ธุรกิจการตลาด

อมรินทร์ แจ้งตลท.เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)

29 เม.ย. 66
อมรินทร์ แจ้งตลท.เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)

ธุรกิจสื่อล้วนปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลและมองหาโอกาสใหม่ในการทำรายได้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 ของบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ทีไ่ด้จัดขึ้นเมื่อ 27 เม.ย.2566 มีมติเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ตัวย่อในตลาดหลักทรัพย์ฯยังคงเดิมคือ AMARIN เพื่อรองรับการปรับตัวของธุรกิจที่ไม่ได้มีขอบเขตเพียงแค่ธุรกิจพริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง อีกต่อไป 

คุณระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ปัจจุบันธุรกิจของกลุ่มอมรินทร์ มีความหลากหลาย โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่มหลัก คือ On Print , On Line , On Shop , On Air และ  On Ground  ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจของอมรินทร์มีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง และกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาโอกาสทางธุรกิจทั้งการต่อยอดจากธุรกิจที่มีอยู่และโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และเตรียมเม็ดเงินในการลงทุนไว้พร้อมตั้งแต่ปี 2023 ถึงปี 2025

บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)

 

บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)

 

  รายได้เติบโตขึ้นถึง 44.4 % รวม 4,274.45 ล้านบาท 

สำหรับผลประกอบการของ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยในปี 2565 มีรายได้รวม 4,274.45 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนเป็นจำนวนเงิน 1,313.84 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นถึง  44.4 %  ซึ่งมีเหตุผลหลักมาจาก

  1. รายได้จากธุรกิจผลิตงานพิมพ์และจำหน่ายหนังสือมีการเติบโตถึงร้อยละ 91.5 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 โดยมาจากการขยายตัวของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และการเติบโตของธุรกิจการจัดจำหน่ายหนังสือเล่มผ่านหน้าร้านหนังสือต่าง ๆ และโดยเฉพาะผ่านช่องทางออนไลน์ซึ่งมีการอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 83.4

  2. รายได้จากธุรกิจมีเดียและอีเวนต์ รวมการให้บริการโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ และการจัดงานแสดงสินค้าและอีเวนต์ต่าง ๆ ซึ่งในปี 2565 มีอัตราการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 72.9 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 โดยเฉพาะรายได้จากการจัดงานแสดงสินค้าที่เติบโตถึงร้อยละ 147.6โดยบริษัทฯ สามารถดำเนินการจัดงานแสดงสินค้าได้ใกล้เคียงกับแผนงานที่วางไว้ทั้งงานบ้านและสวนแฟร์ที่มีการจัดงานถึง 3 ครั้ง งานอมรินทร์ เบบี้แอนด์ คิดส์ แฟร์ ที่มีการจัดงานในระหว่างปีถึง 4 ครั้ง รวม ทั้งงานอื่น ๆ

  3. รายได้จากธุรกิจสื่อทีวีดิจิทัล ที่ยังคงรักษาระดับรายได้ไว้ได้ แม้ว่ายอดในการซื้อสื่อทีวีดิจิทัลในอุตสาหกรรมจะมีมูลค่ารวมที่ลดลง แต่บริษัทฯ ยังมีรายได้ 1,287.33 ล้านบาท ใกล้เคียงกับรายได้ในปี 2564 ที่มีรายได้ 1,282.36 ล้านบาท

  ต้นทุนขายและค่าใช้จ่าย 

ต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายในปี 2565 บริษัทฯ มีต้นทุนขายและบริการ เท่ากับ 2,847.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2564 จำนวน 1,117.07 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 64.6 ซึ่งเป็นไปตามทิศทางการเติบโตของรายได้ โดยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นนัยสำคัญก็คือ ต้นทุนการจัดงานแสดงสินค้าเป็นไปตามจำนวนงานที่มีการจัดเพิ่มขึ้น ซึ่งมีอัตราการเติบโตของต้นทุนนี้ถึงร้อยละ 95.8 อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังสามารถบริหารค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้บริษัทฯมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารรวมในปี 2565 เท่ากับ 957.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 36.16 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเพียง ร้อยละ 3.9ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่น้อยมากเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของรายได้

ผลประกอบการ AMARIN 2565

กำไรสุทธิเพิ่มสูงขึ้น 51.5 % อนุมัติจ่ายปันผล 0.29 บาท/หุ้น

จากอัตราการเติบโตของรายได้ ในขณะที่บริษัทสามารถบริหารค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้บริษัทฯมีอัตราการขยายตัวของกำไรสุทธิที่สูงขึ้น โดยในปี 2565 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ สูงถึง 474.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 เท่ากับ 161.26 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิสูงถึงร้อยละ 51.5

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทฯเห็นชอบให้จ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิตามงบการเงินรวมแก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.29 บาท รวมเป็นเงิน 289,501,661 บาทเมื่อคำนวณการจ่ายเงินปันผลตามอัตราข้างต้นแล้ว จะคิดเป็นร้อยละ 61.03 ของกำไรสุทธิประจำปีของงบการเงินรวม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลตามงบการเงินรวม โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566

ที่มา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT