Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ธุรกิจร้านอาหาร วิกฤตจริงมั้ย ?  ปรับตัวแบบไหนถึงอยู่รอด
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ธุรกิจร้านอาหาร วิกฤตจริงมั้ย ? ปรับตัวแบบไหนถึงอยู่รอด

10 ก.ค. 68
12:30 น.
แชร์

ปี 2025 เป็นอีกปีที่ “ธุรกิจร้านอาหารไทย” เผชิญกับความยากลำบาก รายได้ลด กำไรหด บางรายขาดทุนไปจนถึงปิดกิจการ แม้จะผ่านพ้นฝันร้ายตอนโควิดระบาดที่กระทบธุรกิจร้านอาหารแบบเต็มๆแต่มาปีนี้หลายร้านถึงกับออกปากว่า "หนักกว่าตอนโควิดอีกด้วยซ้ำ"

SPOTLIGHT รวบรวมมุมมองจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหาร ได้แชร์ข้อมูลถึงสถานการณ์ร้านอาหารในปัจจุบันว่า วิกฤต จริงหรือไม่? รวมไปถึงแนวทางการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจยังคงอยู่รอดต่อไปได้  

ยอดขายร้านอาหารร่วง 14% และ 50% ปิดกิจการใน 1 ปี

หนึ่งในข้อมูลที่น่าสนใจจากคุณยอด ชินสุภัคกุล ซีอีโอ LINE MAN Wongnai แพลตฟอร์มออนดีมานด์และข้อมูลร้านอาหารของไทย ที่ทั้งบริการค้นหาข้อมูล การรีวิวร้านอาหาร การสั่งอาหารเดลิเวอรี่ บริการขนส่งออนดีมานด์อื่นๆ รวมถึงโซลูชันสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร คุณยอดได้แชร์ข้อมูลบนเวที #CTC2025 ในหัวข้อเทรนด์ธุรกิจและเศรษฐกิจครึ่งปีแรก พบว่า ยอดขายของร้านอาหารแบบ Same Store (เฉพาะหน้าร้าน ไม่รวมเดลิเวอรี่) กำลังเข้าสู่ภาวะ "ตกต่ำ" อย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลจากระบบ POS ของ LINE MAN Wongnai ที่เก็บจากหลายหมื่นร้าน หลายแสน data point ชี้ว่า

  • Q2/2023 → Q2/2024: ยอดขายเฉลี่ยรายเดือนต่อร้านลดจาก 186,000 บาท เหลือ 180,000 บาท  (-3%)
  • Q2/2024 → Q2/2025: ดิ่งหนักกว่าเดิม เหลือเพียง ~154,000 บาท (-14%)

"ทั้งที่ตัวเลขนี้มี bias เชิงบวกด้วยซ้ำ เพราะนับเฉพาะร้านที่ 'ยังอยู่รอด' เท่านั้น"

เดลิเวอรี่ช่วยได้แค่ไหน? ข่าวดีเล็กๆ คือ ยอดขายช่องทาง digital โตขึ้นถ้านับเฉพาะร้านในพื้นที่ให้บริการ และร้านที่เปิดเดลิเวอรี่ สัดส่วนยอดขาย Food Delivery รวมทุกแพลทฟอร์ม โตขึ้นปีต่อปี

  •  2024 - Food Delivery คิดเป็น 27% ของยอดขาย
  • ครึ่งปีแรก 2025 -เพิ่มเป็นประมาณ 29%

อย่างไรก็ตามช่องทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นนี้ก็ยังไม่พอจะชดเชยยอดขายหน้าร้านที่หายไปถึง 14% ได้

“ปีนี้ ร้านอาหาร หนักจริงครับ ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง เหตุการณ์ต่างๆตั้งแต่ต้นปี ตลาดทุนที่ซบเซา geopolitics ระดับโลก หรือ politics ระดับประเทศ มันเริ่มส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศจริงๆ ผมอยู่ใกล้ตลาดร้านอาหารมามากกว่าสิบปี ตอนนี้เห็นค่อนข้างชัดเหมือนกันครับ

โดยปกติแล้ว ช่วงไตรมาสที่ 4 - ไตรมาสที่ 1 ยอดขายของร้านจะสูงขึ้น แต่ถ้าจะมีโครงการ co-payment คล้ายๆเที่ยวไทยคนละครึ่ง แต่เป็นเวอร์ชั่นสำหรับร้านอาหารเน้น local consumption มาช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในภาคร้านอาหาร ก็น่าจะมีประโยชน์เป็นอย่างมาก” คุณยอดระบุใน FB ส่วนตัว 

ข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจร้านอาหารในมุมของคุณยอด คือ การปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น เพราะสัดส่วนการใช้ e-payment ที่หน้าร้าน เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 36% เมื่อปี 2023 มาเป็นกว่า 50% ในปีนี้ เงินสดเป็นส่วนน้อยอย่างแท้จริงแล้วในตอนนี้ ขณะเดียวกันในหมู่ร้านอาหารเปิดใหม่หลายร้านเริ่มใช้เทคโนโลยีอย่างจริงจัง เช่น digital ordering (QR code order หรือ staff app) ตอนนี้ร้านใหม่ๆใช้มากกว่า 30-40% ซึ่งนี่น่าจะเป็นสัญญาณดีที่ได้เห็นหลายร้านอาหารปรับตัวได้ดีมากขึ้น 

โจทย์ยากของร้านอาหารยอดขายร่วง–ต้นทุนพุ่ง–คนไม่กล้าใช้เงิน

ขณะที่ข้อมูลจาก KTC และศูนย์วิจัยธุรกิจอีกหลายแห่ง ชี้ว่า ร้านอาหารไทยโดยเฉพาะแบบ Dine-in กำลังเจอกับวิกฤตรุนแรงไม่แพ้ยุคโควิด เพราะ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี ส่งผลให้ยอดขายร้านอาหารหายเฉลี่ย 15–20% ขณะเดียวกันแม้มีร้านเปิดใหม่ 2,500 ร้าน แต่ก็ปิดไป 1,800 ร้านในไตรมาสเดียว ด้วยต้นทุนวัตถุดิบ–พลังงาน ที่สูงขึ้นในขณะที่การแข่งขันรุนแรง

แล้วจะรอดได้ยังไง? "สูตรลับ" จากเวที KTC

ในงาน “เสิร์ฟแผนรอด: สูตรลับร้านอาหารไทยฝ่าวิกฤต” โดย KTC ได้มีการแชร์กลยุทธ์สำคัญจากแบรนด์ที่ "อยู่รอด และเติบโตได้ในธุรกิจร้านอาหาร

KTC

คุณสุรเวช เตลาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โนเบิล เรสเตอท์รองต์ จำกัด ได้แบ่งปันบทเรียนสำคัญในการบริหาร Mo-Mo-Paradise ร้านชาบูที่หลายคนรู้จัก ถือเป็นร้านอาหารเชนขนาดใหญ่ ว่า เน้นการสร้างรากฐานให้แข็งแกร่งในทุกสาขา ขยายกิจการอย่างรัดกุมพร้อมเงินทุนสำรองและกระแสเงินสดที่เหมาะสมเพื่อรับมือความไม่แน่นอน 

นอกจากนี้ยังให้มุมมองแนวโน้มผู้บริโภคยุคดิจิทัลที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพควบคู่กับความอร่อย รวมถึงคาดหวังข้อมูลที่เป็นจริงจากสื่อดิจิทัลที่เน้นความรวดเร็ว ที่สำคัญทางร้านได้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี อาทิ ระบบ POS, ERP และ AI เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการบริหารจัดการข้อมูลผู้บริโภคในเครือ Mo-Mo-Paradise

ด้านนายจักรกฤติ สายสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท มากุโระ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แชร์กลยุทธ์การขยายสาขาและการบริหารจัดการแบรนด์ต่างๆ โดยนำกลยุทธ์ "ป่าล้อมเมือง" มาใช้ในช่วงเริ่มต้น เน้นทำเลที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง จนสามารถทำให้ Maguro กลายเป็น "ร้านประจำของชุมชน" ทั้งในรูปแบบศูนย์การค้าขนาดเล็ก ศูนย์การค้าเฉพาะทาง หรือศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีมากกว่า 6 แบรนด์ในเครือ นอกเหนือจาก Maguro 

หัวใจสำคัญของความสำเร็จคือการมีจุดมุ่งหมายของแบรนด์ (Brand Purpose) ที่ชัดเจน ซึ่งยึดหลักปรัชญา “Give More” หรือแนวคิด “สมการ 100+1” คือการมุ่งมั่นสร้างสรรค์สิ่งที่เหนือกว่าคู่แข่งในทุกมิติ ทั้งคุณภาพ รสชาติ และประสบการณ์การบริการ ตลอดจนการดูแลทีมงานและพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ยั่งยืน และมีคุณค่าต่อสังคม

ส่วนคุณพรพิมล ปักเข็ม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพนนิน เพนนี พาทิซเซอรี่ จำกัด ได้ถ่ายทอดเรื่องราวการเดินทางของแบรนด์ภายใต้แนวคิด "จากครัวคุณแม่… สู่แบรนด์ป๊อปคอร์นเพื่อสุขภาพที่ครองใจตลาดพรีเมียม" ซึ่งเริ่มต้นจากความปลอดภัยในการทำขนมให้กับลูก สู่การเป็นแบรนด์ป๊อปคอร์นเพื่อสุขภาพระดับพรีเมียมที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบัน จากการเล็งเห็นโอกาสในตลาดป๊อปคอร์นเพื่อสุขภาพ โดยเลือกใช้น้ำมันเมล็ดชา (Camellia Oil) และเทคโนโลยี "Air Pop" ซึ่งเป็นนวัตกรรมการอบข้าวโพดโดยไม่ใช้น้ำมัน เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ ถึงแม้จะมีต้นทุนวัตถุดิบที่สูงก็ตาม แบรนด์ยังได้สร้างความแตกต่างด้วยจุดขาย "หวานน้อย  สุขภาพดี  ไม่มีสารเคมี" พร้อมการรับรองมาตรฐาน GMP และฮาลาล เจาะตลาดพรีเมียมในห้างสรรพสินค้าระดับบน และมีแผนขยายสู่ตลาดต่างประเทศ 

นอกจากนี้ยังได้แบ่งปันบทเรียนสำคัญจากการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อฐานลูกค้าหลักอย่างนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยปรับ  กลยุทธ์สู่การขายออนไลน์ สร้างสรรค์คอนเทนต์และแพลตฟอร์มใหม่ เพื่อให้แบรนด์สามารถดำรงอยู่และเติบโตได้ในภาวะที่ท้าทาย  

ในภาคของผู้ให้บริการทางการเงิน อย่าง KTC มีนโยบายในการสนับสนุนผู้ประกอบการร้านอาหารด้วย 4 กลยุทธ์ ซึ่งคุณวริษฐา พัฒนรัชต์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต “เคทีซี” ระบุถึงการที่เคทีซีสนับสนุนธุรกิจร้านอาหาร

KTC หนุนร้านอาหารด้วย 4 กลยุทธ์หลัก

  1. จับมือพันธมิตร เดินไปด้วยกัน สร้างโปรโมชันร่วมกับร้านอาหารแบบ “ร่วมคิด ร่วมทำ” พร้อมปรับกลยุทธ์ให้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์
  2. ใช้ข้อมูลผู้บริโภคขับเคลื่อนกลยุทธ์ วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าจากข้อมูลบัตร พบแนวโน้มการใช้บัตรถี่ขึ้น แม้ยอดเฉลี่ยลดลง จึงเร่งปรับแผนให้ตอบโจทย์ความต้องการได้ทันที
  3. แลกคะแนนคุ้มทุกมื้อ เปิดให้ใช้คะแนน KTC FOREVER ได้หลากหลาย เริ่มต้นน้อยก็แลกได้จริง ทั้งส่วนลด เงินคืน หรือของทานเล่นจากร้านดังกว่า 70 แบรนด์  1,000 สาขา สร้างความผูกพันกับสมาชิกและกระตุ้นยอดขายให้ร้านค้า
  4. สื่อสารตรงกลุ่มผ่านช่องทางดิจิทัล KTC มีพันธมิตรร้านอาหารกว่า 2,000 ร้าน มีการใช้การตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลแบ่งกลุ่มลูกค้า ส่งสิทธิประโยชน์ตรงใจผ่านสื่อของ KTC เช่น เว็บไซต์ LINE TikTok และ Instagram อย่างมีประสิทธิภาพ

เอาใจช่วยผู้ประกอบการฝ่าความยากลำบากปี 2025 ที่ยังเหลือเวลาอีกเกือบ 6 เดือนจากนี้ การปรับตัวให้ทันและมีข้อมูลที่ครบถ้วนรวดเร็วดูจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจร้านอาหารในปัจจุบัน…อร่อยอย่างเดียวคงไม่เพียงพออีกต่อไปจริงๆ  

ที่มาข้อมูล : FB คุณยอด ชินสุภัคกุล , KTC , งาน CTC2025

แชร์
ธุรกิจร้านอาหาร วิกฤตจริงมั้ย ?  ปรับตัวแบบไหนถึงอยู่รอด