ดูแลหม้อน้ำรถยนต์ในช่วงหน้าร้อนแบบไม่เกรงใจพระอาทิตย์ มีวิธีการอย่างไร

13 เม.ย. 67

ปีนี้คาดการณ์ว่า อากาศจะร้อนอบอ้าวมาก เอ่อ… ไม่ต้องคาดก็เป็นไปตามคาด และจะร้อนยาวนานมากขึ้น ด้วยตอนนี้ทั่วโลกกำลังประสบปัญหา เนื่องมาจากสภาวะโลกร้อน ฤดูกาลต่าง ๆ เกิดสับสนงงงวยไปหมด จากสถานที่ ที่เคยร้อนสุด ๆ ก็เกิดหิมะตก ในบ้านเราคงยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่น่าจะค่อย ๆ เริ่ม อย่างที่บอก คือ ฤดูร้อนก็ร้อนสุด ๆ และยาวนานกว่าปรกติ ส่วนฤดูหนาวก็อาจจะหนาวเย็นขึ้น ในระยะเวลาที่นานขึ้น หรือไม่หนาวเลยก็ได้ ในขณะที่ฤดูฝนก็จะเกิดฝนตกแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ตกจนน้ำท่วมกันไปเลยทีเดียว โดยรวมแล้วน่าจะร้อนมากกว่าแน่นอน

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ในหน้าร้อนที่มากันอย่างเต็มสตีมในเดือนเมษายนนี้ เราคนใช้รถยนต์ ก็ควรจะดูแลรถยนต์ให้อยู่ในสภาพดี เพื่อต้อนรับอากาศร้อนสุด ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี่ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในรถยนต์ ที่เกี่ยวข้องกับการระบายความร้อน ให้กับเครื่องยนต์โดยตรง ก็คือ หม้อน้ำรถยนต์

istock-1329327146

หม้อน้ำของรถยนต์ จะทำหน้าที่ควบคุมการระบายความร้อนของเครื่องยนต์ ให้อยู่ในอุณหภูมิการทำงาน ซึ่งอยู่ระหว่าง 85 – 92 องศาเซลเซียส ตัวของหม้อน้ำนั้น มีลักษณะค่อนข้างบอบบาง ใช้งานได้นานหลายปี เพียงแต่มีราคาค่อนข้างแพงอยู่ไม่น้อย และหากได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง หรือถูกวัสดุแข็ง ๆ กระแทกหรือทิ่มเพียงเล็กน้อย ส่วนรังผึ้งของหม้อน้ำก็อาจจะชำรุดเสียหายได้ง่าย ๆ

เพื่อให้หม้อน้ำรถยนต์อยู่คู่รถยนต์ไปนาน ๆ และสามารถต่อสู้กับอากาศอันแสนร้อนอบอ้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ควรต้องดูแลรักษากันหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อหม้อน้ำเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วล่ะก็ เครื่องยนต์จะเป็นส่วนที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดเป็นลำดับต่อไป ซึ่งเครื่องยนต์อาจจะร้อนจัดขนาด OVER HEAT และสิ่งที่ตามมาก็คือ เงินในบัญชี ต้องสแกนจ่ายกันเพิ่มขึ้นนั่นเอง

การดูแลรักษาหม้อน้ำรถยนต์นั้น ต้องทำอย่างไรบ้าง?

  1. ควรตรวจดูระดับน้ำทุก ๆ ครั้งก่อนติดเครื่องยนต์ หรืออย่างน้อยทุก ๆ 2 - 3 วันสำหรับรถที่มีอายุเกิน 5 ปี และอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งสำหรับรถใหม่อายุไม่เกิน 5 ปี ซึ่งปรกติระดับน้ำควรอยู่ตรงคอหม้อน้ำพอดี หรืออยู่ระหว่างกึ่งกลางขีด MAX และ MIN สำหรับรถที่มีหม้อพักน้ำ

  2. ควรเติมน้ำยาหม้อน้ำ สำหรับหม้อน้ำเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้หม้อน้ำ หรือทางเดินของหลอดรังผึ้งหม้อน้ำเกิดการอุดตัน ถ้าในกรณีเร่งด่วน สามารถเติมน้ำที่เราใช้ดื่มแทน น้ำธรรมดาพอนะยู และอย่าไว้ใจน้ำประปา

  3. หมั่นตรวจดูรอยรั่วตามที่จุดต่าง ๆ อย่างเช่น ท่อยางหม้อน้ำ ครีบรังผึ้ง ปั๊มน้ำ ฯลฯ หากพบรอยรั่วซึม ควรทำการซ่อมแซมแก้ไข

  4. ตรวจดูสายพานหน้าเครื่อง ไม่ควรให้หย่อนหรือตึงเกินไป ตามปรกติเมื่อใช้มือกดลงบนสายพาน ควรยุบตัวลงประมาณ ½” – 1”

  5. ตรวจดูครีบรังผึ้ง หรือที่เรียกว่า FIN ของหม้อน้ำ อย่าให้พับงอปิดช่องทางผ่านของลม ไม่ควรให้สกปรกด้วยดินโคลนและคราบน้ำมัน เพราะจะทำให้ระบายความร้อนยาก เครื่องยนต์อาจร้อนจัด และหากครีบพับงอ ให้ใช้โลหะบาง ๆ ดัดให้ตรง หรือถ้าครีบสกปรกมากให้ทำความสะอาด โดยใช้ลมเป่า หรือน้ำร้อนที่มีความดันสูงพอพ่นย้อนทิศทางลมเข้า

  6. พัดลมระบายความร้อน ควรอยู่ในสภาพที่ดี ไม่แตกหัก หรือบิดงอเสียศูนย์ เพราะจะทำให้ปั๊มน้ำชำรุดได้ แต่ถ้าเป็นพัดลมไฟฟ้า ต้องคอยตรวจเช็คว่า พัดลมหมุนด้วยความเร็วเท่าเดิมหรือไม่ เพราะถ้าพัดลมหมุนด้วยรอบที่ช้าลง การระบายความร้อนให้หม้อน้ำรถยนต์ก็จะเดี้ยงด้อยลดประสิทธิภาพตามไปด้วย

  7. ไม่ควรติดเครื่องยนต์ โดยไม่ได้ปิดฝาหม้อน้ำเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดตะกรันในหม้อน้ำและภายในเครื่องยนต์ เนื่องจากน้ำในรังผึ้งหม้อน้ำระเหยออกมา เมื่อเกิดตะกรันในหม้อน้ำ หรือบริเวณท่อทางเดินน้ำในเครื่องยนต์มาก ๆ จะเป็นผลให้เครื่องยนต์ร้อนจัด เพราะการระบายความร้อนไม่ดีพอ

  8. มาตรวัดความร้อน ต้องอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ หากเสียหรือใช้การไม่ได้ก็จัดการเปลี่ยนใหม่ซะ

  9. หากน้ำในหม้อน้ำแห้ง ในขณะที่เครื่องยนต์กำลังทำงาน และมีอุณหภูมิสูง ไม่ควรดับเครื่องยนต์และเติมน้ำยาทันที ให้ติดเครื่องเดินเบาสักพัก ให้อุณหภูมิเครื่องยนต์ลดลง แล้วค่อย ๆ เติมน้ำยาลงไปทีละน้อย ๆ ด้วยความระมัดระวัง แต่ถ้าไม่รีบเกินไป ก็ควรดับเครื่องยนต์สัก 45 นาที – 1 ชั่วโมง เพื่อให้อุณหภูมิภายในเครื่องยนต์ลดลง แล้วจึงค่อย ๆ เติมน้ำยาลงไป ถ้าใช้น้ำ ก็ไม่ควรใช้น้ำเย็นจัดเพราะอาจทำให้ปะเก็นฝาสูบหรือฝาสูบร้าวได้

  10. ควรถ่ายน้ำในหม้อน้ำทิ้งทุก ๆ 4 – 6 เดือน หรือเมื่อเห็นว่าน้ำในหม้อน้ำสกปรกมากแล้ว เช่น มีสนิมหรือคราบน้ำมัน ก็เปลี่ยนได้เลยไม่ต้องรอ

วิธีที่บอกมาทั้งหมดนี้ ก็เป็นการดูแลหม้อน้ำรถยนต์ต้อนรับหน้าร้อนนี้ เพื่อที่จะให้ใช้งานหม้อน้ำรถยนต์ได้นานขึ้น และคุ้มค่ากับเงินที่เราต้องสแกนจ่ายไปเวลาเปลี่ยนหม้อน้ำใบใหม่นั่นเอง

istock-476040270

advertisement

Powered by อมรินทร์ นิวส์ - ยานยนต์

ยานยนต์ คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม