ธุรกิจการตลาด

สรุปแนวทางแก้ปัญหา แอชตัน อโศก กทม.ชี้แก้ไขและยื่นขออนุญาตใหม่ใน 30 วัน 

3 ส.ค. 66
สรุปแนวทางแก้ปัญหา แอชตัน อโศก กทม.ชี้แก้ไขและยื่นขออนุญาตใหม่ใน 30 วัน 

ปัญหาคอนโด แอชตัน อโศก เริ่มชัดเจนมากขึ้นหลังจากวันนี้กรุงเทพมหานครออกมาชี้แจงจึงถึงแนวทางปฏืบัติ ภายหลังศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯและนายสุรัช ติระกุล ผอ.สํานักงานควบคุมอาคาร ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงว่า ทางกทม.น้อมรับคำตัดสินของศาล และต้องปฏิบัติตามที่กฏหมายกฏหนดอยู่แล้ว นั่นคือ ทางกทม.จะส่งหนังสือเพิกถอนใบรับแจ้งอนุญาตก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก ให้กับสำนักงานเขตวัฒนาที่รับผิดชอบดูแลส่งแจ้งไปยังบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ตามกฏหมาย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร มาตรา 41 คาดว่าจะดำเนินการในวันพรุ่งนี้ จากนั้นบริษัทอนันดา สามารถยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างกลับเข้าใหม่ภายใน 30 วัน โดยบริษัทสามารถขยายเวลาได้เป็น 120 วัน

นายชัชชาติ ระบุว่า ต้องให้เวลาบริษัทปรับแก้ไขให้ทุกต้องตามมาตรา 41 ก่อน  ยังไม่ขั้นต้องรื้อถอน(มาตรา42) ลูกบ้านยังอยู่อาศัยและใช้ทางเข้าออกได้ตามปกติ โดยแนวทางแก้ สามารถเปิดพื้นที่ทางออกของโครงการอย่างถูกต้องทางซอยสุขุมวิท 19 ซึ่งมีขนาดถูกต้องตามที่กฏหมายกำหนด และกทม.เตรียมเข้าวัดระยะพื้นที่ซอยสุขุมวิท 19 อีกครั้งเพื่อความถูกต้อง นอกจากนี้ ยังมีฝั่งทางออกฝั่งสุขุมวิท 21 ที่เชื่อมกับถนนอโศก ก็มีความกว้างที่เพียงพอตามข้อกฎหมายของกทม.เช่นกัน 

กทม. แอชตัน อโศก

ผู้ว่า กทม.ยืนยัน กทม.ได้ออกใบรับแจ้งอนุญาตก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก อย่างถูกต้องตามระเบียบ และ ทางอนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก มีรายละเอียดการก่อสร้างมาอย่างถูกต้องตามเงื่อน

ดังนั้นค่าใช้จ่ายต่างๆในการแก้ไข กทม.คงไม่ต้องร่วมรับผิดชอบ  อย่างไรก็ตาม กทม.จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อความโปร่งใสในกระบวนการทำงาน และยืนยันว่า คอนโดที่มีอยู่ในกทม.ปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาแบบกรณีแอชตัน อโศก  ซึ่งจากนี้จะต้องนํากรณีดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาการก่อสร้างคอนโดมิเนียมในอนาคตรอบสถานีรถไฟฟ้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซํ้ารอยแบบนี้ขึ้นอีก

กทม. แอชตัน อโศก

ด้าน บริษัท อนันดา ออกแถลงการณ์ ชี้แจงแนวทางในการแก้ปัญหาโครงการแอชตัน อโศก เพิ่มเติมหลังคำตัดสินศาลปกครองสูงสุด มีใจความดังนี้  

สืบเนื่องจากเหตุการณ์เกี่ยวกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด โครงการแอชตัน อโศก เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 นั้น บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ได้ออกแถลงการณ์แจ้งความคืบหน้าการดำเนินงาน เพื่อแสวงหาทางออกสำหรับท่านเจ้าของร่วม และชี้แจงประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติม ดังนี้

  1. แนวทางแก้ไขกรณีใบอนุญาตก่อสร้าง บริษัทฯ กำลังเร่งพิจารณาหาแนวทางแก้ไข ซึ่งมีอยู่หลายแนวทางที่มีความเป็นไปได้ ดังต่อไปนี้

1.1 ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ โดยการซื้อหรือหาที่ดินเพิ่มเติม

1.2 เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่านสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ไปยังคณะรัฐมนตรี

1.3 เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่าน รฟม. เสนอผ่านกระทรวงคมนาคมไปยังคณะรัฐมนตรี

1.4 ประสานเจ้าของเดิมให้ยื่นทบทวนสิทธิที่ดินทางเข้า-ออกจาก รฟม. ให้ทบทวนสิทธิที่ดินเดิมก่อนเวนคืน ควรให้สิทธิทางเข้า-ออกอย่างน้อย 12-13 เมตร เพื่อให้สามารถขึ้นอาคารสูงและขนาดใหญ่พิเศษได้

1.5 ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ เนื่องจากมีพยานหลักฐานใหม่ ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป

