ธุรกิจการตลาด

ระดับ "ซีเอ็นเอ็น" ก็เอาไม่อยู่ ช่องสตรีมข่าว CNN+ ปิดตัวสิ้นเดือนนี้

22 เม.ย. 65
ระดับ "ซีเอ็นเอ็น" ก็เอาไม่อยู่ ช่องสตรีมข่าว CNN+ ปิดตัวสิ้นเดือนนี้

เมื่อตอนที่ช่องข่าวดังระดับโลกอย่าง CNN ประกาศว่าจะเข้ามาทำธุรกิจ "สตรีมมิ่ง" (Streaming) กับเขาด้วย ในครั้งนั้นหลายฝ่ายยังไม่ค่อยเชื่อนักว่า "ช่องข่าวสตรีมมิ่ง" จะไปรอด เพราะผู้ชมอาจจะยอมจ่ายเพื่อดูช่องบันเทิง+สารคดีและข่าว แต่ใครจะยอมจ่ายเพิ่มเพื่อดูช่องสตรีมข่าวสาร สารคดี หรือคอนเทนต์เนื้อหาจริงจังโดยเฉพาะ

ล่าสุด สิ่งที่หลายฝ่ายสงสัยก็เป็นจริงขึ้นมาแล้ว ซึ่งพิสูจน์ได้ในเวลาอันรวดเร็วเพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น เมื่อช่อง "CNN Plus" (CCN+) ประกาศปิดตัวในสิ้นเดือน เม.ย. 2565 นี้ หลังจากที่เพิ่งเริ่มสตรีมไปเมื่อวันที่ 29 มี.ค. หรือเรียกได้ว่าเป็น "การปิดฉากที่เร็วที่สุดทุบสถิติของทุกแพล็ตฟอร์มสตรีมมิ่ง" ไปเรียบร้อยแล้ว

ซีเอ็นเอ็นลงทุนไปมหาศาลนับ 100 ล้านดอลลาร์ มีการจ้างพนักงานถึงกว่า 600 คน แต่ก็ทนไม่ไหวต้องปิดตัวลงเมื่อมียอดผู้ชม "ไม่ถึง 10,000 คนต่อวัน" จนเกิดคำถามขึ้นว่า CNN+ "เจ๊งเพราะคนไม่ดูข่าวแล้ว" หรือเพราะอะไรกันแน่?

ทีมข่าว SPOTLIGHT ช่วยสรุปให้สั้นๆ 5 ข้อ ดังนี้


1. CNN คืออะไร ดังแค่ไหน?

CNN เป็นช่องเคเบิลในสหรัฐ (ไม่ฟรี เสียเงินค่ารับชม) และได้ชื่อว่าเป็น "ช่องเคเบิลข่าวล้วนช่องแรกในสหรัฐ" ก่อตั้งขึ้นในปี 1980 และมาโด่งดังเป็นพลุแตกในอีก 10 ปีต่อมา จากผลงานแจ้งเกิดที่ทำให้เป็นที่รู้จักทั้งในสหรัฐและทั่วโลกคือ การรายงานข่าว "สงครามอ่าวเปอร์เซีย" ในปี 1990–1991 เพราะเป็นช่องเดียวที่สามารถส่งทีมเข้าไปรายงานข่าวในประเทศอิรัก ที่กำลังถูกสหรัฐและพันธมิตรรุมกินโต๊ะทำสงครามถล่มได้ จึงทำให้ซีเอ็นเอ็นมียอดผู้ชมแซงหน้า 3 บิ๊กทีวีในขณะนั้นได้เป็นครั้งแรก (CBS, NBC, ABC) และกลายเป็นช่องข่าวที่คนทั้งโลกต้องดู การเป็นช่องที่เน้นรายงานสด รวดเร็ว และถึงลูกถึงคน เช่น เป็นช่องแรกที่รายงานเหตุวินาศกรรม 9/11 ทำให้ซีเอ็นเอ็นสามารถครองความเป็นช่องข่าวชั้นนำมาได้ตลอด

