ธุรกิจการตลาด

สรุปกลยุทธ์ GMM Music เจ้าตลาด ‘สตรีมมิ่ง - มิวสิคเฟส’

7 มี.ค. 66
สรุปกลยุทธ์ GMM Music เจ้าตลาด ‘สตรีมมิ่ง - มิวสิคเฟส’

GMM Music ถูกวิกฤตโควิด-19 เข้ามาเขย่าธุรกิจเช่นเดียวกับธุรกิจในวงการเพลงอื่นๆ ทั่วโลก ในช่วงล็อคดาวน์ ผู้คนออกไปเสพดนตรี สนุกกับคอนเสิร์ตนอกบ้านไม่ได้ แต่ผู้คนก็หันมาฟังเพลงจากบริการสตรีมมิ่งหลากหลายช่องทาง ทั้ง Spotify, YouTube, Apple Music ฯลฯ แต่เมื่อกลับมาเปิดประเทศ กระแสมิวสิคเฟสติวัลก็กลับมาพุ่งกระฉูดอีกครั้ง สำหรับธุรกิจเพลงแล้ว ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาไปต่างอะไรกับการนั่ง ‘รถไฟเหาะเลยทีเดียว’

 

GMM Music หนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจเพลงมาอย่างยาวนาน ได้ปรับตัวให้สอดรับกับวิกฤต สร้างพื้นฐานธุรกิจให้แข็งแรง พลิกกลับจากกำไรเป็น ‘0 บาท’ ในปี 2021 กลายเป็นกำไร 355 ล้านบาทในปี 2022 โดยมีตัวขับเคลื่อนธุรกิจสำคัญ คือ ‘ธุรกิจ Showbiz, Artist Management Business, Digital Business’ ซึ่งเป็นกำลังหลักที่จะช่วยให้ GMM Music เติบโต 

 

ทรงอย่างแบด

 

GMM Music มีกลยุทธ์สำคัญในการก้าวขึ้นเพื่อรักษาแชมป์ และสยายปีกให้ธุรกิจต่างๆ ดังนี้

 

  1. Entertainment Data Intelligence
  • คือ การลงทุนแพลตฟอร์มด้าน Big Data เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ GMM MUSIC ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผลิต ฝ่ายขาย ฝ่าย Showbiz หรือ ฝ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
     
  • GMM MUSIC ได้ลงทุนในการใช้ Machine Learning และ AI เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมของแฟนเพลง ศิลปิน แบรนด์สินค้า ตลอดจนสื่อทุกแขนงที่มีความเกี่ยวพัน นำไปสู่ความแม่นยำอันสูงสุดในการเลือกใช้ศิลปิน การหาความสัมพันธ์ด้านต่าง ๆ กับแบรนด์สินค้า หรือสื่อและอินฟลูเอนเซอร์ที่หลากหลายตลอดจนนำไปสู่เรื่องของการทำ Data Prediction ที่สามารถมองเห็นความต้องการและปริมาณการซื้อบัตรใน Showbiz สาขาต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำก่อนการขาย
     
  • ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ที่ GMM MUSIC จะเดินหน้าขยาย Music Data สู่ Personalization Commerce ในเร็ววันนี้ และจะเติบโตสู่การเป็น Entertainment Big Data ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศให้ได้โดยเร็วที่สุด



  1. No.1 Music Performance in Thai Market

 

  • การสร้างสรรค์และจัดวางแบรนด์ศิลปินให้ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์
     
  • การขยายกำลังการผลิตเพลงเพิ่มเป็น 500 เพลง 32 อัลบั้ม 160 ซิงเกิล 5,000 เพลย์ลิสต์ ต่อปี
     
  • รักษามาตรฐานการเป็นค่ายเพลงที่มียอดการสตรีมสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ทั้งจากเพลงใหม่และเพลงเก่า

 

  1. Rebuild The New Generation
  • วางเป้าหมายในการสร้างศิลปินใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งศิลปินร็อก (New Rock Idol), ศิลปินลูกทุ่ง (New Country Idol) และศิลปินป็อปไอดอล (New Pop Idol) พร้อมเดบิวต์สู่ตลาดมากกว่า 15-20 ศิลปินใหม่
     
  • สร้างเครือข่าย Recruitment ในการเฟ้นหาเด็กรุ่นใหม่เข้ามาเป็นศิลปินฝึกหัด ผ่านความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา สถาบันสอน ร้อง-เต้น โมเดลลิ่ง มิวสิคคอมมูนิตี้ โปรดิวเซอร์ และผู้จัดในสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยจะมีการคัดเลือกเข้า-ออกตลอดอย่างต่อเนื่องทั้งปี ด้วยหลักสูตรที่เข้มข้นของ GMM ACADEMY

 

Gmm ศิลปิน

 

  1. Digital Crossover
  • สร้างรายได้ให้เติบโตสูงสุดในกลุ่ม Digital Music ด้วยความเชี่ยวชาญด้าน Digital Performance
     
  • นำความเชี่ยวชาญต่อยอดในการสร้าง Performance ที่สูงขึ้นในทุกสื่อโซเชียลมีเดียของค่ายและศิลปิน
     
  • เชื่อมโยงโอกาสระหว่าง Music Marketing, Music Optimization และ Music Playlist ให้เกิดการเติบโตทั้งด้านรายได้ และพฤติกรรมการฟังเพลงของผู้บริโภค 

 

  1. No.1 Showbiz in Thailand 
  • ยึด 7 จุด ยุทธศาสตร์ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ด้าน Music Festival - Indoor Concert ที่ดีที่สุด ใหญ่ที่สุด มีศิลปินมากที่สุด และมียอดผู้ชมมากที่สุด
     
  • ขยายเข้าสู่โอกาสใหม่ ในการสอดแทรกเข้าสู่งานเทศกาลประจำจังหวัด งานฮาโลวีน งาน LGBTQ+ งานเทศกาลดนตรีระดับสากล โดยเฉพาะศิลปินเกาหลี ทั้งคอนเสิร์ต และงานแฟนมีตติ้ง

 

 

GMM Music

 

 

ในสองธุรกิจดาวเด่นอย่างธุรกิจ Showbiz  และ Digital Business GMM Music มีสถิติและข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

 

ธุรกิจ Digital Business ของ GMM Music

 

  • ปี 2566 นี้ ตั้งเป้ารายได้ที่ 1,200 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 10% จากปีก่อน
     
  • GMM MUSIC มียอดการสตรีม ทั้งหมด 14,000 ล้านการสตรีม เกิดจากการสร้างเพลงใหม่จำนวนทั้งสิ้น 404 เพลง โดยแบ่งออกเป็น 30 อัลบั้ม, 153 ซิงเกิล, 44 เพลงประกอบภาพยนตร์ และ 48 เพลงคัฟเวอร์ อีกทั้งถูกนำไปสร้างและแชร์เป็นเพลย์ลิสต์จำนวน 3,817 เพลย์ลิสต์
     
  • สัดส่วนการสตรีมเพลงใหม่อยู่ที่ 16% หรือ 2,150 ล้านการสตรีม ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของการสตรีมเพลงของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่ 15%
     
  • มีเพลงฮิตติด Thailand Billboard Chart มากที่สุดถึง 37% ครองความเป็นค่ายเพลงอันดับ 1 ที่มีเพลงฮิตติดชาร์ตมากที่สุด 
     
  • มนต์แคน แก่นคูน ยังรั้งแชมป์ศิลปินลูกทุ่งขวัญใจมหาชนที่มียอดการสตรีมรวมใน YouTube ประเทศไทยสูงสุดถึง 3 ปีซ้อน กว่า 800 ล้านวิว
     
  • สร้างปรากฏการณ์แห่งการแจ้งเกิดของศิลปินใหม่ ทั้งสาขา ป๊อป ร็อก และลูกทุ่ง ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน Paper Planes, Three Man Down, Tilly Birds, ไททศมิตร, โจอี้ ภูวศิษฐ์, Monica, เวียง นฤมล, เบียร์ พร้อมพงษ์, เบล นิภาดา และ New Country
     
  • แนวเพลงที่ได้รับความนิยมในการฟังของ GMM MUSIC 3 อันดับแรก คือ เพลงร็อก 40% เพลงลูกทุ่ง 32% และเพลงป๊อป 14%
     
  • Paper Planes เจ้าของเพลงฮิตอย่าง ‘ทรงอย่างแบด’ กับที่สุดของสถิติ 1,000 ล้านวิว ตามมาด้วยศิลปินลูกทุ่งหญิง กับ หญิงลี เจ้าของเพลง ‘คาเฟอีน’ เพลงติดหูและเพลงเต้นแห่งปีกับสถิติ 400 ล้านวิว และกลุ่มศิลปินลูกทุ่งหน้าใหม่ไฟแรงอย่าง New Country กับเพลง ‘Stand by หล่อ’ ที่ทำลายทุกสถิติด้วยยอดวิว 200 ล้านวิวภายในเวลาอันสั้นบนแพลตฟอร์ม TikTok

 

Big Mountain

 

 ธุรกิจ Showbiz ของ GMM Music

 

  • ปี 2566 นี้ตั้งเป้ารายได้ที่ 898 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 66% จากปีก่อน
     
  • ฝั่ง Showbiz (เทศกาลดนตรีและคอนเสิร์ตต่างๆ) กลับมาสร้างรายได้ในปี 2022 ถึง 542 ล้านบาท (จาก 0 บาทในปีก่อนหน้า) ในขณะที่ Live show (งานแสดงตามผับ บาร์ และโชว์ในงานต่างๆ) สร้างรายได้ในปี 2022 ที่ 410 ล้านบาท (จาก 70 ล้านบาทในปีก่อนหน้า)
     
  • ครองตลาดงานเทศกาลดนตรีไซส์ L (ผู้ชมมากกว่า 20,000 คน) ถึง 90% ของตลาด
     
  • เตรียมยึด 7 ภูมิภาคทั่วไทย ขยายจำนวนผู้ชมสู่ 500,000 คน และเพิ่มความร่วมมือกับค่ายเพลงต่างๆ เพิ่มขึ้น
     
  • อัตราการเติบโตของ เชียงใหญ่เฟส เทศกาลดนตรีภาคเหนือ สูงกว่า Big Mountain ซึ่งเป็นงานที่ประสบความสำเร็จที่สุด ณ ขณะนี้ (40,000 คน ภายใน 3 ปี vs 30,000 คน ภายใน 3 ปี) และมีผู้ชมภาคเหนือเข้าร่วมงานกว่า 80% ในขณะที่เทศกาลดนตรี ที่จัดที่ภูมิภาคอื่นๆ ก็มียอดผู้ชมล้นหลาม สะท้อนความสำเร็จในการขยายเทศกาลดนตรีไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย
     
  • เทศกาลดนตรีที่จัดโดย GMM เช่น Big Mountain Music Festival ช่วยสร้างเม็ดเงินสะพัดให้กับจังหวัดที่จัดเทศกาลได้มากถึง 1 พันล้านบาทต่อวัน
     
  • เป็นผู้จัดไม่กี่เจ้า ที่มีค่าบัตรครอบคลุมค่าจัดงาน แม้ยังไม่ได้รวมถึงเงินจากสปอนเซอร์ และสามารถใช้ข้อมูล Big Data ข่วยทำนายยอดขายบัตรได้ตั้งแต่ก่อนเปิดจอง

 

GMM Music ศิลปิน

 

นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 มาอย่างยาวนาน  แต่ GMM MUSIC ก็โชว์ศักยภาพ สร้างการเติบโตแบบสวนกระแส เป็นผลมาจาก 2 กลุ่มธุรกิจหลัก ที่ถือได้ว่าเป็นธุรกิจสำคัญของแหล่งรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งชี้ถึงโอกาสของการเจริญเติบโตในระยะยาว ประกอบด้วย

 

 

  • ธุรกิจ Digital Business ในปี 2565 มียอดรายรับที่ 1,089 ล้านบาท คิดเป็น 39.54% ของรายได้ทั้งหมด 
     
  • ธุรกิจ Right Management Business ในปี 2565 มียอดรายรับที่ 236 ล้านบาท คิดเป็น 8.57% 

 

และเมื่อได้รับโอกาสสืบเนื่องจากการที่ภาครัฐมีการผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ตลอดจนการเปิดประเทศ ส่งผลดีต่อธุรกิจหลักให้ฟื้นตัว สามารถกลับมาจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทางการตลาดได้เพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่าธุรกิจ Showbiz และธุรกิจ Live Show สามารถกอบกู้สถานการณ์ของบริษัทฯในเชิงบวกให้ดีขึ้น แม้มีระยะเวลาการจัดงานเพียง 7 เดือน

 

  • ธุรกิจ Showbiz สร้างยอดรายรับที่ 542 ล้านบาท คิดเป็น 19.68% ของรายได้ทั้งหมด
     
  • ธุรกิจ Live Show สร้างยอดรายรับที่ 410 ล้านบาท คิดเป็น 17.89%

 

แกรมมี่

 

GMM MUSIC ตั้งเป้ารายได้ปี 2566 โต 25% เน้นการเติบโตทุกส่วนธุรกิจ เสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจเดิม และสร้างโอกาสขยายตัวธุรกิจใหม่ เพื่อตอกย้ำการเป็น MUSIC INFRASTRUCTURE อันดับ 1 พร้อมนำพาทุกธุรกิจของ GMM MUSIC พุ่งทะยานไปสู่เป้าหมายการสร้างรายได้ 3,800 ล้านบาทในปี 2566 นี้อย่างที่ตั้งไว้ 

advertisement

SPOTLIGHT