ผลการวิจัยในอังกฤษระบุ ผู้สูงอายุที่มี 'ทัศนคติเชิงบวก' ต่อความแก่ชรา ช่วยฟื้นตัวหลังจากได้รับบาดเจ็บจากการหกล้มได้เร็วขึ้น
การล้มในผู้สูงอายุถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ซึ่งทำให้บรรดานักวิจัยจาก Imperial College London และ Coventry University ศึกษาวิจัยว่า "ทัศนคติเกี่ยวกับวัยชรา" จะช่วยลดผลกระทบดังกล่าวได้หรือไม่
การศึกษาครั้งนี้ครอบคลุมผู้คนจำนวน 694 รายในประเทศอังกฤษที่มีอายุระหว่าง 60 - 90 ปี ซึ่งไม่เคยประสบเหตุหกล้มมาก่อนในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยนักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการล้มควบคู่ไปกับการตอบแบบสำรวจที่วัดความเชื่อและทัศนคติของผู้เข้าร่วมเกี่ยวกับความแก่ชรา
นอกจากนี้ ยังมีการประเมินปัจจัยต่างๆ เช่น ความเร็วในการเดิน ระดับกิจกรรม และความต้องการความช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การแต่งตัวหรืออาบน้ำหลังจากล้มอีกด้วย
ผลการศึกษาบ่งชี้ว่า ผู้ที่มีการรับรู้เกี่ยวกับการแก่ชราในเชิงบวก เช่น เชื่อว่าการแก่ชราไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการทำสิ่งที่ต้องการ มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ดีกว่าหลังจากการล้ม
"เราพบว่าผู้สูงอายุที่มีการรับรู้ตนเองในแง่บวกเกี่ยวกับการแก่ชราก่อนเริ่มการรักษา สามารถรับมือจากการกายภาพหลังการล้มได้ดีกว่า" พวกเขาเขียนไว้ในวารสารของ American Geriatrics Society
ผู้ที่มีคะแนนสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ในการวัด "การรับรู้ตนเองต่อความแก่ชรา" หรือมีทัศนคติเชิงบวกมากที่สุดเกี่ยวกับความแก่ชรา จะก้าวเดินช้าๆ อย่างระมัดระวังกว่าคนทั่วไปถึง 162% ลดการพึ่งพาผู้อื่นในการดำเนินกิจกรรมการดำรงชีวิตประจำวันน้อยกว่าคนทั่วไปถึง 200% เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มีทัศนคติเชิงลบเกี่ยวกับการแก่ชรา
สถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการดูแล (Nice) ของอังกฤษ เผยข้อมูลว่า ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปประมาณ 1 ใน 3 มีอาการหกล้มอย่างน้อยปีละครั้ง และมีผู้เข้ารักษาในโรงพยาบาลฉุกเฉินเนื่องจากการหกล้มมากกว่า 210,000 รายในแต่ละปี โดย 2 ใน 3 ของผู้เข้ารักษาเป็นกลุ่มคนที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป
ดร.โทบี้ เอลล์เมอร์ส จากแผนกวิทยาศาสตร์สมอง วิทยาลัยอิมพีเรียลลอนดอน ผู้นำร่วมในการศึกษากล่าวว่า "ผู้ที่มีความรู้สึกเชิงบวกเกี่ยวกับความแก่ชราของตนเอง สามารถรับมือจากการกายภาพและฟื้นตัวหลังการล้มได้เร็วขึ้น ซึ่งการปรับเปลี่ยนทัศนคติทำได้แบบง่ายๆ เช่น การพูดคุยกับเพื่อนหรือญาติเกี่ยวกับสิ่งดีๆ ที่เกี่ยวข้องกับความแก่ชรา"
ดร.แมทธิว ฮิลล์ จากศูนย์วิจัยกิจกรรมทางกาย วิทยาศาสตร์การกีฬา และการออกกำลังกาย แห่งมหาวิทยาลัยโคเวนทรี ผู้ร่วมนำการศึกษาวิจัยอีท่านหนึ่ง กล่าวเสริมว่า "แม้ว่าเราจะทราบจากการวิจัยก่อนหน้านี้ว่าทัศนคติและความเชื่อเชิงลบเกี่ยวกับการแก่ชรา จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดผลลัพธ์เชิงลบต่อสุขภาพ เช่น โรคหลอดเลือดสมองและอัตราการเสียชีวิต แต่การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยครั้งแรกที่เชื่อมโยงเรื่องเหล่านี้เข้ากับการฟื้นฟูร่างกายหลังจากการล้มโดยเฉพาะ"
Advertisement