สินทรัพย์ดิจิทัล

CZ ซีอีโอไบแนนซ์ตั้ง "กองทุนกอบกู้คริปโทฯ" ดันบิตคอยน์ฟื้นจ่อ 17,000

14 พ.ย. 65
CZ ซีอีโอไบแนนซ์ตั้ง "กองทุนกอบกู้คริปโทฯ" ดันบิตคอยน์ฟื้นจ่อ 17,000

หลังจากตกอยู่ในมรสุมความปั่นป่วนที่เกิดจากการล้มของ FTX มาหลายวัน ในวันนี้วงการคริปโทฯ ก็เริ่มได้เห็นแสงสว่างรำไรกันบ้างแล้ว เมื่อ ‘จ้าง ฉางเผิง’ หรือ CZ เจ้าพ่อ Binance ออกมาประกาศในแอคเคาน์ทวิตเตอร์ส่วนตัวว่าเขากำลังจะตั้ง “กองทุนฟื้นฟูอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี” เพื่อช่วยเหลือธุรกิจคริปโทฯ ที่มีพื้นฐานดี แต่กำลังประสบปัญหาสภาพคล่อง

โดยในเบื้องต้น CZ ยังไม่ได้ให้รายละเอียดว่าเขามีแผนจะตั้งกองทุนนี้อย่างไร หรือกับใคร แต่ระบุเพียงแค่ว่าถ้าบริษัทหรือโปรเจกต์ไหนคิดว่าตัวเองผ่านเกณฑ์ที่จะขอความช่วยเหลือได้ก็ให้ติดต่อไปที่ Binance Labs และประกาศว่าเขายินดีรับความช่วยเหลือจากนักลงทุนรายอื่นเพื่อมาร่วมสร้างอุตสาหกรรมคริปโทฯ ขึ้นมาใหม่ด้วยกัน

czzz

และหลังจากทวีตประกาศตั้งกองทุนและขอความช่วยเหลือไม่นาน จัสติน ซุน (Justin Sun) ผู้ก่อตั้งเหรียญ Tron ก็ออกมาประกาศในแอคเคาน์ทวิตเตอร์อีกด้วยว่า Tron, Huobi Global แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทรายใหญ่จากจีน, และ Poloniex แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทอีกรายจากสหรัฐอเมริกา ก็จะเข้ามาช่วยสนับสนุน Binance ในครั้งนี้ด้วย 

โดยล่าสุด Huobi ก็ได้ออกมาคอนเฟิร์มข่าวนี้แล้วด้วยการตอบใต้โพสของจัสตินว่า“#.RecoverTogetherRecoverStronger” ในขณะที่ Poloniex ยังไม่มีการเคลื่อนไหว

แต่ถึงแม้จะไม่มีรายละเอียดที่แน่นอนออกมา ข่าวการผนึกกำลังช่วยเหลืออุตสาหกรรมคริปโทฯ ของผู้เล่นรายใหญ่นี้ก็เปรียบเสมือนขอนไม้ที่ลอยมาให้ชาวคริปโทฯ เกาะไว้หลังเรือจม 

เพราะหลังจาก CZ ทวีตบอกข่าวเมื่อ 13.39 น. เวลาไทย และจัสตินและ Huobi มาทวีตสนับสนุน ราคาบิตคอยน์ก็ค่อยๆ ดีดขึ้นมาแตะ 16,864.76 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเวลา 15.30 น. หลังตกไปถึง 15,872.94 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเวลา 13.00 น.

bitcoin

ในขณะเดียวกัน เหรียญอื่นๆ เช่น Ethereum, Tether และ BNB ก็ค่อยๆ ทยอยฟื้นจากความตาย โดยเฉพาะ BNB เหรียญของ Binance ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 2% 

โดยก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน CZ ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องให้มีการตั้งกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมดูแลผู้ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรนซีอย่างจริงจัง เพื่อให้การกำกับดูแลมีความชัดเจนและมีเสถียรภาพกว่าในปัจจุบันเพื่อคุ้มครองผู้บริโถคในงานประชุม G20 ที่ประเทศอินโดนีเซีย

