ธุรกิจการตลาด

ต้นทุนเพิ่ม-ค่าไฟพุ่ง กระทบผู้ประกอบการ BJC โชว์กำไร 1,254 ลบ.โต 0.6%

11 พ.ค. 66
ต้นทุนเพิ่ม-ค่าไฟพุ่ง กระทบผู้ประกอบการ BJC โชว์กำไร 1,254 ลบ.โต 0.6%

ราคาน้ำมันที่สูงในช่วงก่อนหน้านี้ ได้ส่งผ่านมายังต้นทุนต่างๆ ทั้งต้นทุนขนส่ง ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับขึ้น ขณะที่ค่าไฟที่สูงลิ่ว จากภาวะอากาศที่ร้อนระอุ ทำให้ปริมาณการใช้ไฟเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ได้รับผลกระทบทั้งประชาชน และผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก โรงแรม และร้านอาหาร 

เห็นได้จากตัวเลขผลประกอบการของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ อย่างบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC โดยในไตรมาส 1/2566 มีกำไรสุทธิ 1,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 0.6% มาจากรายได้รวม อยู่ที่ 40,804 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยรายได้เพิ่มขึ้น มาจากยอดขายสินค้าและบริการในทุกกลุ่ม

ค่าใช้จ่ายเพิ่ม 3.5% จากต้นทุนและค่าไฟฟ้า

ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมในไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 39,206 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับการเพิ่มขึ้นของรายได้รวม ซึ่งการค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนั้น สาเหตุมาจาก การเพิ่มขึ้นของต้นทุนขายจากยอดขายที่เติบโตขึ้น รวมถึง ราคาวัตถุดิบและค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น  และค่าใช้จ่ายจากการขายที่เพิ่มขึ้นทั้งสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายด้านโฆษณาและส่งเสริมการขายที่สูงขึ้น

รายได้จากการขายและให้บริการ เติบโต 3.6%

สำหรับตัวเลขรายได้จากการขายและให้บริการในไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 37,520 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% แบ่งเป็นการเพิ่มขึ้น ดังนี้

  1. กลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ เพิ่มขึ้น 6.6% 
  2. กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค เพิ่มขึ้น 4.1%
  3. กลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค เพิ่มขึ้น 2.8%
  4. กลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ เพิ่มขึ้น 2.8$
  5. อื่นๆ เพิ่มขึ้น 2.3%

ไตรมาส 1/2566 ขยายสาขาในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ 14 สาขา

กลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ยังคงขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 1/66 ดังนี้ 

  1. บิ๊กซี ฟู้ด เซอร์วิส จำนวน 1 สาขา
  2. บิ๊กซีมินิ จำนวน 12 สาขา ในประเทศไทย และบิ๊กซีมินิ จำนวน 1 สาขา ในประเทศกัมพูชา 

ขณะที่การปิดสาขา มีดังนี้

  1. บิ๊กซีมาร์เก็ต จำนวน 1 สาขา 
  2. ปิดบิ๊กซี มินิ จำนวน 7 สาขา 

ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 มีจำนวนสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด 154 สาขา (รวมบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์จำนวน 1 สาขา ในประเทศกัมพูชา) ร้านค้าขนาดซูเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 61 สาขา (บิ๊กซีมาร์เก็ต จำนวน 35 สาขา บิ๊กซีฟู้ด เพลส ซูเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 11 สาขา บิ๊กซีดีโป้จำนวน 11 สาขา และร้านค้าส่งบิ๊กซีฟู้ด เซอร์วิส จำนวน 4 สาขา) บิ๊กซีมินิ จำนวน 1,455 สาขา (รวมสาขาแฟรนไชส์ จำนวน 53 สาขา ในประเทศไทย บิ๊กซีมินิจำนวน 18 สาขา และร้านค้าสะดวกซื้อกีวี่ จำนวน 2 สาขา ในประเทศกัมพูชา) 

ร้านขายยาเพรียว จำนวน 146 สาขา ในขณะที่เครือข่ายร้านค้าโดนใจมีจำนวน 1,170 ร้านค้า เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับแพลตฟอร์ม Omnichannel ของบริษัท บริษัทได้ร่วมมือกับ Lineman เพื่อส่งสินค้าของบิ๊กซีไปยังร้านค้ากว่า 800 แห่ง ที่ Lineman ให้บริการจัดส่ง และบริษัทยังได้ขยายฐานอย่างครอบคลุมบนแพลตฟอร์ม e-marketplace ข้ามพรมแดนใหม่ในประเทศจีนผ่าน Tmall

สมาคมนักวิเคราะห์ฯ แนะนำ ‘ซื้อ’ ราคาเป้าหมายเฉลี่ย 43.57 บาท/หุ้น

สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA Consensu) ผลสำรวจจากนักวิเคราะห์ทั้งหมทด 14 แห่ง พบว่า นักวิเคราะห์ 13 แห่ง แนะนำ ‘ซื้อ’ โดยคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2566 อยู่ที่ 6,203.36 ล้านบาท และคาด P/E อยู่ที่ 25.91 เท่า

กำไรไตรมาส 2/2566 เร่งโตขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ได้ออกบทวิเคราะห์ว่า แนวโน้มกำไรในไตรมาส 2/2566 จะโตเร่งขึ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังคาดการณ์กำไรทั้งปี 2566 ไว้ที่ 6,367 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% มาจากการเติบโตที่เร่งขึ้นของ Big C ที่จะได้รับอานิสงส์เพิ่ม จากค่าไฟต่อหน่วยลดลง -12% ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ส่วนธุรกิจบรรจุภัณฑ์คาดไตรมาส 2/2566 เห็นสัญญาณบวกจาการทยอยปรับขึ้นราคาขายใหม่ที่สะท้อนต้นทุนรอบใหม่มากขึ้น 

จึงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายที่ 44 บาท/หุ้น เลือกเป็นหุ้น Top pick คู่กับ CRC เนื่องจากมองว่าปีนี้กำไรจะฟื้นตัวโดดเด่น +28% จากการเปิดประเทศ และการปรับกลยุทธ์ขายรุก เพิ่มขีดความสามารถในการทำกำไรของ BigC และมีปัจจัยบวก เรื่องของการเตรียมนำ BRC(บิ๊กซีรีเทล) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

advertisement

SPOTLIGHT