ธุรกิจการตลาด

เมื่อทั่วโลกลองให้ทำงาน 4 วัน แต่ปัญหาและอุปสรรคก็มีไม่น้อย

12 พ.ค. 65
เมื่อทั่วโลกลองให้ทำงาน 4 วัน  แต่ปัญหาและอุปสรรคก็มีไม่น้อย

หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายประเทศทั่วโลกได้ปรับตัวการทำงานครั้งใหญ่สุด ไม่ว่าจะเป็นให้ทำงานที่บ้าน หรือแม้แต่ตัวพนักงานเองก็พิจารณาที่ทำงานว่าให้ความสำคัญกับ Work life balance หรือไม่

 

ล่าสุดเทรนด์ที่กำลังตามมาก็คือการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ หลายประเทศและหลายองค์กรเองก็เริ่มปรับตัวกับเรื่องนี้ แม้ว่าจะเป็นขั้นทดลองในหลายประเทศก็ตาม

 

เริ่มต้นที่ญี่ปุ่น ซึ่งเรารู้กันว่าประเทศที่เราเห็นว่าบ้างานอันดับต้นๆ ของโลก และมีกรณีที่เกิดการเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไป (Karoshi) หรือไม่ก็มีกรณีการฆ่าตัวตายซึ่งเกิดจากปัญหาที่เกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งเราอาจเคยได้ยินข่าวกันมาบ้าง 

 

แต่ ณ ตอนนี้ หลายประเทศ รวมถึงญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนแปลงในเรื่องวัฒนธรรมการทำงานอย่างหนัก นำโดยภาคธุรกิจใหญ่ๆ เริ่มหันมาทำงาน 4 วันบ้างเหมือนกับประเทศอื่นเช่นกัน

 

เมื่อบริษัทญี่ปุ่นลองทำงาน 4 วัน 

 

Japan Times รายงานว่าบริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่หลายบริษัทเริ่มให้พนักงานทำงานได้ 4 วันเพิ่มมากขึ้น ล่าสุดเป็นบริษัทอย่าง Panasonic ที่เดินตามรอยบริษัทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Hitachi สถาบันการเงินอย่าง Mizuho Financial รวมถึง Fast Retailing ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ร้านขายเสื้อผ้ายี่ห้อดังอย่าง UNIQLO เป็นต้น

 

ฮิโรมิ มูราตะ นักวิจัยอาวุโสของสถาบัน Recruit Works กล่าวกับ Japan Times ว่า การที่บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งได้ให้พนักงานทำงาน 4 วันเนื่องจากต้องการที่จะรักษาพนักงานที่มีทักษะไว้ให้ได้ เนื่องจากการจ้างพนักงานใหม่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการพัฒนาทักษะ 

 

ฮิโรมิได้ยกตัวอย่างเรื่องของพนักงานที่มีทักษะ หรือแม้แต่พนักงานหญิงที่ต้องเลี้ยงเด็ก ซึ่งคนเหล่านี้ไม่สามารถทำงานเต็มสัปดาห์ได้ และเพื่อที่จะเพิ่มโอกาสในการหาพนักงานที่มีความสามารถ บริษัทต่างๆ ในญี่ปุ่นจึงต้องใช้ให้ข้อเสนอว่าพนักงานสามารถทำงาน 4 วัน 

 

ขณะที่บริษัทยาอย่าง Shionogi & Co ได้อนุญาตให้พนักงานสามารถมีวันหยุดได้ 3 วันโดยหวังว่าพนักงานจะมีทักษะในการทำงานเพิ่มขึ้น ไปจนถึงการมีคอนเนคชั่นใหม่ๆ จากการศึกษา หรือแม้แต่การทำงานที่อื่นๆ เพิ่มเติม นอกจากนี้บริษัทยารายนี้ยังก้าวเข้ามาในโลกดิจิทัลมากขึ้น จึงต้องการให้พนักงานทำงาน 4 วัน และ 3 วันที่เหลือออกไปเรียนรู้ทักษะด้านดิจิทัลเพิ่มเติม 

 

ทดลองในหลายประเทศแล้วได้ผลดี

 

ผลการวิจัยในเรื่องการทำงาน 4 วันว่าจะส่งผลต่อการทำงานหรือไม่นั้นยูเอส ทูเดย์ ได้รายงานผลการทดลองในประเทศไอซ์แลนด์ในช่วงปี 2015-2019 โดยคนงานที่ได้รับค่าจ้างเท่ากันและทำงาน 4 วัน นักวิจัยกล่าวว่าผลผลิตของคนที่ทำงาน 4 วันยังคงเท่าเดิมหรือดีขึ้นในสถานที่ทำงานส่วนใหญ่ และลดปัญหาเบิร์นเอาต์ได้อีกด้วย

 

หรือแม้แต่การทดลองของยูนิลีเวอร์ ในประเทศนิวซีแลนด์ช่วงปี 2020-2021 ร่วมมือกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งซิดนีย์ ที่ทำการทดลองกับพนักงาน 81 คนนั้น นิค แบงส์ กรรมการผู้จัดการของยูนิลีเวอร์ นิวซีแลนด์ ชี้ว่า “พนักงานสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมถึงปรับปรุงความเป็นอยู่ของชีวิตให้ดีขึ้นคือหัวใจของการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์”

 

ขณะที่ประเทศอื่นๆ ก็เริ่มนำวิธีดังกล่าวมาใช้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศอินโดนีเซีย Alami ผู้ให้บริการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลทั่วไปผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ในปี 2021 ที่ผ่านมาเริ่มทดลองให้พนักงานทำงาน 4 วัน และในวันศุกร์ที่เป็นวันหยุดพนักงานสามารถใช้เวลากับครอบครัว ทำงานอดิเรก ไปจนถึงศึกษาศาสนาอิสลามเพิ่มเติมได้ โดยถ้าหากทดลอง 3 เดือนแล้วประสบความสำเร็จ บริษัทก็จะนำนโยบายดังกล่าวมาใช้ทันที

 

หลายประเทศเริ่มทดลองทำงาน 4 วันมากขึ้น

 

นอกจากนี้การทำงาน 4 วันเริ่มเป็นเงื่อนไขที่พนักงานหลายคนสนใจเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยผลสำรวจของ Hays ที่จัดทำในประเทศไอร์แลนด์ 64% ของผู้สำรวจชี้ว่าพวกเขาพร้อมย้ายงานทันที ถ้าหากมีข้อเสนอให้ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์

 

ในรายงานของ Hays ยังชี้ว่า 6% ของบริษัทในไอร์แลนด์เริ่มนำการทำงานแบบ 4 วันมาใช้งานแล้วด้วย 

 

มาดูที่แดนจิงโจ้กันบ้าง รายงานของ Mercer ได้ชี้ว่า 1 ใน 4 ของบริษัทที่สำรวจเริ่มให้สวัสดิการในการทำงาน 4 วันสัปดาห์ให้กับพนักงานตัวเอง และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา

 

แม้แต่รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เริ่มให้ข้าราชการทำงาน 4 วันครึ่ง ในปี 2022 โดยวันศุกร์สามารถที่จะทำงานที่บ้าน หรือปรับเปลี่ยนช่วงการทำงานได้ โดยมองว่าการทำงานเช่นนี้เพิ่มสมรรถนะในการทำงาน และยังทำให้เกิด Work life balance มากขึ้น

 

แต่ทุกอย่างไม่ได้สวยหรูขนาดนั้น 

 

อย่างไรก็ดีการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ก็อาจไม่ได้สวยหรู และมุมมองของคนทำงานก็มองว่ายังมีโอกาสน้อยที่จะเกิดขึ้นได้ในเร็วๆ นี้ และยังเป็นขั้นทดลองด้วยซ้ำ

 

ในกรณีของญี่ปุ่นการทำงาน 4 วันของบริษัทยา Shionogi & Co ได้จ่ายค่าจ้างเพียงแค่ 80% ของเงินเดือน โดยให้ข้ออ้างที่ว่าบริษัทเองได้ให้พนักงานสามารถหางานอื่นๆ ทำเพิ่มเติมได้ 

 

ผลสำรวจจาก Mynavi Corp ที่ได้รายงานผลสำรวจของคนวัยทำงานตั้งแต่ช่วงอายุ 20 ปีจนถึง 50 ปี จำนวน 800 คน แสดงให้เห็นว่า 78.5% ของคนวัยทำงานเหล่านี้ไม่ต้องการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ถ้าหากโดนลดเงินเดือนลง 

 

ขณะเดียวกัน ฮิโรมิ เองก็ได้เตือนถึงข้อด้อยในการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ว่ามีความลำบากในการจัดการ นอกจากนี้ยังทำให้ขาดการสื่อสารของพนักงานระหว่างกัน 

 

ซ้ำร้ายไปกว่านั้นในผลสำรวจของ Mynavi Corp ผู้ตอบแบบสอบถามถึง 60.1% ยังมองว่าในที่ทำงานของพนักงานเหล่านี้ไม่สามารถทำงาน 4 วันสัปดาห์ได้เลย ด้วยเหตุผลตั้งแต่พนักงงานที่ไม่เพียงพอ จนถึงงานหนักเกินไป นั่นทำให้เราเห็นว่าหลายบริษัทเองก็ยังไม่ได้พร้อมที่จะให้พนักงานทำงาน 4 วันด้วยซ้ำ

 

ขณะที่มุมมองของพนักงานชาวไอร์แลนด์ที่ Hays สำรวจ 22% มองว่ากว่าจะมีการทำงานแบบ 4 วันอาจต้องรอ 5-10 ปีถึงจะเป็นจริงขึ้นมา ส่วนอีก 23% มองว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง แต่อีก 54% มองว่าอาจเป็นจริงได้ภายใน 5 ปีนี้

 

ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเทรนด์การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์อาจเกิดขึ้นจริงได้ แต่ในช่วงเวลานี้คือช่วงแห่งการทดลอง และเรียนรู้ว่าพนักงาน และองค์กรสามารถไปด้วยกันกับนโยบายนี้หรือไม่



ที่มา - Silicon Republic , RTE , Japan Times




ข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT