สินทรัพย์ดิจิทัล

เปิด 5 อันดับที่ดิน "แพงที่สุดบน Metaverse" พร้อมเสียงเตือน "ฟองสบู่" ราคาพุ่ง 300 เท่า!

21 เม.ย. 65
เปิด 5 อันดับที่ดิน "แพงที่สุดบน Metaverse" พร้อมเสียงเตือน "ฟองสบู่" ราคาพุ่ง 300 เท่า!

เปิด 5 อันดับ ที่ดินที่มีราคาแพงสุดในโลกเสมือน Metaverse พร้อมเสียงเตือนความเสี่ยง "ฟองสบู่" พบราคาที่ดินพุ่งกว่า 300 เท่า ภายในเวลาแค่ 2 ปี! 
 


ถึงแม้ว่าราคาเหรียญคริปโทที่เป็นขาลงมาพักใหญ่ จะทำให้กระแสการเทรดคริปโทเคอร์เรนซีจางลงไปบ้าง แต่สำหรับการซื้อขาย "ที่ดินบนโลกเสมือน" หรือที่ดินใน Metaverse ที่หลายคนยังไม่เข้าใจว่าซื้อไปทำอะไรนั้น ยังคงเป็นหนึ่งในการลงทุนที่ฮอตอย่างต่อเนื่องอยู่

ความร้อนแรงนี้สะท้อนได้จากราคาที่ดินพุ่งกระฉูดกว่า 300 เท่า! ภายในเวลาเพียงแค่ 2 ปี และทำให้เกิดการเตือนถึงความเสี่ยง "ฟองสบู่ที่ดินเสมือน" ขึ้นมาอีกครั้ง


796441


สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยงานวิจัยเรื่อง ‘Is Metaverse LAND a Good Investment? It Depends on Your Unit of Account’ จัดทำโดย วรประภา นาควัชระ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ คณิสร์ แสงโชติ รองศาสตราจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ประเด็นทางเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Metaverse และมีการนำข้อมูล Virtual Land Sales ของ The Sandbox Metaverse มาทำการวิเคราะห์เชิงลึก โดยสามารถสรุปประเด็นที่น่าสนใจได้ 5 ข้อ ดังนี้


1. ที่มาและความหมายของ Metaverse

คำว่า "Metaverse" ถูกใช้ครั้งแรกในนิยายเรื่อง Snow Crash ของ Neal Stephenson ตีพิมพ์ในปี 2535 ซึ่ง Metaverse เป็นโลกเสมือนที่ผู้คนเข้าไปสร้างตัวตนและใช้ชีวิตอยู่ โดยในยุคปัจจุบันได้มีความพยายามสร้างโลกเสมือนบนเทคโนโลยี Blockchain ทำให้สร้างระบบเศรษฐกิจในโลกเสมือนนี้ได้ โดยสามารถสร้างคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นสื่อกลางการใช้จ่ายในโลกเสมือนนี้ ส่วนของใช้หรือสินค้าต่าง ๆ ในโลกเสมือนจะถูกสร้างขึ้นมาในรูปแบบ Non-Fungible Token (NFT) หรือเหรียญที่ไม่สามารถทำซ้ำหรือคัดลอก จึงสามารถแสดงความเป็นเจ้าของในเหรียญนั้น ๆ ได้



2. Metaverse กับระบบเศรษฐกิจ

- ในปัจจุบัน นักพัฒนากำลังสร้างโลก Metaverse ขึ้นมาหลายแห่ง เมืองที่เปิดให้เข้าได้แล้วและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง คือ The Sandbox กับ Decentraland ส่วนนักพัฒนาคนไทยก็กำลังสร้างโลก Metaverse ขึ้นเช่นกัน อาทิ Metaverse Thailand, Velaverse, T-Verse, Jakaverse, Translucia, เป็นต้น การซื้อที่ดิน (หรือ Virtual Land) ในโลก Metaverse จะทำให้ผู้ซื้อได้สิทธิในการเปิดร้านใน Metaverse นั้น ๆ ซึ่งการเปิดร้านอาจจะหมายถึงการเปิดร้านขายของที่เป็น NFT การสร้างเกมให้คนเข้ามาเล่น หรือการจัดกิจกรรม PR ต่าง ๆ

31002580-29376f2e-a51e-11e7-9


นอกจากนี้ ผู้ซื้อ Virtual Land อาจซื้อไว้เพื่อขายต่อในราคาที่สูงขึ้นก็ได้ ส่วนภาคธุรกิจอาจใช้ประโยชน์ต่างๆ จาก Metaverse เช่น

(1) ทำ PR/Marketing เพื่อหาลูกค้าใหม่ ๆ
(2) สร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับลูกค้าที่มีอยู่แล้ว
(3) ใช้ประโยชน์จาก Blockchain เพื่อสร้างสินค้าใหม่ๆ หรือ ทำธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เช่น ขาย NFTs (อาทิ เครื่องประดับและวัตถุที่ใช้ในโลกเสมือน งานศิลปะ) สร้างเกม Play-to-Earn ขาย Virtual Land เป็นต้น

ทั้งนี้ หากโลก Metaverse เติบโตขึ้นได้จริงน่าจะมีการจ้างงานประเภทใหม่ ๆ ได้อีกมากมาย เช่น นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์ข้อมูล ผู้จัดงานในโลก Metaverse วิศวกร Blockchain


3. ความคุ้มค่าของการลงทุนใน Metaverse

- ปัจจุบันการซื้อขายที่ดินในโลก Metaverse ได้รับความสนใจค่อนข้างมาก จากสถิติล่าสุด (เดือนเมษายน 2565) พบว่ามีผู้ซื้อที่ดินในราคาสูงถึง 4.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 140 ล้านบาท สำหรับ The Sandbox และ 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 115 ล้านบาท สำหรับ Decentraland

1_gyxyrqdculyjioc-wrksxw-900x

งานวิจัยของ ผศ.ดร.วรประภา และ รศ.ดร.คณิสร์ ได้ทำการวัดดัชนีราคาที่ดิน (LAND NFT) ใน The Sandbox โดยใช้ราคาที่ดินทั้งหมด (All-Sales Index) ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม 2562 ถึงมกราคม 2565 พบว่า ราคาที่ดินเพิ่มสูงถึงกว่า 300 เท่า

นอกจากนี้ งานวิจัยยังได้คำนวณดัชนีราคาที่ดินแบบใช้ราคาของที่ดินผืนที่มีการซื้อขายซ้ำ (Repeat Sales Index) และพบว่าราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 12 เท่า (ซึ่งแม้จะต่ำกว่าในกรณีของ All-Sales Index ค่อนข้างมาก แต่การเพิ่มของราคาที่ดินถึง 12 เท่าในช่วงเวลา 2 ปี ก็ถือว่าสูงมากแล้วเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของที่ดินในโลกจริง)

แม้พิจารณาจากข้อมูล Land Price Index พบว่าการซื้อที่ดินใน Metaverse เพื่อมาขายต่อในช่วงเวลาที่ผ่านมา น่าจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามาก แต่มีข้อสังเกตสำคัญว่าจากข้อมูลที่เผยแพร่เราไม่สามารถทราบได้ว่ามีการปั่นหรือสร้างราคาอันเกินจริงหรือไม่ นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของ Metaverse เมืองใหม่ ๆ อาจทำให้ราคาของที่ดินในเมืองที่สร้างมาก่อนปรับลดลง และราคาที่ดินที่สูงเกินไปอาจทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดฟองสบู่แตกได้


4. ความเต็มใจที่จะจ่ายของผู้ซื้อ

- งานวิจัยของ ผศ.ดร.วรประภา และ รศ.ดร.คณิสร์ ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคาที่ดิน (Hedonic Pricing Analysis) แล้วพบว่า โดยเฉลี่ย เมื่อมีการซื้อขายที่ดินใน The Sandbox โดยใช้เหรียญ SAND (คริปโทเคอร์เรนซีที่เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนใน The Sandbox) จะมีราคาสูงกว่าที่ดินที่ถูกซื้อขายโดยใช้เหรียญ ETH จึงเป็นที่น่าสนใจว่า สกุลเหรียญที่เลือกใช้ชำระมีความสัมพันธ์กับราคาซื้อขายที่ดินที่เกิดขึ้นในโลก Metaverse

ผศ.ดร.วรประภา นาควัชระรศ.ดร.คณิสร์ แสงโชติ

ผศ.ดร.วรประภา และ รศ.ดร.คณิสร์


ทั้งนี้ ผู้วิจัยมองว่ามีความเป็นไปได้ว่า ความเต็มใจที่จะจ่าย (Willingness to Pay) ในการซื้อที่ดินใน Metaverse ของผู้ที่ถือสกุลเหรียญที่ต่างกันอาจมีความแตกต่างกัน หากพิจารณาจากอัตราแลกเปลี่ยนของ SAND กับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเวลาที่ทำการวิเคราะห์ พบว่า SAND แข็งค่าขึ้นสูงสุดประมาณ 135 เท่า ในขณะที่ ETH แข็งค่าขึ้นประมาณ 11 เท่า

5. The Metaverse Hype Cycle

- ดูเหมือนว่า Metaverse และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องน่าจะมีศักยภาพในการสร้างโอกาสใหม่ ๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ดี จากหลักการของ Gartner Hype Cycle พบว่าเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้น คนจะสนใจและตื่นเต้นกับเทคโนโลยีนั้น ๆ มาก ตลอดจนการสร้างความคาดหวังที่เกินจริง

เพราะในช่วงเริ่มต้นยังไม่มีใครสามารถทราบถึงศักยภาพที่แท้จริงของเทคโนโลยีนั้น ๆ ได้ ต้องรอให้เวลาผ่านไปสักช่วงหนึ่งก่อน ให้เทคโนโลยีนั้น ๆ ได้รับการสร้างและมีการใช้งานจริงไปสักพัก ผู้คนจึงจะเข้าใจว่าแท้จริงแล้วเทคโนโลยีนี้ใช้ทำอะไรได้ดี และใช้ทำอะไรไม่ได้ดี มีโอกาสและความเสี่ยงที่แท้จริงอย่างไร เมื่อถึงจุดนั้นแล้ว Productivity ที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้นได้ตามความเป็นจริง ซึ่งเมื่อพิจารณาจาก Google Trend การค้นหาคำว่า NFT และ Metaverse ทั้งในไทยและต่างประเทศก็ได้ลดระดับลงมาจากเมื่อปลายปี 2564 ลงมากแล้ว

 

advertisement

SPOTLIGHT