ภายใต้บรรยากาศความตึงเครียดทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น กรณีการปลอมแปลงแหล่งกำเนิดสินค้าจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และทำให้สถานการณ์ในภาคการส่งออกของเวียดนามมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น
สหรัฐฯ แสดงความสงสัยว่าผู้ผลิตจีนบางรายอาจใช้วิธีจัดตั้งโรงงานในประเทศที่สาม เพียงเพื่อประกอบชิ้นส่วนเล็กน้อยแล้วเปลี่ยนฉลากแหล่งผลิตก่อนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเวียดนามถือเป็นประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2024 เวียดนามมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์
ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ เคยตรวจพบกรณีลักลอบนำเข้าสินค้าและการปลอมแปลงแหล่งกำเนิดในเวียดนาม โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าโทรทัศน์ รองเท้า และเหล็ก
เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ประกาศแผนเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 3,521% กับแผงโซลาร์เซลล์ที่นำเข้าจากเวียดนาม กัมพูชา ไทย และมาเลเซีย ทำให้เวียดนามต้องเร่งแสดงความร่วมมือในการสกัดกั้นการลำเลียงสินค้าเพื่อใช้เป็นเหตุผลต่อรองกับรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ยกเลิกมาตรการดังกล่าว
ฝั่งเกาหลีใต้ กรมศุลกากรเกาหลีได้จัดตั้งทีมเฉพาะกิจเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เพื่อสอบสวนกรณีการปลอมแปลงแหล่งกำเนิดสินค้า โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ หน่วยงานดังกล่าวสามารถยึดของกลางที่ระบุแหล่งกำเนิดเท็จว่าเป็นสินค้าจากเกาหลีใต้ คิดเป็นมูลค่ากว่า 29.5 พันล้านวอน หรือประมาณ 20.7 ล้านดอลลาร์ โดย 97% ของสินค้าดังกล่าวมีปลายทางอยู่ที่สหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี ท่าทีร่วมมือของเกาหลีใต้กับสหรัฐฯ อาจสร้างแรงกดดันทางการทูตจากจีน โดยเมื่อวันจันทร์ กระทรวงพาณิชย์จีนแถลงแสดงความไม่พอใจ พร้อมประกาศคัดค้านอย่างเด็ดขาดต่อการเจรจาที่อาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของจีน โดยจีนไม่ยอมรับให้ประเทศใดใช้การเจรจาทางภาษีเพื่อจำกัดการค้ากับตน
สื่อเกาหลีรายงานเพิ่มเติมว่า จีนได้ส่งจดหมายเตือนไปยังบริษัทเกาหลีใต้หลายแห่ง โดยห้ามไม่ให้ส่งออกสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่หายากจากจีนไปยังบริษัทผู้รับเหมาทางทหารของสหรัฐฯ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ อุปกรณ์การแพทย์ และสินค้าไฮเทคอื่น ๆ
ในจดหมายยังเตือนถึงความเป็นไปได้ที่จีนจะใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการค้าต่อบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวด้วย