ธุรกิจการตลาด

TikTok Shop โตเร็ว แย่งตลาดอีคอมเมิร์ซ คาดปีนี้ยอดขายแตะ 20% ของShopee

27 พ.ค. 66
TikTok Shop โตเร็ว แย่งตลาดอีคอมเมิร์ซ คาดปีนี้ยอดขายแตะ 20% ของShopee

TikTok Shop มาแรง รุกตลาด E-Commerce ไว โดยเฉพาะในประเทศอาเซียน พบในปี 2022 มูลค่ายอดขายในภูมิภาคโตขึ้น 4 เท่าจากปีก่อนหน้า แตะ 1.5 แสนล้านบาท แย่งส่วนแบ่งตลาด Shopee/ Lazada โดยเฉพาะในหมู่ผู้บริโภคอายุน้อย

TikTok Shop เป็นฟีเจอร์ใหม่จาก TikTok แอปพลิเคชั่นโซเชียลมีเดียชื่อดังจากจีน ที่ทำให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ทำคลิปสั้นขายของ ที่เปิดให้ผู้ใช้อื่นๆ เข้าไปเลือกซื้อของและจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชั่น TikTok ได้เลยโดยไม่ต้องออกไปแอปอื่น 

จากการรายงานของ CNBC TikTok Shop กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นจากพ่อค้าแม่ค้าใน 6 ประเทศอาเซียนที่ทาง ByteDance ได้ไปตีตลาด E-Commerce ด้วย TikTok Shop ไว้คือ สิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และไทย 

ถึงแม้ทาง TikTok จะไม่ได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่จากข้อมูลของ The Information บริษัทบริการข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทเทคโนโลยีสื่อ ในปี 2022 มูลค่ายอดขายใน 6 ประเทศดังกล่าวพุ่งขึ้นถึง 4 เท่าจากปีก่อนหน้า ไปถึง 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.5 แสนล้านบาท 

ซึ่งถึงแม้จะยังน้อยนิดเมื่อเทียบกับตัวเลขของ Shopee ที่อยู่ที่ 7.35 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Lazada ที่อยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ตัวเลขนี้ก็ถือว่าสูงพอสมควรสำหรับแพลตฟอร์ม E-Commerce น้องใหม่ที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาเป็นแพลตฟอร์มซื้อของออนไลน์โดยเฉพาะ

โดยจากการคาดการณ์ของ Blue Lotus Research Institute สถาบันวิจัยด้านธุรกิจจากฮ่องกง ภายในปี 2023 มูลค่ายอดขายของ TikTok Shop จะขึ้นไปแตะ 20% ของ Shopee ที่ยังเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ที่สร้างมูลค่ายอดขายได้สูงที่สุดในอาเซียน และจะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคต

 

ทำไม TikTok Shop จึงมาแรง?

ปัจจัยที่ทำให้ TikTok Shop ค่อนข้างประสบความสำเร็จมีหลายอย่างทั้ง 1.ฐานผู้ใช้ที่ใหญ่ และ 2. ค่าธรรมเนียมการขายที่ยังถูก 

โดยจากข้อมูลของ TikTok จำนวนผู้ใช้แอปพลิเคชั่น TikTok ในอาเซียนมีสูงถึง 135 ล้านคน โดยหนึ่งประเทศในภูมิภาคนี้คือ ‘อินโดนีเซีย’ คือประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้ TikTok สูงที่สุดในโลกรองจากสหรัฐฯ ทำให้ผู้ขายของบน TikTok Shop มีโอกาสในการเข้าถึงฐานผู้ใช้ผู้ชมขนาดใหญ่ ที่พ่อค้าแม่ค้าอาจเปลี่ยนมาเป็นฐานลูกค้าได้หากสามารถคิดทำคอนเทนต์ขายของได้ตรงใจผู้ชม

นอกจากนี้ TikTok Shop ยังคิดค่าธรรมเนียมการขายที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์ม E-Commerce อื่นๆ โดย TikTok Shop ในสิงคโปร์คิดค่าธรรมเนียมการขายเพียง 1% ในขณะที่ Shopee คิดสูงกว่า 5% ทำให้พ่อค้าแม่ค้าสามารถขายสินค้าตัวเดียวกันได้ในราคาถูกลงมากบน TikTok Shop

จากการสำรวจของ Cube Asia บริษัทวิจัยด้านการค้าปลีกออนไลน์ ที่สำรวจพฤติกรรมการใช้แอปพลิเคชั่นซื้อของของลูกค้า TikTok Shop ในอินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ ลูกค้าดังกล่าวใช้เวลาบนแอป Shopee น้อยลง 51% และใช้เวลาบน Lazada น้อยลง 45% สะท้อนว่าหาก TikTok ยังคงรักษาโมเมนตัมการเติบโตนี้ไว้ได้ ลูกค้าที่เคยซื้อของบนแอป Shopee และ Lazada ก็อาจจะกลายมาเป็นเจ้าประจำของ TikTok Shop ในอนาคต

 

อาจโตได้ไม่ยั่งยืน เพราะเผาเงินได้ไม่นาน

อย่างไรก็ตาม โมเดลการเร่งให้แพลตฟอร์มโตด้วยการกดราคาค่าธรรมเนียมให้ต่ำนี้อาจไม่ยั่งยืนนักเพราะมันทำให้ TikTok Shop ต้องแบกต้นทุนสูงกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ และอาจทำได้ไม่นาน เพราะโมเดลการเผาเงินไปก่อนเพื่อสร้างฐานลูกค้าอาจเป็นอะไรที่ล้าสมัย และพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ทำให้บริษัทโตได้อย่างยั่งยืน ดูได้จาก Shopee และ Grab ที่ต่างเพิ่มกำไรหรือลดขาดทุนได้ด้วยการลดค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ ด้วยความที่ผู้ใช้ TikTok ส่วนมากเป็นคนอายุน้อย จึงยังไม่มีกำลังซื้อมากพอ จนสร้างรายได้ที่สูงพอมาให้ TikTok Shop กลบการขาดทุนจากการกดค่าธรรมเนียมให้ต่ำได้

โดยจากความเห็นของนักวิเคราะห์ TikTok Shop มีศักยภาพพอเติบโตขึ้นมาเทียบเท่า Shopee และ Lazada ได้ แต่ไม่น่าจะเป็นเร็วๆ นี้ เพราะยังมีการจัดการระบบซื้อขายที่ยังไม่ดีเทียบเท่าแพลตฟอร์ม 2 เจ้าใหญ่ ที่พัฒนาระบบจนสะดวกสบายหมดแล้วทั้งการจองของ รีวิวของ และติดตามการส่งของ



ที่มา: CNBC

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT