ธุรกิจการตลาด

Tesla แชร์ ‘คลิปในรถลูกค้า’ ตั้งแต่คลิปหมาแมว อุบัติเหตุ ยันวาบหวิว

7 เม.ย. 66
Tesla แชร์ ‘คลิปในรถลูกค้า’ ตั้งแต่คลิปหมาแมว อุบัติเหตุ ยันวาบหวิว

Tesla ผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้า จากสหรัฐย้ำนักย้ำหนาว่า ‘ความเป็นส่วนตัวของลูกค้า’ คือสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญมาโดยตลอด และบอกว่า ‘กล้องติดรถ’ หลากหลายจุดนั้น ถูกดีไซน์โดยคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของลูกค้าเป็นสำคัญ

 

แต่ดูเหมือนว่า Tesla จะมีบางอย่างที่ยังบอกผู้ใช้งานไม่หมด

 

Tesla หลุด

 

Tesla โดนแฉ พนักงานส่งรูป-คลิปจากกล้องติดรถลูกค้าผ่านแชทบริษัท

 

Reuters เผยข้อมูลวงใน ที่ได้จากการสัมภาษณ์แหล่งข่าว ‘อดีตพนักงาน Tesla’ จำนวน 9 คนว่า พนักงาน Tesla ได้ส่งต่อภาพและคลิปวิดีโอที่ถูกบันทึกจาก ‘กล้องภายในตัวรถ’ ผ่านระบบแชทภายในบริษัท ตั้งแต่ปี 2019 - 2022 เป็นอย่างน้อย

สำหรับภาพและคลิปที่ถูกส่งว่อนในบริษัทนั้น มีตั้งแต่ภาพน้องหมา หรือป้ายจรตลกๆ ที่พนักงานแปะแคปชั่น เพื่อทำเป็นมีมแล้วส่งต่อๆ กัน, โมเมนต์เหวอๆ อย่างในกรณีที่มีชาย ‘ล่อนจ้อน’ เดินเข้ามาหาตัวรถ, หรือคลิปที่ไม่น่าจรรโลงใจ อย่างเหตุการณ์เมื่อปี 2021 ที่รถ Tesla พุ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็วก่อนชนอย่างจังเข้ากับเด็กที่กำลังปั่นจักรยาน จนทำให้จักรยานและตัวเด็กกระเด็นไปคนละทิศคนละทาง ซึ่งคลิปดังกล่าวนี้ถูกกระหน่ำส่งต่อกันผ่านแชทส่วนตัวในบริษัทอย่างดุเดือด

นอกจากนี้ ยังมีการส่งต่อภาพและวิดีโอสุด ‘วาบหวิว’ ของผู้ใช้ ได้แก่ โมเมนต์สุดแสนโรแมนติกของคู่รัก (ที่ยังมีเสื้อผ้าครบถ้วน), เสื้อผ้าส่วนตัวบางชิ้น, อุปกรณ์ช่วยเพิ่มความสุขบางอย่าง รวมไปถึงโมเมนต์ส่วนตัวของผู้ใช้บางคน ขณะกำลังชาร์จรถอยู่

 

คลิปลูกค้า Tesla



ความเห็นของอดีตพนักงานรายหนึ่งมองว่า การแชร์รูปหรือคลิปวิดีโอที่บันทึกได้จากรถของลูกค้าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ฟังก์ชันในการ ‘ระบุตำแหน่งที่ตั้ง’ บน Google Maps ได้นั้น เป็นการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้เป็นอย่างมาก

นโยบายความเป็นส่วนตัวของ Tesla ระบุว่า สื่อที่บันทึกได้จากกล้องของตัวรถนั้นจะถูกบันทึกแบบไม่ระบุตัวตน และจะไม่เชื่อมโยงกับรถหรือเจ้าของรถ แต่อดีตพนักงาน 7 คนของ Tesla ได้บอกกับ Reuters ว่า ที่บริษัทมีโปรแกรมที่จะสามารถระบุพิกัดที่คลิปหรือภาพนั้นๆ ถูกถ่ายได้ ซึ่งก็สามารถสืบทราบที่อยู่ของเจ้าของรถได้อย่างไม่ยาก นอกจากนี้ ยังเห็นภาพภายในโรงรถ หรือที่พักของเจ้าของรถได้อีกด้วย

แม้แต่เจ้าพ่อ Tesla อย่าง Elon Musk เองก็เคยโดนล้วงลูกมาแล้ว หลังจากที่รูป ‘รถ James Bond’ รถสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกที่ Musk ประมูลมาด้วยราคากว่า 968,000 ดอลลาร์ (33 ล้านบาท) เมื่อปี 2013 ได้ถูกแชร์ออกสู่สาธารณะ ซึ่งก็ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า เจ้าตัวรู้ตัวหรือไม่ว่าภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนแล้ว

 

กล้องติดรถ Tesla

 
 
Tesla ปล่อยคลิปลูกค้า กฎหมายเอาผิดอะไรได้บ้าง?

 

จากการให้สัมภาษณ์ของ David Choffnes อาจารย์จาก Nothern University และ กรรมการบริหารสถาบันด้านความปลอดภัยไซเบอร์และความเป็นส่วนตัวของมหาวิทยาลัย ที่ให้ไว้กับ Reuters ระบุว่า คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลาง สามารถเอาผิด Tesla จากการที่บริษัทไม่ปฏิบัติตามนโยบายด้านความเป็นส่วนตัวที่ให้ไว้กับลูกค้าได้ อันเป็นการกระทำที่ ‘น่าตำหนิอย่างยิ่งในทางศีลธรรม’ (Morally Reprehensible)

ฝั่งทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูล Carlo Plitz มองว่า การแชร์ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าภายในบริษัทนั้นอาจยากที่จะตัดสินถูกผิด ภายใต้กฎหมายของฝั่งยุโรป เพราะไม่ได้ขัดต่อข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย หรือการใช้งานของรถยนต์

ในปี 2019 ที่ผ่านมา Tesla ได้ปล่อย ‘Sentry Mode’ ฟีเจอร์ที่ให้เจ้าของรถ Tesla สามารถบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวรถเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น พร้อมทั้งสามารถ livestream ภาพจากกล้องได้ด้วย อย่างไรก็ตาม บริษัทระบุว่าภาพที่บันทึกจากฟีเจอร์นี้ บริษัทจะไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่จากการสืบสวนของหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศเนเธอร์แลนด์ (DPA) พบว่า ฟีเจอร์ดังกล่าวมักบันทึกภาพของคนที่เดินผ่านไปผ่านมารอบคันรถ ทำให้ Tesla หันมาตั้งค่าปิดโหมดดังกล่าวไว้ ให้ผู้ใช้งานเลือกเปิดด้วยตัวเองภายหลังและอัพเดตระบบดังกล่าวให้เริ่มบันทึกภาพเมื่อมีคนมาสัมผัสรถ จากเดิมที่เห็นความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ

 

รถ Tesla

 

เมื่อปีที่ผ่านมา หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศเยอรมนี ได้ฟ้อง Tesla จากกรณีที่ Sentry Mode ละเมิดความเป็นส่วนตัวด้านข้อมูลของชาวเยอรมนี นอกจากนี้ Tesla ถูกแบนในตำบลเป่ยไต้เหอ ของจีน หลังมีความกังวลจากทางการว่ากล้องของรถอาจบันทึกการประชุมส่วนตัวระหว่างผู้นำอาวุโสของจีน และถูกแบนจากกองทัพจีนจากเหตุผลเดียวกันด้วย

 


ที่มา : Reuters, arsTechnica, The Verge

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT