จากเปลือกทุเรียนเหลือทิ้ง สู่อาหารสัตว์คุณภาพสูง อุดมด้วยใยอาหาร ไขมัน และโปรตีน ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนสีเขียว
ในช่วงที่ผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาด ทำให้มีเปลือกทุเรียนเหลือทิ้งจำนวนมากในแต่ละวัน ก่อให้เกิดขยะหลายร้อยตันต่อวัน บางส่วนถูกนำไปฝังกลบและบางส่วนถูกนำไปเผาก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมา ดังนั้นเพื่อให้ภาคการเกษตรของไทยเดินหน้าใน การลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero waste) และเป็นไปตามนโยบาย เศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ภาคการเกษตรจึงหาวิธีที่จะใช้ประโยชน์จากเปลือกทุเรียนที่เหลือทิ้งเหล่านี้
วิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม ฟาร์มโคพันธุ์ดีปากน้ำโพ ตำบลพระนอน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ จึงเป็นวิสาหกิจชุมชนต้นแบบที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ BCG ทางฟาร์มได้ช่วยลดปริมาณขยะและเพิ่มคุณค่าทางการเกษตร ด้วยการรวบรวมเปลือกทุเรียนจากผู้ค้าในท้องถิ่นในอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ โดยเฉลี่ย 60–80 ตันต่อปี มาผ่านกระบวนการหมักจุลินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีพลาสมาพลังงานต่ำ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
สำหรับอาหารสัตว์โดยทั่วไปที่ทำจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะมีทุนการผลิตเฉลี่ย 2 บาท/กิโลกรัม แต่อาหารสัตว์จากเปลือกทุเรียน มีต้นทุนฉลี่ยอยู่ที่ 1.7 บาท/กิโลกรัม ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าเชื้อเพลิง ค่าเครื่องจักร ค่าจุลินทรีย์ ค่าแรงในการสับ และค่าเสื่อมราคาของเครื่องมือและถังหมัก สามารถช่วยลดต้นทุนได้ร้อยละ 15 โดยโค 1 ตัวจะบริโภคประมาณ 30 กิโลกรัม/ตัว/วัน
ในส่วนกระบวนการหมัก จะเริ่มจากการคัดแยกสิ่งปะปนออกจากเปลือกทุเรียน เสร็จแล้วนำไปสับโดยใช้เครื่องสับหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ให้เหมาะแก่การบริโภคของวัว หลังจากนั้นจึงบรรจุลงในภาชนะหมักราดด้วยหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่ผ่านการปรับปรุงพันธุกรรมด้วยเทคนิคพลาสมาพลังงานต่ำเป็นเวลา 7 วันจึงสามารถใช้เป็นอาหารโคได้
อาหารหยาบจากเปลือกทุเรียนหมักนอกจากจะประหยัดต้นทุนแล้ว ยังมีคุณค่าทางโภชนาการเทียบเท่ากับอาหารหยาบทั่วไปและอาหารเข้มข้นอีกด้วย โดยอาหารหยาบดังกล่าวมีโปรตีน 8.42% ซึ่งสูงกว่าอาหารหยาบทั่วไปที่มีโปรตีน 8.20% นอกจากนี้ เปลือกทุเรียนยังมีไขมัน พลังงาน และไฟเบอร์ในปริมาณที่สูงกว่า ซึ่งช่วยเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตของวัวเมื่อเทียบกับข้าวโพดอาหารสัตว์ทั่วไป
นับว่าเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินการภายใต้ความยั่งยืน สร้างความสมดุลของระบบนิเวศและส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร และยังเป็นต้นแบบให้เกษตรกรอื่นๆ นำมาปรับใช้ได้อีกด้วย
Advertisement