  1. แนวทางช่วยเหลือเรื่องการผ่อนชำระสินเชื่อของท่านเจ้าของร่วมที่มีภาระผูกพันกับสถาบันการเงิน

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เร่งประสานงานกับสถาบันการเงินหลายแห่ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการผ่อนชำระสินเชื่อของท่านเจ้าของร่วมที่ยังมีภาระผูกพันกับสถาบันการเงิน โดยบริษัทฯ ได้เชิญสถาบันการเงินต่างๆ เข้าร่วมประชุม เพื่อหารือแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนในการผ่อนชำระของท่านเจ้าของร่วม ดังนี้

2.1 บริษัทฯ ขอให้สถาบันการเงินพิจารณาแนวทางด้านการผ่อนชำระในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ

2.2 บริษัทฯ ขอให้สถาบันการเงินพิจารณาแนวทางสำหรับมาตรการลดภาระในการผ่อนชำระอื่นๆ

ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลพิจารณาจากสถาบันการเงิน ซึ่งเมื่อได้รับความคืบหน้าประการใด บริษัทฯ จะแจ้งให้ท่านเจ้าของร่วมทราบโดยเร็ว

  1. ประเด็นชี้แจงอื่นๆ เพิ่มเติม

3.1 การออกใบอนุญาตเปิดใช้อาคารแบบมีเงื่อนไข

ประเด็นเรื่องข้อสงวนที่ กทม. กำหนดว่า บริษัทฯ จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบริษัทฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง หากผลการพิจารณาของศาลปกครองเป็นที่สุดว่า โครงการดำเนินการขัดต่อกฎหมายควบคุมอาคาร ข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏอยู่เพียงในใบรับรองการก่อสร้าง (อ.6) ซึ่งเอกสารดังกล่าว กทม. ออกให้บริษัทฯ หลังจากที่โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จและได้มีการขายให้กับลูกค้าแล้ว

นอกจากนี้ในใบอนุญาตอื่นที่ กทม. ออกให้แก่บริษัทฯ ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีข้อความทำนองนี้ปรากฏอยู่ในใบอนุญาตแต่อย่างใด และบริษัทฯ มีความตั้งใจที่จะร่วมแก้ปัญหาไปพร้อมกับ กทม. ต่อไป

3.2 เงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์และรับทราบสถานะคดี

บริษัทฯ ได้แจ้งเรื่องของคดีที่อยู่ในศาลปกครอง นับตั้งแต่ที่ลูกค้าได้ซื้อ-ขายห้องชุด กับบริษัทฯ ตามลำดับดังนี้

- ในช่วงแรกที่บริษัทฯ ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาจะซื้อจะขาย บริษัทฯ ได้ขอขยายระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์ โดยแจ้งเรื่องคดีของโครงการให้ลูกค้าทราบ พร้อมทั้งเสนอแนวทาง 3 ข้อให้ลูกค้าพิจารณา คือ 

(1) การยกเลิกสัญญาและคืนเงิน 

(2) การย้ายโครงการตามที่บริษัทฯ กำหนดไว้ 

(3) หากถือสัญญาไว้ต่อจนถึงครบกำหนดการขยายระยะเวลา (26 มีนาคม 2562) จะได้รับส่วนลด ณ วันโอน ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินที่ชำระมาแล้วทั้งหมด 

โดยสำหรับลูกค้าที่เลือกรับโอนกรรมสิทธิ์ บริษัทฯ ได้ส่งหนังสือขอบคุณพร้อมทั้งแจ้งสถานะเกี่ยวกับคดีของโครงการให้รับทราบด้วย (จากลูกค้าจองทั้งหมด 766 ราย มีลูกค้ายกเลิกสัญญาทั้งหมด 244 ราย ย้ายโครงการ 4 ราย และอยู่รอโอนกรรมสิทธิ์ 518 ราย หลังจากที่บริษัทฯ ได้มีการแจ้งให้ลูกค้าทราบทั้ง 3 แนวทาง)

- ในเวลาต่อมา บริษัทฯ ได้จัดส่งเอกสารแจ้งสถานะคดีของโครงการในหนังสือนัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดไปยังลูกค้าทุกราย ซึ่งได้รับการลงนามการตอบรับมาเป็นส่วนใหญ่

- สำหรับลูกค้าที่ซื้อและทำสัญญาจะซื้อจะขายตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ได้รับทราบสถานะคดีตามที่บริษัทฯ ได้แจ้งไว้ในบันทึกแนบท้ายสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด

ดังนั้นลูกค้าของโครงการแอชตัน อโศก จึงรับทราบสถานะของคดีมาโดยตลอด ทั้งนี้ บริษัทฯ ใคร่ขอยืนยันว่า บริษัทฯ จะร่วมเคียงข้างเจ้าของร่วมทุกท่าน และกำลังเร่งดำเนินการแสวงหาทางออกอย่างสุดความสามารถ โดยจะแจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานต่างๆ ให้ท่านเจ้าของร่วมทราบโดยเร็ว

advertisement

SPOTLIGHT