hqdefault

ในปี 2018 ซีเอ็นเอ็นมีผู้ชม 90.1 ล้านคน แต่ในช่วงกลางปี 2021 แม้จะเป็นช่องเคเบิลที่มีผู้ชมมากที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจาก Fox News และ MSNBC แต่ก็มียอดคนดูเฉลี่ยต่อวันที่ 580,000 คน (ลดลง 49% จากปีก่อน) ท่ามกลางธุรกิจช่องเคเบิลที่ซาลง เพราะผู้ชมหันไปหาคอนเทนต์ออนดีมานด์ ทางช่องสตรีมมิ่งแทน



2. ทำไม CNN ต้องเข้ามาทำสตรีมมิ่งกับเขาด้วย?

ปัจจัยที่คาดว่าเป็นแรงผลักดันก็คือ การซาลงของธุรกิจช่องฟรีทีวีและเคเบิลทีวี สวนทางกับธุรกิจออนดีมานด์ที่กำลังเป็นขาขึ้น เช่น สตรีมมิ่ง ที่คนจะเลือกดูคอนเทนต์อะไรก็ได้ ดูเวลาไหนก็ได้ และดูบนมือถือ แท็บเล็ต หรือทีวีก็ได้ ทำให้ยอดคนดูเฉลี่ยต่อวันของซีเอ็นเอ็นที่เคยขึ้นไปถึงหลักล้าน ลดลงเหลือเพียงกว่า 5 แสนคนเท่านั้น และนับเป็นสาเหตุสำคัญที่ซีเอ็นเอ็นตัดสินใจโดดเข้าร่วมสมรภูมิสตรีมมิ่งกับเขาด้วย

ซีเอ็นเอ็นประกาศเปิดตัว ช่องสตรีมมิ่งข่าว CNN+ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2021 โดยมีเป้าหมายว่าจะเป็นธุรกิจข่าววิดีโอแบบสมัครสมาชิกหนึ่งเดียวของโลกให้ได้ และบริษัทต้องการให้ CNN+ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมให้มากขึ้น (Interactive) ผู้ชมสามารถถามคำถามระหว่างการสตรีมรายการสดได้ และทางรายการก็สามารถตอบให้ได้ทันที ซึ่งเป็นรูปแบบรายการเหมือนกับที่ Netflix มีอยู่


3. CNN+ คืออะไร เป็นช่องสตรีมมิ่งแบบไหน

CNN+ เริ่มเปิดการสตรีมครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่เพิ่งผ่านมา มีลักษณะเป็นช่องสตรีมข่าว ที่มีการผลิตออริจินัลคอนเทนต์ของงตัวเองขึ้นใหม่เพียบ โดยพยายามปรับให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้น (Personalized) และเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม (Interactive) ทางช่องมีรายการสดถึง 8 รายการต่อวัน สตรีมสด 8-12 ชม.ต่อวัน โดยรวมเอาผู้ประกาศคนดังๆ ของซีเอ็นเอ็นมาไว้ที่นี่

blank-cnn-plus-courtesy-slate

จากข้อมูลข้างต้นก็พอจะเดาได้ว่า เป็นการลงทุนที่ต้องใช้เงินและคนมากขนาดไหน มีรายงานว่า CNN+ จ้างพนักงานมากกว่า 600 คน และมีการลงทุนไปแล้วกว่า 100 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ช่องมีแผนจะลงทุนประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ ภายใน 4 ปีข้างหน้า

สำหรับค่าสมาชิกนั้น อยู่ที่เดือนละ 5.99 ดอลลาร์ (ไม่รวมช่อง CNN ปกติ) แต่ช่วงแรกมีโปรโมชั่นที่เดือนละ 2.99 ดอลลาร์ ในเบื้องต้นนั้น CNN+ ขายแบบเป็นแอปพลิเคชั่นเดี่ยวก่อน แต่คาดว่าจะขายมัดรวมเป็นแพ็กเกจ หรือ Bundle ร่วมกับ HBO Max และ Discovery Plus ในภายหลัง ซึ่งบริษัทแม่ของซีเอ็นเอ็นอย่าง WarnerMedia ก็เพิ่งจะควบรวมกับ Discovery เสร็จเรียบร้อยไม่นานนี้ แต่ก็ตัดสินใจปิดช่องเสียก่อน

 

4. ทำไมถึงเจ๊ง? เพราะคนไม่ดูข่าวแล้วหรือ?

แม้จะสร้างความพิเศษนอกเหนือไปจากช่องข่าวปกติ แต่กลับไม่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีนัก เพราะในแง่ตัวเลขผู้สมัครสมาชิกของ CNN+ ที่คิดค่าบริการ 5.99 เหรียญสหรัฐต่อเดือนนั้น มีรายงานว่าอยู่ที่ 150,000 รายเท่านั้น และมียอดคนดูจริงๆ เฉลี่ยต่อวัน ไม่ถึง 10,000 คน

จุดนี้เองตอกย้ำกับที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายพูดเอาไว้ 2 ประเด็นสำคัญคือ

1. การทำช่องสตรีมมิ่งข้าวล้วนโดยไม่พ่วงบันเทิง เป็นเรื่องยาก เพราะถือเป็นกลุ่มคนดูเฉพาะ ทำให้อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของยทอดสมัครสมาชิก

และ 2. การที่ทำให้คนหันมายอมจ่ายเงินเพื่อรับชมข่าว เพราะปัจจุบัน ตลาดข่าวทีวีนั้นมีการสตรีมมิ่ง "ฟรี" กันเป็นปกติ และข่าวทีวีก็มีลักษณะต่างจากข่าวหนังสือพิมพ์ ที่มีลักษณะเป็นข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน และข่าวเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะ ซึ่งทำให้หนังสือพิมพ์ชั้นนำ เช่น The New York Times และ Financial Times สามารถทำรายได้จากระบบการบอกรับสมาชิก (Subscription) ได้

hbo

นิวยอร์กไทม์ส รายงานอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า การปิด CNN+ ยังมาจากการแตกแยกภายในบริษัทเอง ที่เพิ่งจะมีการควบรวมกิจการครั้งใหญ่ และไม่สบายใจกับการใช้งบลงทุนใหม่มหาศาล บริษัทแม่ไม่ได้ต้องการ CNN+ เป็นช่องสตรีมมิ่งข่าวฉายเดี่ยวแบบ แต่อยากให้เป็นแพ็กเกจมัดรวมกับไปกับสื่อบันเทิงอย่าง HBO Max และ Discovery Plus มากกว่า เพราะมองว่าสตรีมมิ่งข่าวเป็นนีชมาร์เก็ตมากเกินไป ยากที่อยู่รอดได้แบบเดี่ยวๆ โดยไม่พ่วงคอนเทนต์บันเทิงไปด้วย



5. เจ๊งแล้วเกิดอะไรขึ้นต่อกับบริษัทและพนักงาน?

เมื่อต้องปิดตัว ทางแพลตฟอร์มบอกว่า จะมีการคืนเงินให้ลูกค้าโดยคิดจากระยะเวลาการใช้งานจริง ส่วนพนักงานกว่า 600 ชีวิตนั้น มีรายละเอียดเบื้องต้นเพียงว่า จะเปิดโอกาสให้กลับไปสมัครงานที่ซีเอ็นเอ็นและบริษัทแม่ แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะรับในสัดส่วนเท่าใด

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ CNN+ ได้สร้างประวัติศาสตร์เป็นธุรกิจสตรีมมิ่งที่ปิดตัวเร็วที่สุดในทุกแพลตฟอร์มไปแล้ว และเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่บ่งชี้ว่า ชื่อเสียงกับคุณภาพ ไม่ได้ช่วยการันตีความสำเร็จของธุรกิจใหม่เสมอไป

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT