Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ปัญหาโลกแตกและทางออกของธุรกิจครอบครัวไทย
โดย : มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

ปัญหาโลกแตกและทางออกของธุรกิจครอบครัวไทย

7 ก.ย. 67
06:00 น.
|
278
แชร์

เคยได้ยินคนในออฟฟิศพูดกันว่า “ที่นี่เราอยู่กันเหมือนครอบครัว” กันหรือเปล่า? นั่นเป็นคำเปรียบเทียบบรรยากาศการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อเฟื้อ มีน้ำใจ และห่วงใยกันเสมือนคนในครอบครัว ซึ่งก็เป็นจริงบ้าง ไม่จริงบ้างในแต่ละที่ ไม่มีใครรู้ดีเท่ากับคนทำงานที่อยู่ในองค์กรจริงๆเป็นแน่ว่า ตกลงแล้วเป็นครอบครัวหรือเป็นอะไรกันแน่

แต่เมื่อเราพูดถึงคำว่า ธุรกิจครอบครัว หรือ Family Business ตามความหมายของมันจริงๆ จะพบว่าเป็นหน่วยธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญมาก หลายแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกกว่าที่จะครองพื้นที่ทางธุรกิจได้ขนาดนี้ก็เคยเป็นธุรกิจครอบครัวมาก่อนทั้งสิ้น และยังมีธุรกิจครอบครัวอีกจำนวนมากที่มีบทบาทต่อความเป็นไปของระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็ตามที

ธุรกิจครอบครัว หรือ Family Business

ถ้าใครเป็นแฟนซีรีส์เรื่อง Succession คงจะพอเห็นและเข้าใจบริบทของธุรกิจครอบครัวในตระกูลใหญ่ได้เป็นอย่างดี ทั้งเรื่องการแย่งชิงอำนาจ ล็อบบี้เพื่อผลประโยชน์ รวมทั้งกลเกมทางธุรกิจ ถ้าตัดเนื้อหาเรื่องสีสันของโลกฮอลลีวูดออกไป จะพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในซีรีส์นั้นไม่ได้แตกต่างจากโลกความเป็นจริงเลย และบางชีวิตจริงของบางครอบครัวอาจแย่กว่านั้นด้วยซ้ำ

ดังนั้นการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวอย่างเป็นมืออาชีพ มีการวางแผนสืบทอดกิจการ (Sucession Plan) จึงเป็นเรื่องใหญ่ รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านไปสู่องค์กรในตลาดทุนเพื่อการดำรงอยู่ต่อไปขององค์กรด้วย

เมื่อไม่นานมานี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพิ่งจะจัดงานสัมมนาใหญ่ธุรกิจครอบครัว Family Business in the Globalized Asia โดยเชิญเจ้าของและทายาทธุรกิจทั่วประเทศร่วมงาน หนึ่งในวิทยากรที่บินลัดฟ้ามาให้ความรู้คือ มาร์ติด โรล นักวางกลยุทธ์ ที่ปรึกษาธุรกิจและนักวางแผนธุรกิจครอบครัวระดับโลก ซึ่งผู้เขียนมีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ เขาบอกว่าธุรกิจครอบครัวยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากของเศรษฐกิจโลก โดย 85% ของหน่วยธุรกิจทั้งบนเป็นธุรกิจครอบครัวทั้งนั้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน บริษัทห้างร้าน ปั๊มนำมัน ร้านชำ ไปจนถึงร้านอาหาร ร้านกาแฟ

family-business-in-the-global

คำพูดที่กล่าวว่า รุ่นหนึ่งสร้างธุรกิจ รุ่นสองต่อยอด ส่วนรุ่นสามทำทุกอย่างพังและปิดตัว เป็นเรื่องจริง เกิดเหตุการณ์แบบนี้ในทุกประเทศไม่ใช่แค่เมืองไทย มาร์ตินบอกว่าเรื่องใหญ่คือ เกือบทั้งหมดของธุรกิจครอบครัวไม่มีแผนในการสืบทอดกิจการ เมื่อหัวหน้าครอบครัวหรือเบอร์หนึ่งเสียชีวิตไป ก็เกิดความขัดแย้งในหมู่พี่น้องที่ต้องการเข้ามาบริหารงานต่อ หรือบางส่วนก็เบื่อหน่าย ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว เลือกที่จะไปทำงานภายนอก ซึ่งเสียโอกาสที่คนเก่งๆจะได้ช่วยธุรกิจครอบครัวต่อ

มาร์ตินเล่าว่า เรื่องทายาทคนที่ใช่ (The Right Child) นี่สำคัญมาก คนเป็นพ่อแม่หรือเจ้าของกิจการไม่สามารถตัดสินใจด้วยอารมณ์หรือคิดจากข้อมูลระยะสั้นได้ แม้ค่านิยมของบางภูมิภาคจะแตกต่างกัน อย่างในเอเชียที่ยังให้น้ำหนักลูกคนโตหรือลูกชายมากกว่าลูกสาว แต่บางภูมิภาคก็เห็นบทบทบาทของลูกคนกลางหรือลูกคนเล็กที่ทำงานเก่ง เหมาะสมจะสืบทอดกิจการมากกว่าได้ขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งแทน เขาแนะนำว่าควรให้ลูกๆได้มีโอกาสเข้ามาทำงานร่วมกันในธุรกิจครอบครัว ให้บทบาทที่ชัดเจนและอำนาจตัดสินใจกับแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กหรือใหญ่ เขาจะรู้สึกมีคุณค่า มีความสำคัญ หากไม่ทำเรื่องนี้ให้ชัดเจน ลูกหรือหลานเหล่านั้นจะรู้สึกไร้ตัวตนและจากหายไปในที่สุด

การทำองค์กรให้เป็นมืออาชีพอย่างการจัดทำธรรมนูญครอบครัวถือเป็นทางเลือกที่ดี ยิ่งธุรกิจครอบครัวใหญ่มากขึ้น จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นก็จำเป็นต้องทำ หลักการที่สำคัญคือเรื่องค่านิยมของแต่ละครอบครัวที่ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องอะไร บางครอบครัวอาจยึดถือเรื่องความกตัญญูรู้คุณเป็นใหญ่ บางครอบครัวอาจยึดเรื่องความถูกต้อง หรือบางครอบครัวก็อาจให้น้ำหนักกับผลประโยชน์และความมมั่นคงของกิจการเป็นหลัก เมื่อค่านิยมชัดเจนแล้ว ก็จะกำหนดแนวทางต่อไปเพื่อแตกรายละเอียดเป็นข้อปฏิบัติได้ ปัจจุบันนี้มีบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลกรวมทั้งบริษัทชั้นนำของไทย ที่เข้าไปช่วยปรับโครงสร้าง ทำธรรมนูญครอบครัว สรรหามืออาชีพมาเป็นผู้บริหาร จัดการความมั่งคั่งและสินทรัพย์ รวมทั้งช่วยเปลี่ยนผ่านอำนาจบริหารจากรุ่นสู่รุ่นด้วย

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มองว่าการเข้าระดมทุน ยกระดับองค์กรเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น ถือเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจครอบครัว เพราะมีธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ของไทยจำนวนมากที่มีศักยภาพ บริหารกิจการได้ดี หากเข้ามาอยู่ในระบบตลาดทุนจะช่วยทำให้กิจการมั่นคงและเติบโตขึ้นได้อีกมาก เนื่องจากบริษัทที่จะเข้าระดมทุนต้องผ่านการปรับโครงสร้างองค์กร ปรับปรุงระบบบัญชี มีมืออาชีพเข้ามาบริหารงาน มีวิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจที่ชัดเจน แน่นอน ผลประกอบการก็ต้องน่าสนใจด้วย ถือเป็นการช่วยปรับปรุงกิจการในทุกมิติ และเมื่อก้าวเข้ามาแล้วก็จะพบกับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมทั้งดึงดูดคนเก่งให้เข้ามาทำงาน ใช้โครงสร้างการบริหารอย่างมืออาชีพขับเคื่อนธุรกิจต่อโดยที่สมาชิกในครอบครัวจะเป็นหรือไม่เป็นผู้บริหารก็ได้ถือเป็นการรักษาธุรกิจครอบครัวให้มั่นคงและอยู่ต่อไปได้อีกรูปแบบหนึ่ง

นอกจากนี้อาจารย์กิติพงศ์ยังชี้ว่า ไม่ใช่ทุกกิจการที่จะมีทายาทอยากสืบทอดต่อ เนื่องจากความสนใจ ความดึงดูดของอุตสาหกรรมหรือกระทั่งความพร้อมของครอบครัวเอง มีธุรกิจจำนวนมากที่ต้องปิดตัวไปอย่างน่าเสียดายเพราะว่าไม่มีคนมาทำต่อ จากนี้จึงเป็นโอกาสของการรวมกิจการเพื่อเป็นพันธมิตร หรือ Merging and Partnership (M&P) มากขึ้น คือการรวมธุรกิจรายย่อยในคลัสเตอร์เดียวกันเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองในระบบห่วงโซ่อุปทาน ฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น โอกาสในการขายและทำกำไรที่มากขึ้น เกิดการแบ่งปันองค์ความรู้และเทคโนโลยีระหว่างกัน บนพื้นฐานของการจัดการอย่างเป็นระบบ จัดสรรผลประโยชน์อย่างยุตธรรม

เรื่อง M&P นี้ยังถือว่าใหม่สำหรับประเทศไทย คาดว่าจะเห็นดีลธุรกิจในรูปแบบนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นทางเลือกให้แก่ธุรกิจครอบครัวในการหาทางออกหรือจุดเปลี่ยนให้กับกิจการของตนเอง

และเมื่อผู้เขียนถามมาร์ติน โรลว่า คำว่าธุรกิจครอบครัวประกอบด้วยธุรกิจและครอบครัว ถ้ามีปัญหาหรือต้องตัดสินใจจริงๆ เนื่องจากความขัดแย้ง การเปลี่ยนแปลงหรือเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิด ผู้บริหารหรือผู้ที่มีบทบาทควรจะเลือกอะไรระหว่างประโยชน์ของธุรกิจหรือความเป็นไปของครอบครัว เขาตอบได้ทันทีว่า “ครอบครัวต้องมาก่อนเสมอครับ” ธุรกิจไม่สู้ดี อาจยังเหลือญาติมิตร แต่ถ้าไม่เหลือญาติมิตร ธุรกิจก็ไม่มีวันไปต่อได้

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

นักข่าวเศรษฐกิจและผู้ก่อตั้งเพจ BizKlass

แชร์
ปัญหาโลกแตกและทางออกของธุรกิจครอบครัวไทย