ธุรกิจการตลาด

ทำไม 'บาร์บี้' จึงเป็นแบรนด์ตุ๊กตาอันดับ 1 ของโลก ที่ทำรายได้กว่า 5 หมื่นล้านบาท

20 ก.ค. 66
ทำไม 'บาร์บี้' จึงเป็นแบรนด์ตุ๊กตาอันดับ 1 ของโลก ที่ทำรายได้กว่า 5 หมื่นล้านบาท
เข้าฉายแล้ววันนี้วันแรก! สำหรับภาพยนตร์ ‘บาร์บี้’ ฉบับคนแสดงจริง นำแสดงโดยนักแสดงสาว ‘มาร์โก รอบบี้’ ที่มารับบทเป็นตุ๊กตาผิวขาว ผมบลอนด์ ร่างเพรียวสูง ที่เป็นขวัญใจและเพื่อนเล่นของเด็กๆ มาหลายทศวรรษ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีเยี่ยมจากนักวิจารณ์และสื่อที่ได้ชมรอบพรีเมียร์ไปแล้ว โดยเปิดตัวใน Rotten Tomato ด้วยคะแนนจากฝั่งนักวิจารณ์สูงลิ่วถึง 93%
 
ในโอกาสพิเศษนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จัก ‘บาร์บี้’ กันว่า มีต้นกำเนิดมาจากไหน? ใครเป็นคนคิด และมีดีอะไร ? ถึงยังครองตำแหน่งของเล่นสุดไอคอนิคที่ยังได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับเด็กหลายๆ คนที่นับเธอเป็นต้นแบบ ‘บาร์บี้’ ไม่ได้มีดีแค่ความสวย แต่ยังเป็นตัวแทนแห่งอิสระ ที่ผู้เล่นจะแต่งแต้มเธอด้วยความฝันสุดบรรเจิดขนาดไหนก็ได้
 

'บาร์บี้' ตุ๊กตาที่เกิดมาทำลายกรอบทางเพศ

“บาร์บี้” หรือที่มีชื่อจริงว่า “บาร์บาร่า มิลลิเซนต์ โรเบิร์ตส” (ฺBarbara Millicent Roberts) เป็นตุ๊กตาที่สร้างขึ้นมา โดย “รูธ แฮนด์เลอร์” (Ruth Handler) หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Mattel Inc. บริษัทผลิตของเล่นรายใหญ่ของสหรัฐฯ
 
ปรากฎตัวครั้งแรกในวันที่ 9 เดือนมีนาคมปี 1959 ในงานแฟร์แสดงสินค้าของเล่นในกรุงนิวยอร์กในรูปแบบผู้หญิงวัยสาว ทาริมฝีปากสีแดง มัดผมหางม้า (ที่มาในสองสี คือ บลอนด์ และน้ำตาล) และชุดว่ายน้ำขาวดำสุดเซ็กซี่
 
ruth-handler2
 
33lg76f-highres
 
แน่นอนว่า ด้วยภาพลักษณ์วาบหวิวแบบนี้ บาร์บี้ก็ได้รับเสียงต่อต้านจากเหล่าแม่บ้านชาวอเมริกันทันทีหลังจากเปิดตัว เพราะพวกเธอรู้สึกว่าตุ๊กตาตัวนี้มัน “มีทรวดทรงองค์เอว” เกินไป และอาจจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับเหล่าลูกสาวของเธอได้ แต่หลังจาก Mattel ทำแคมเปญโฆษณาบาร์บี้ในโทรทัศน์ให้เด็กๆ เห็นโดยตรง บาร์บี้ก็กลายเป็นสินค้าฮิต ขายดีถล่มทลายจนทำยอดขายไปได้ถึง 300,000 ตัวในปีแรกที่เปิดตัว
 
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “บาร์บี้” กลายเป็นสินค้าที่ประสบความสำเร็จ ก็คือ “ความแปลกแตกต่าง” เพราะในสมัยนั้นตุ๊กตาที่เด็กผู้หญิงมีไว้เล่นมีแต่ตุ๊กตาเด็กทารก เพื่อให้เล่นโรลเพลย์เป็นแม่ แต่ไม่มี “ตุ๊กตาหญิงที่เป็นผู้ใหญ่” ไว้ให้พวกเธอเล่นด้วยเลย
 