"ผมคิดว่าบริษัทในอุตสาหกรรมคริปโทฯควรมีบทบาทในการปกป้องผู้บริโภคทุกคน ไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลเพียงฝ่ายเดียว จริงอยู่ที่หน่วยงานกำกับดูแลมีบทบาทในส่วนนี้ แต่ความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ไม่ได้เป็นของพวกเขาทั้ง 100%" CZ กล่าว

 

ซีอีโอ Crypto.com ยืนยันการเงินบริษัทยังดี กระทบน้อยจาก FTX

อย่างไรก็ตาม นอกจากการออกมาประกาศตั้งกองทุนของ CZ แล้ว ชาวคริปโทฯ ก็เจอเรื่องหายใจหายคอไม่คล่องไปพร้อมๆ กัน เมื่อ Crypto.com แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีในสิงคโปร์ถูกนักลงทุนเพ่งเล็ง หลังมีคนพบว่ามีการโอนเหรียญ Ethereum จำนวน 320,000 ETH มูลค่ามากกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐจาก Cyroto.com ไปยังกระเป๋าเงินของบริษัทใน Gate.io เมื่อเดือนตุลาคม 

การโอนเงินจำนวนมหาศาลไปยังกระดานเทรดอื่นแบบนี้ทำให้นักลงทุนสงสัย ออกมาคาดเดาถึงเหตุผล ก่อน Kris Marszalek ซีอีโอของกระดานเทรด Crypto.com จะต้องออกมาแถลงการณ์ว่าการโอนเงินจำนวนนี้เป็นการโอนผิดโดยพนักงาน โดยตอนแรกตั้งใจจะโอนเงินนี้เข้า Cold Wallet เพื่อเก็บรักษาไว้ และตอนนี้ได้กู้คืนมาหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ถึงจะได้รับคำยืนยันแบบนั้น นักลงทุนก็เกิดระแวงและไม่ไว้ใจความสามารถในการเก็บรักษาทรัพย์สินของ Crypto.com ขึ้นมา เพราะในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Crypto.com เคยทำผิดพลาดทำนองนี้มาแล้วหลังโอนเงิน 10.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐพลาดไปให้ผู้หญิงในเมืองเมลเบิร์น และใช้เวลาถึง 7 เดือนกว่าจะรู้ตัว

ด้วยความที่ตอนนี้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อโลกคริปโทฯ นั้นต่ำอยู่แล้ว ข่าวนี้เลยส่งผลเสียต่อเหรียญ CRO เหรียญดั้งเดิมของกระดาน Crypto.com ที่โดนแรงเทขายจนมูลค่าร่วงลงไปจุดต่ำสุดใน 22 เดือนในวันจันทร์ 

นี่ทำให้ Kris ต้องออกมาแถลงการณ์ในไลฟ์ยูทูปอีกว่าบริษัทไม่ได้มีปัญหาด้านการเงินใดๆ และไม่ได้เสียหายหนักจากการล้มของ FTX เพราะบริษัทนั้นสูญไปกับ FTX เพียง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสามารถกู้คืนมาได้ 990 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกว่าบริษัทไม่ได้จะระงับการถอน และลูกค้ายังสามารถถอนเงินออกมาได้ตามปกติ ยกเว้นถอนเงินจากเหรียญ GALA, Ray และ SRM เพราะเหรียญนี้มีความเกี่ยวข้องกับ FTX

และที่สำคัญคือบริษัทไม่เคยนำเหรียญ CRO ไปเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน ไม่เหมือนที่ FTX และ Alameda Research ทำกับ FTT เพราะฉะนั้นลูกค้าจึงวางใจได้ว่า Crypto.com จะไม่เจอชะตากรรมเดียวกับ FTX แน่นอน

 

ที่มา: Coindesk, Reuters, Yahoo! Finance

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT