“บ้านธาตุดิน” จิตวิญญาณ งานเครื่องปั้นดินเผา
“SME D Bank” รุดช่วยยกระดับ สานต่อตำนานเคียงคู่เกาะเกร็ด
“เกาะเกร็ดแหล่งดินเผา” ส่วนหนึ่งของคำขวัญจังหวัดนนทบุรี ที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของพื้นที่เกาะเกร็ด ที่สร้างสรรค์งานศิลปะเครื่องปั้นดินเผาซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบต่อกันมาหลายรุ่น
ด้วยความที่แหล่งดินเหนียวในพื้นที่ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ถือเป็นแหล่งดินเหนียวที่มีคุณภาพดีในพื้นที่ภาคกลาง จึงทำให้เกาะเกร็ดเป็นแหล่งเครื่องปั้นดินเผาที่พ่อค้าแม่ค้าจากพื้นที่อื่นมารับไปขายต่อในพื้นที่ต่างๆ
“บ้านธาตุดิน”ร้านเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณ ที่ทำธุรกิจมายาวกว่า 30 ปี โดย 2 สามีภรรยา “คุณลุง ชัยยุทธ เหมริด” และ “คุณป้า ปรางนรินทร์ เหมริด” ศิลปินผู้ปั้นดินเองกับมือให้กลายเป็นของที่ระลึก ด้วยลวดลายไทยที่วิจิตรงดงาม ลวดลายเหล่านั้นล้วนมีเรื่องราว บ่งบอกเอกลักษณ์ความเป็นไทย และสื่อความตั้งใจ ทุ่มเท ของศิลปินได้เป็นอย่างดี
คุณป้า ปรางนรินทร์ เล่าถึงประวัติความเป็นมาของเครื่องปั้นดินเผาที่เกาะเกร็ดให้ฟังว่า ด้วยความที่ดินเหนียวดี มีความพิเศษ ทำให้ในอดีตคนเกาะเกร็ดจะยึดอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผากันมาก เช่นเดียวกับยุคเริ่มต้นของบ้านธาตุดิน มาจากการที่คุณลุง ชัยยุทธ ปั้นกระถางปลูกต้นไม้ขาย แต่รูปแบบกระถางจะเหมือนที่เราเคยเห็นอยู่ทั่วไป เพราะสมัยก่อนคนนิยมปลูกต้นไม้กับกระถางดินเผา
วันเวลาผ่านไปมีกระถางพลาสติกราคาถูกกว่ามากเข้ามาแทนที่ ความล้าสมัยของสินค้า บวกกับต้นทุนการผลิตของคนในพื้นที่เกาะเกร็ดสูงกว่าพื้นที่ภายนอก ทำให้เหลือผู้ประกอบการที่ยังคงปั้นดินเผาลดน้อยลง
“หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2538 คนเกาะเกร็ดหันไปทำอาชีพอื่นกันมาก จนในปี 2539 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้ฟื้นอาชีพช่างเครื่องปั้นดินเผาบนเกาะเกร็ดและเปลี่ยนรูปแบบจากกระถางใหญ่ มาเป็นของที่ระลึกเล็กลง เผื่อประหยัดการใช้ดินเหนียว จนในปี 2540 เป็นปีที่มีการประกาศให้เป็น Amazing เกาะเกร็ด”
ฝันร้ายของคนเกาะเกร็ดกลับมาอีกครั้ง เมื่อสถานการณ์โควิด 19 ระบาดไปทั้งโลก ร้านค้าเครื่องปั้นดินเผาส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ และมีคนภายนอกมารับไปขายต่อในพื้นที่อื่น เมื่อไม่สามารถไปมาหาสู่กันได้แบบปกติยอดขายก็ตกลงทันที นักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางเข้ามาก็หายไปเป็นศูนย์ ถึงวันนี้สถานการณ์โควิด 19 คลี่คลายลงแล้ว แต่ก็มีหลายอย่างในธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาที่ต้องปรับตัว เพื่อให้อยู่รอดได้ในโลกปัจจุบัน
คุณป้า ปรางนรินทร์ เล่าว่า เอกลักษณ์ของสินค้าเป็นส่วนที่สำคัญที่ “บ้านธาตุดิน” มีความแตกต่าง ลายไทย ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นงานฝีมือที่ยาก แต่ที่นี่บรรจงลายนี้ลงไปที่ตัวเครื่องปั้นดินเผา ลวดลายไทยเป็นสิ่งที่มีเสน่ห์ มีความอ่อนช้อย มีความต่อเนื่อง บ่งบอกเรื่องราวได้เป็นอย่างดี
“แม้เราจะอายุมากขึ้นแต่ก็ยังยืนยันสู้ที่จะทำงานเครื่องปั้นดินเผาต่อไป เพราะมันอยู่ในสายเลือดของเราแล้ว” คุณป้า ปรางนรินทร์ บอกกับทีมงานด้วยความหวัง
“บ้านธาตุดิน”เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ในฐานะธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย จัดโครงการ “SME D ให้ใจ” กระจายทีมงาน SME D Coach ลงพื้นที่ทั่วประเทศ เข้าเยี่ยมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ถึงสถานประกอบการ เพื่อรับฟังปัญหา พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำ และเสนอแนวทางช่วยเหลือ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาและพลิกฟื้นกิจการให้กลับมาเดินหน้าได้ดีอีกครั้ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ราชรักษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการ ของ SME D Bank บอกว่า เครื่องปั้นดินเผาของ “บ้านธาตุดิน” มีความสวยงามและมีเอกลักษณ์มากอยู่แล้ว สิ่งที่ธนาคารเข้ามาช่วยเหลือคือเรื่องของการพัฒนา
“SME D Bank ตัวอักษร D คือ Development หัวใจคือการพัฒนาผู้ประกอบการ เมื่อผู้ประกอบการไปได้ ธนาคารก็จะไปได้ เราทิ้งไม่ได้คือ เรื่องการพัฒนา เราหาคนจริง คนที่มีความรู้ เข้าไปช่วยผู้ประกอบการให้ดีขึ้น เพราะเค้าอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ เช่นกัน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์สิทธิ์ กล่าว
สิ่งที่เข้าไปช่วยดูบ้านธาตุดิน คือ การผลิตที่ต้องมีมากขึ้น ช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งมั่นใจว่าในอนาคตคุณลุงและคุณป้า จะมีรายได้ที่มากขึ้นอย่างแน่นอน
คุณป้า ปรางนรินทร์ และ ลุง ชัยยุทธ เหมริด ย้ำถึงความประทับใจที่มีต่อโครงการ “SME D ให้ใจ” ของ SME D Bank ว่า
“ทุกคนเป็นเหมือนคนในครอบครัว ที่คอยหันกลับมาดูแล ว่าเราไหวมั้ย ไปต่อได้ยังไง คอยช่วยเหลือ แนะนำ แค่นี้ก็ซาบซึ้งใจทำให้เราพร้อมสู้ต่อไปกับ บ้านธาตุดิน”
ถ้าไม่อยากให้ผลงานที่มีคุณค่าสูญหายไป
ติดต่อ บ้านธาตุดิน เพิ่มเติม
โทร.081-425-2022
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank
โทร.1357