โดย ‘รูธ’ เองก็ได้แรงบันดาลใจในการสร้าง “บาร์บี้” ขึ้นมาจากการที่เธอสังเกตเห็นว่า ‘บาร์บาร่า’ ลูกสาวของเธอมักจะเอาตุ๊กตากระดาษที่เป็นผู้หญิงมาเล่นใส่บทบาทให้เป็นผู้หญิงที่โตแล้วและมีชีวิตเป็นอิสระของตัวเองเสมอ เธอจึงสร้างตุ๊กตาผู้หญิงสาวสวย ที่ไม่ได้แต่งงาน ไม่มีลูก แถมมีอาชีพเป็นของตัวเอง คือ “นางแบบแฟชั่น” ขึ้นมา และตั้งชื่อตุ๊กตานั้นว่า “บาร์บาร่า” ตามลูกสาวของเธอ
 
barbaraken
 
ด้วยเหตุนี้ ‘บาร์บี้’ จึงเรียกได้ว่า เป็นตุ๊กตาตัวแรกที่ทลายกรอบทางเพศของผู้หญิงในขณะนั้น ที่จำกัดบทบาททางสังคมของผู้หญิงให้เป็นเพียงภรรยาและแม่ และกลายเป็นตัวอย่างให้กับเด็กผู้หญิงทั่วโลกว่าเกิดมาแล้วพวกเธอมีสิทธิฝันที่จะเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น
 
ตั้งแต่เกิดมา นับเป็นเวลากว่า 60 ปี ‘บาร์บี้’ เป็นมาแล้วทุกอย่าง ตั้งแต่นางแบบ นักวิทยาศาสตร์ ศัลยแพทย์ นักบินอวกาศ ไปจนถึงผู้ลงท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยผ่านการทำงานมาแล้วถึง 200 สาขาอาชีพ แถมยังได้ไปดวงจันทร์มาแล้ว ตั้งแต่ปี 1965 ก่อนนีล อาร์มสตรองถึง 4 ปี ถึงแม้จะเป็นแค่จินตนาการหลอกๆ ของผู้สร้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตัวตนของ ‘บาร์บี้’ อัดแน่นไปด้วยความทะเยอทะยานและความคิดสร้างสรรค์ ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง
 
 

ตุ๊กตาอันดับหนึ่งของโลกที่ทำรายได้ระดับหมื่นล้านบาท

ปัจจุบัน ‘บาร์บี้’ ยังเป็นแบรนด์ที่ทำรายได้มากที่สุดให้กับบริษัท Mattel เพราะชื่อและหน้าของ ‘บาร์บี้’ เป็นลิขสิทธิ์ที่นอกจากจะอยู่ในตัวตุ๊กตาเองแล้ว ยังสามารถนำไปทำเป็นสื่อ เช่น ภาพยนตร์ และใช้บนสินค้าอื่นๆ ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า เครื่องสำอาง เสื้อผ้า และข้าวของเครื่องใช้ทั่วไปได้อีก
 
ในปี 2022 Mattel มีผลการดำเนินงาน จากแบรนด์ ‘บาร์บี้’ ทำรายได้ให้บริษัทถึง 1.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.06 หมื่นล้านบาท คิดเป็นประมาณ 27.4% จากรายได้ทั้งปี อยู่ที่ 5.434 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยแบรนด์ Hot Wheels ของเล่นรถยนต์ที่ทำรายได้ไป 1.254 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ แบรนด์ Fisher-Price และ Thomas & Friends ของเล่นสำหรับเด็กที่ทำรายได้ไปทั้งหมด 1.033 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
 
สิ่งนี้สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของแบรนด์บาร์บี้ เพราะถึงแม้ Mattel จะมีแบรนด์ของเล่นอยู่ในมือมากมายเกือบ 100 รายการ และพยายามสร้างแบรนด์อื่นขึ้นมา ‘บาร์บี้’ ก็ยังเป็นของเล่นที่อยู่ยงคงกระพัน และอยู่คู่กับเด็กทุกยุคมาถึง 6 ทศวรรษ
 
artboard1_16
 

บาร์บี้มีดีอะไร ถึงยังอยู่มาได้ถึง 60 ปี?

สำหรับคำถามนี้ นอกจากรูปลักษณ์สวยงามดึงดูดใจแล้ว คำตอบ ก็คือ การที่ Mattel ยังคงพยายามรักษาเอกลักษณ์ของบาร์บี้ ก็คือ ตัวแทนของความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นอิสระของเด็กทุกคนที่สามารถจะแสดงความเป็นตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องนำกรอบของสังคมมาจำกัดตัวเอง
 
แม้ว่า ‘บาร์บี้’ จะได้ชื่อว่า เป็นตุ๊กตาที่เป็นตัวแทนของความก้าวหน้าในช่วงแรกๆ เมื่อเวลาผ่านไปและแนวคิดด้านสตรีนิยมมีการพัฒนามากขึ้น ‘บาร์บี้’ ก็เริ่มตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นว่าเป็นตุ๊กตาที่อาจสร้างค่านิยมและแนวคิดที่ไม่ดีให้กับเด็กมากกว่าจะเป็นต้นแบบที่ดี
 
แน่นอนว่า เมื่อเกิดขึ้นมาเป็นแฟชั่นโมเดล จุดแรกที่บาร์บี้ถูกวิจารณ์ ก็คือ ไลฟ์สไตล์ฟุ้งเฟ้อของเธอที่หลายๆ คนบอกว่า จะทำให้เด็กผู้หญิงโตขึ้นมาเป็นคนบ้าวัตถุ และไม่ทำอะไรนอกจากรักษาความสวยงามของตัวเอง
 
รวมถึง ยังวิจารณ์ถึงว่า ‘บาร์บี้’ ขาดความหลากหลาย และกำลังเผยแพร่มาตรฐานความงามแคบๆ ให้กับเด็กผู้หญิง เพราะภาพจำบาร์บี้ในสื่อ คือ ผู้หญิงผิวขาวผมบลอนด์ตัวสูง พร้อมเอวที่เล็กและคอดจนถ้าเป็นคนจริงๆ ก็คงตายไปแล้วเพราะไม่มีที่ให้เก็บเครื่องใน และทำให้ยอดขายของบาร์บี้ลดลงในช่วงนั้น
 
นี่เองจึงเป็นเหตุผลให้ Mattel ได้มีการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ ‘บาร์บี้’ ให้มีความทันสมัยทันโลกยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยการเพิ่มตัวละครเชื้อสายอื่นใน “Barbieverse” เช่น การสร้างตัวละครผิวดำเชื้อสายแอฟริกันชื่อ ‘คริสตี้’ (Christie) ที่เป็นเพื่อนรักของบาร์บี้ในปี 1968, การสร้าง ‘บาร์บี้’ ในเชื้อชาติอื่นๆ เช่น แอฟริกัน ฮิสปานิก และเอเชีย ในปี 1980 และการสร้าง ‘เอลล่า’ (Ella) บาร์บี้หัวล้านขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของเด็กๆ ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง และผมร่วงจากการทำคีโม
5d022e6d2100003711ee416e
 
อย่างไรก็ตาม นี่ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มความหลากหลายด้านเชื้อชาติเท่านั้น ไม่ได้เป็นการเพิ่มความหลากหลายด้านความงามเพราะบาร์บี้ทุกตัวยังมีรูปร่างสูงเพรียวเหมือนนางแบบเหมือนกันหมดอยู่
 
ในปี 2016 Mattel จึงออกบาร์บี้คอลเลคชั่นใหญ่ที่ชื่อว่า Barbie Fashionistas ออกมา ซึ่งมาพร้อมกับบาร์บี้ใน 7 เฉดสีผิว 22 สีตา และ 24 ทรงผม และพัฒนามาเรื่อยๆ จนในปัจจุบันบาร์บี้ของ Mattel มีเฉดสีผิวทั้งหมด 22 เฉด สีผม 94 สี, ตา 13 สีตา และรูปร่างอีก 5 แบบ ให้เลือก
 
นี่จึงทำให้ ‘บาร์บี้’ ถือเป็นแบรนด์ที่อยู่รอดมาได้ด้วยการปรับตัวให้เข้ากับค่านิยม แนวคิดสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงแนวคิดในการโอบรับความหลากหลายในยุคใหม่ โดยที่ยังรักษาตัวตนที่เป็นเนื้อแท้ของตัวเองไว้ได้ เพราะถ้าหาก ‘บาร์บี้’ ยังยึดติดกับความสำเร็จแบบเดิมๆ ‘บาร์บี้’ ก็คงกลายเป็นสิ่งล้าสมัยไปตั้งแต่ช่วง 1960s และ 1970s ที่แนวคิดเรื่องสังคมและเพศกำลังเปลี่ยนแปลง และคงไม่ได้รับความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้
 
33lg74c-highres_1
 
 
อ้างอิง: Britannica, History ChannelMattel

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT