นับตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา หากดูสถานการณ์การปะทะกันริมชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งไทยมีหลักฐานว่ากัมพูชาเปิดฉากยิงก่อนใกล้กับปราสาทตาเมือนธม แต่เรากลับพบว่า รัฐบาลกัมพูชาพยายามสื่อสารไปยังประชาคมระหว่างประเทศว่าไทยรุกรานก่อน สาเหตุเนื่องจากการเปิดฉากโจมตีประเทศอื่นก่อนถือว่ามีความผิด
การกระทำดังกล่าวจะถือเป็นการใช้อำนาจกำลังโดยมิชอบตามกฎหมายระหว่างประเทศ และอาจเป็นการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ (UN Charter) โดยเฉพาะ มาตรา 2 วรรค 4 ซึ่งระบุว่า
"สมาชิกทุกรัฐจะต้องละเว้นจากการข่มขู่หรือใช้กำลัง ต่อความบูรณภาพแห่งดินแดนหรือเอกราชทางการเมืองของรัฐอื่น ๆ หรือในลักษณะอื่นใดที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสหประชาชาติ"
ดังนั้น หากเมื่อกัมพูชาละเมิดกฎบัตรดังกล่าว ไทยสามารถอ้างสิทธิในการป้องกันตนเอง ตาม มาตรา 51 ของกฎบัตรฯ ได้ ในทางตรงกันข้าม กัมพูชาก็จะอ้างสิทธิในการป้องกันตนเอง หากกล่าวหาว่าไทยบุกก่อน
ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ขอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เข้าแทรกแซงฉุกเฉิน เพื่อระงับสิ่งที่กัมพูชาเรียกว่า เป็นการยั่วยุทางทหารจากไทย หลังเกิดการปะทะริมชายแดน
ในจดหมายที่ฮุน มาเนต ลงวันที่ 24 กรกฎาคม เขียนถึงทูตอาซิม อิฟติกขาร์ อาห์หมัด ผู้แทนถาวรของปากีสถานประจำสหประชาชาติและประธานคณะมนตรีความมั่นคง เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงเข้าแทรกแซง จัดการประชุมฉุกเฉิน เพื่อหารือถึงการกระทำของไทย และใช้มาตรการป้องกันสถานการณ์ตึงเครียดเพิ่มเติม
โดยกล่าวหาว่า กองทัพไทยเปิดฉากโจมตีเข้าใส่ที่ตั้งของกัมพูชาเมื่อเช้าวันที่ 24 กรกฏาคม ในบริเวณปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาควาย และมุมไบ
Fresh News สื่อของกัมพูชารายงานว่า นับตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 24 กรกฎาคมจนถึงบ่าย ชาวไทยที่ทำงานในปอยเปต ได้เดินทางกลับประเทศไทยผ่านทางจุดผ่านแดนระหว่างประเทศปอยเปตแล้ว โดยการอพยพใหญ่ครั้งนี้มีขึ้นหลังการปะทะกันระหว่างกองกำลังไทยและกัมพูชา ตลอดแนวชายแดน ในพื้นที่สองจังหวัดของกัมพูชา ได้แก่ จังหวัดอุดรมีชัยและพระวิหาร
ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดบันทายมีชัย ยืนยันว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่เดินทางกลับไทยคือแรงงานไทยที่มาทำงานในปอยเปต โดยเจ้าหน้าที่ของกัมพูชาอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับประเทศ แต่ไม่มีการออกใบอนุญาตให้พวกเขาสามารถกลับเข้ามายังกัมพูชาได้อีก