ในช่วงปีที่ผ่านมา ถนนบรรทัดทอง ได้กลายเป็นที่รู้จักในหมู่นักชิมทั่วโลก จากเสน่ห์อาหารสตรีทฟู้ดริมทางของไทย ที่มีความหลากหลายในประเภทของอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทย อาหารญี่ปุ่น อาหารเกาหลี หม่าล่าสายพาน ไปจนถึงขนมหวานและเครื่องดื่มชื่อดัง จนได้รับฉายาว่า ‘เยาวราช 2’
แต่ในช่วงนี้ดูเหมือนว่า ‘บรรทัดทองจะไม่เหมือนเดิม’ หลังมีกระแสดราม่าทั้งในเรื่องของ ‘อาหารแพง’ หรือ‘อาหารไม่อร่อย’ หรือแม้การที่อินฟลูเอนเซอร์รีวิวเกินจริง เต็มทั่วฟีด TikTok แถมยังได้มีการเปิดเผยว่าตอนนี้ ‘บรรทัดทองเหงามาก ไร้นักท่องเที่ยว’
นั่นก็เลยทำให้ทีม SPOTLIGHT ได้ตัดสินใจลงพื้นที่ไปดู ‘ถนนบรรทัดทอง’ ด้วยตาของตัวเองว่าสิ่งที่ชาวเน็ตพูด เป็นเรื่องจริงหรือไม่ และยังได้มีโอกาสพูดคุยสุด exclusive กับ คุณสิทธิฉันท์ วุฒิพรกุล เจ้าของร้านรสดีเด็ด และที่ปรึกษาสมาคมผู้ประกอบการถนนบรรทัดทอง
ช่วงหลังโควิด ‘กระแสบรรทัดทอง’ ได้เกิดความฟีเว่อร์อย่างหนัก เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ TikToker ต่างเข้ามารีวิวทำคอนเทนต์กันแบบไม่ขาดสาย จนเกิดปรากฏการณ์ ‘บรรทัดทองฟีเวอร์’ สถานที่ที่ทุกคนต้องเข้ามา check in ถ่ายภาพ กินอาหาร และลงโซเชียลมีเดีย
ความฟีเวอร์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย แต่ยังดังไกลไปถึงต่างชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ที่ต่างเข้ามาใส่ชุดนักเรียนไทยถ่ายรูปคู่กับถนนบรรทัดทอง
ทำให้ถนนบรรทัดทองยิ่งได้รับความคึกคัก ทั้ง 2 ทางเต็มไปด้วยร้านค้า ทําให้เหล่าร้านออนไลน์ทั้งหลาย หากอยากเปิดหน้าร้าน ‘ถนนบรรทัดทอง’ นั้นอาจคือคำตอบ
แต่วันนี้ดูเหมือนว่าบรรทัดทองกำลังเจอมรสุมครั้งใหญ่จากพลังของโซเชียลมีเดีย หลังมีหลายอินฟลูเอนเซอร์ต่างเข้ามารีวิวว่า ‘อาหารแพง overprice’ หรือ ‘อาหารบรรทัดทอง ไม่ได้อร่อยจริงเหมือนรีวิว’ แถมยังได้มีการเปิดภาพความอ้างว้างของถนนบรรทัดทองที่แต่ก่อนเต็มไปด้วยผู้คนแต่วันนี้กลับไม่เหมือนเก่า รวมถึงรีวิวอย่างเช่น ที่จอดรถหายาก, ราคาหลายร้านเเพงจนเกินไป, ร้านอาหารในตํานานเหลือน้อย ส่วนใหญ่ร้านค้าที่ยังอยู่คือร้านใหม่ที่มีอินฟลูเอนเซอร์มารีวิวเกินจริง, ค่าเช่าที่โหด ร้านอยู่ไม่ไหว
หลายๆร้านได้มีอัดคลิปลง TikTok จากดราม่าเรื่องอาหารถนนบรรทัดทองไม่อร่อย ว่าร้านของพวกเขาได้รับผลกกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตอนนี้คนเดินน้อยจริง ส่งผลต่อยอดขายอย่างหนัก
ซึ่งทีมงาน SPOTLIGHT ได้มีโอกาสเดินทางไปที่ถนนบรรทัดทองเมื่อวันที่ 21 พ.ค.68 ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาประมาณ 18.00 น. และได้พบบรรยากาศแห่งความเงียบเหงาจริงๆ
ปกติแล้วในช่วงเวลา 18.00 น. จะเป็นช่วงที่ร้านค้าต่างเปิดไฟ เตรียมพร้อมต้อนรับให้แก่นักท่องเที่ยวที่กำลังจะเดินทางมา โต๊ะข้างหน้าร้านตรงฟุตบาท จะเริ่มมีการจัดวางเรียงกัน แต่ตอนที่ผู้เขียนไป หลายร้านค้ากลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น อีกทั้งร้านตอนนี้ก็ไม่ได้เป็นร้านอาหารที่เต็มไปด้วยผู้คนเหมือนแต่ก่อน พบกับตึกหลายคูหาที่ประกาศให้เช่าหรือเซ้ง หรือแม้แต่บางตึกกลับดูปิดทึบไปเลย
คุณสิทธิฉันท์ ได้แชร์มุมมองกระแสบรรทัดทองในโซเชียลมีเดียให้ทีม SPOTLIGHT ฟังว่า “ตอนนี้เราควรเบรก คำว่า บรรทัดทองไปแปปนึง ตอนนี้บรรทัดทองมันชาไปหมดแล้ว (คอนเทนต์ในโลกโซเชียลมีเดีย)”
และยังได้เปิดเผยว่า “ตอนนี้ บรรทัดทองมีประมาณ 378 ร้านค้าตอนนี้ก็มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ถ้าไม่มีใครเข้ามาช่วย ประมาณการณ์ว่าไม่เกิน 6 เดือนจะหายอีกกว่า 40%”
คุณสิทธิฉันท์ ได้เล่าให้ทีม SPOTLIGHT ฟังว่า ปัจจุบันบรรทัดทองมีผู้ประกอบการร้านค้าประมาณ 300-400 ร้าน ในช่วงพีคๆมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามากว่า 20,000-30,000 คน (นักท่องเที่ยวชาวไทย 70% และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 30%) สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 7 ล้านบาท/วัน ตอนนี้น่าจะหายเกิน 40% เป็นขั้นต่ำ เหลือประมาณ 3-4 ล้านบาท จากพิษของเศรษฐกิจที่ซบเซา
“ปัญหาเศรษฐกิจ จริงๆเราเริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่ปีที่แล้วที่ร้านอาหารเริ่มปิดตัว เหตุผลก็เพราะว่าช่วงหลังโควิด ทุกอย่างมัน no business คนทำงานก็หางานไม่ได้ สิ่งที่คิดว่าคนจะเข้ามาทำอาชีพได้ง่ายที่สุด ก็คืออาชีพอาหาร มันใช่แค่ประเทศเรา แต่เป็นกันทั้งโลกเลย และพอจุดที่มันเฟ้อ เฟ้อเหมือนฟองสบู่ มันไม่ได้เป็นฟองสบู่ลูกใหญ่ แต่มันแตกเป็น bubble เล็กๆเหมือนเม็ดไข่ปลา เราก็จะเห็นว่าร้านอาหารมันเลยมีการปิดตัวลงเยอะ”
นักท่องเที่ยวจีน ถือได้ว่าเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเบอร์หนึ่งของถนนบรรทัดทอง แต่วันนี้กลับหายไปอย่างน่าตกใจ
คุณสิทธิฉันท์ ได้เปิดใจเล่าให้ทีม SPOTLIGHT ฟังว่า ในช่วงนี้นักท่องเที่ยวจีนหายไปอย่างรวดเร็วหลังขาดความเชื่อมั่นในการเดินทางไปเที่ยวยังประเทศไทย ตั้งแต่ข่าว “ซิงซิง”ดาราจีนที่หายตัวไป และข่าวตึกสตง.ถล่ม จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว
แต่คุณสิทธิฉันท์ ยังได้เชื่อว่า “เมืองไทย ยังไม่ได้ไร้สิ้นขนานนั้น แม้จะมีภาพลบจากสตง.ไปบ้าง แต่มันไม่ใช่ความผิดของคนทั้งประเทศ มันไม่ได้ทำให้เสน่ห์ของคนไทยหายไป ส่วนวิถีที่แก้ไขผมว่าเราควรไปแก้ที่ สามล้อแพง แท็กซี่แพง ตำรวจไถ่ตังค์ อะไรแบบนี้มากกว่า”
นอกจากนี้อีกหนึ่งสาเหตุที่นักท่องเที่ยวหายไปจากถนนบรรทัดทอง คือเรื่องของสภาพอากาศ การที่เราเข้าสู่หน้าฝน “ปีนี้เราโชคร้าย หน้าฝนของเรามาเร็ว” คุณสิทธิฉันท์ยังได้เผยอีกว่า “ช่วงนี้เป็นช่วง low season หน้าฝนเป็นปกติที่จะดูซบเซา ส่วนกลางวันก็ร้อน เราอยากเปิดกลางวันใจแทบขาด แต่นักท่องเที่ยวเค้าก็ไม่เดินเพราะร้อน ก็เลยคิดว่าขยายเวลาตอนกลางคืนตอบโจทย์กว่า”
อีกหนึ่งปัญหาหลักของผู้ประกอบการถนนบรรทัดทอง คือเรื่องของ working time ที่น้อย ร้านค้าเปิดประมาณ 4โมงเย็น – 4ทุ่ม มีเวลาไม่เกิน 6 ชั่วโมงในการเปิดร้าน
คุณสิทธิฉันท์ เลยมองว่าอยากขยายเวลาเปิดตอนกลางคืนให้ยาวขึ้น ให้กลายเป็น Night Street Food เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถตอบโจทย์กลุ่มนักท่องเที่ยวนอนดึก ซึ่งอาจเพิ่มรายได้ให้แก่ร้านค้าอีกด้วย
ในส่วนของเรื่องค่าเช่า ทีม SPOTLIGHT ได้มีโอกาสถาม คุณสิทธิฉันท์ พร้อมกับได้คำตอบว่า “ตอนนี้ค่าเช่าเฉลี่ยของถนนบรรทัดทองอยู่ที่ 50,000 – 60,000 บาท” และโดยปกติแล้วค่าเช่าจะเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 5%ต่อปี
และในส่วนของการร่วมกลุ่มผู้ประกอบการไปต่อรองราคาค่าเช่าที่กับจุฬา ส่วนตัวมองว่า “ไม่มีความจำเป็น” เพราะหากต่อรองก็ได้ลดไม่เกิน 5,000 บาท
คุณสิทธิฉันท์ เลยได้มองว่า “การลดต้นทุน” คือเรื่องที่ง่ายกว่า “ถนนบรรทัดทองตอนนี้มีผู้ประกอบการร้านค้ากว่า 300 ร้านค้า เรามารวมมือกัน เช่น ร้านนี้ใช้ถุงขยะ 5 โล เรามารวมกันเป็นตันๆ น้ำตาลทราย น้ำมัน ข้าวสาร เนื้อสัตว์ ถ้าเราลดต้นทุนสัก 10-20% รวมกันต่อรองเพื่อหักส่วนต่าง ถ้าเราลดตรงนี้ได้ ค่าเช่าจะไม่มีความหมายอีกต่อไป”
เมื่อถามถึงอนาคตของถนนบรรทัดทอง ภาพที่คุณสิทธิฉันท์ มองไว้คือ ความสวยงามของร้านอาหารที่จะอยู่คู่กับแฟชั่น
“ที่นี่มันจะไม่ใช่แค่ street food แต่คือวัฒนธรรมอาหารที่มีชีวิต ไม่ใช่แค่อาหารริมทาง แต่มันผ่านเรื่องราว ผ่านประสบการณ์ ผ่านการทำงาน และกลายเป็นจุด check in เป็นทั้ง tourist destination และ street food destination ที่ทุกคนอยากมา และดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยกิจกรรมทางอาหาร ผ่าน tourist calendar”
1.วางคอนเซปต์ ผลักดันให้มี chef entrepreneur celebrity ในอนาคต
2. Food Carpet : ยกระดับอาหาร ด้วยการเอาอาหาร + แฟชั่น
คุณสิทธิฉันท์ ได้เล่าว่า “เราจะทำให้การเดินพรมแดงในทุกคนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป พรมแดงของถนนบรรทัดทอง คือเราจะปิดถนนบรรทัดทองทั้งเส้น ผู้หญิงใส่ dress code มาเต็ม ผู้ชายใส่ทักซิโด้ จะแต่งตัวมาอย่างไรก็ได้แต่ทุกคนมีจุดเชื่อมโยงกันก็คือ อาหาร มันก็คือการผสมผสานกัน ระหว่างวัฒนธรรมอาหาร ความเป็นไทย และเป็นการยกระดับอาหารไทย”
นอกจากนี้ คุณสิทธิฉันท์ ยังได้เปิดเผยว่าผู้ประกอบการร้านอาหาร ยังได้มีการคุยกันเพื่อช่วยเหลือกันในอนาคต “ปี 67 มีนักท่องเที่ยวเที่ยวในกทม.ประมาณ 27 ล้านคน และ 20 ล้านเนี่ยอยู่ในมือพวกเรา พวกเรานั้นหมายถึง เยาวราช ข้าวสาร บรรทัดทอง ราชประสงค์ หลังสวน ตลาดน้อย ผู้ประกอบการอย่างพวกเราคุยกัน เตรียมว่าเราจะต้องเตรียมความพร้อมอย่างไรในอนาคต หรือไม่แน่ในอนาคตอาจจะมีโปรเจกต์ร่วมกัน อย่างเช่น มากินร้านนี้ แล้วแจกบัตรลด เพื่อไปกินร้านต่อไป เพื่อเป็นการช่วยเหลือกันหมู่ผู้ประกอบการร้านอาหาร”