Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
มองโกเลียยุคใหม่: จากชนชาติกระโจมร่อนเร่ สู่กระโจมแบบใหม่ในเมือง
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

มองโกเลียยุคใหม่: จากชนชาติกระโจมร่อนเร่ สู่กระโจมแบบใหม่ในเมือง

15 ก.ค. 68
15:35 น.
แชร์

หากกล่าวชื่อประเทศมองโกเลีย สิ่งแรก ๆ ที่หลายคนคงนึกถึงอาจเป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ เจงกิส ข่าน ผู้ก่อตั้งอาณาจักรมองโกล วิถีชีวิตแบบเร่ร่อนกับฝูงสัตว์และกระโจมผ้าใบ หรืออาจเป็นธรรมชาติยิ่งใหญ่ อย่าง ทะเลทรายโกบี ทุ่งหญ้าสเต็ปป์ หรือเทือกเขาสูงของดินแดนไร้เส้นทางสู่ทะเลแห่งนี้

ธรรมชาติยังคงอยู่ ยุคของเจงกิส ข่านจบไปนานแล้ว ส่วนวิถีชีวิตร่อนเร่ได้แรมรอนมาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อผู้คนย้ายจากกระโจมผ้าใบสู่ตึกคอนกรีต

แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นก็หาใช่เรื่องแปลก แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก เมื่อวิถีดั้งเดิมไม่สามารถตามทันเทคโนโลยี ระบบเศรษฐกิจ การเมืองที่เคลื่อนอย่างรวดเร็วของโลกปัจจุบันได้ เพียงทว่าแต่ละประเทศมีจังหวะเปลี่ยนแปลงช้าเร็วต่างกันก็เท่านั้น มองโกเลียมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่โดดเด่นเช่นเดียวกับการเปลี่ยนผ่านสู่โลกยุคใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

โลกเดิมมองโกล กับกระโจมและฝูงสัตว์

วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวมองโกลคือ ชนเผ่าร่อนเร่ อาศัยในกระโจมที่เรียกว่า “เกอร์” (gers) ที่มีจุดเริ่มต้นย้อนไปกว่า 3,000 ปีก่อน เริ่มจากกลุ่มชาวเร่ร่อนในพื้นที่เอเชียกลาง และเดินทางเข้ามาในภูมิภาคนี้คือราวศตวรรษที่ 6 โดยกลุ่มชนเผ่าร่อนเร่ชาวเติร์ก

ชาวคีตันและชาวอุยกูร์หยิบเอานวัตกรรมที่เรียกว่ากระโจมทันที ต่างสรรค์สร้างเป็นกระโจมรูปแบบเฉพาะตนของแต่ละกลุ่ม รวมไปถึงชาวมองโกล หนึ่งในเชื้อชาติในเอเชียกลาง ที่มีถิ่นที่อยู่บริเวณที่ราบมองโกล

แม้ปัจจุบันชาวมองโกลจะอาศัยอยู่ในประเทศที่ชื่อว่า มองโกเลีย หรือมองโกเลียนอกเป็นหลัก (ราว 3 ล้านคน) แต่ยังมีมองโกเลียใน ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองหนึ่งของจีน (ราว 4.2 ล้านคน) อีกด้วย ขณะที่จักรวรรดิมองโกลไต่ขึ้นสู่จุดสูงสุดเชื่อกันว่ามีประชากรมากกว่านั้นมาก และช่วงจักรวรรดิมองโกลนี่เองที่วัฒนธรรมกระโจมรุ่งเรืองมาก

โดยทั่วไปกระโจมของมองโกลทำจากไม้ หุ้มด้วยหนังสัตว์ หรือผ้าใบเคลือบไขมันสัตว์เพื่อให้เคลื่อนย้ายได้สะดวก เพราะในหนึ่งปี ชาวมองโกลจะย้ายถิ่นฐานตามฤดูกาลอย่างน้อยปีละสามครั้ง แต่ก็มีกระโจมบางแบบที่ตั้งบนเกวียน เรียกว่า เกอร์เทอร์เกน ซึ่งถูกใช้กันราวศตวรรษที่ 13–16 สำหรับหัวหน้าเผ่า บางเกวียนกระโจมก็มีขนาดใหญ่มากจนต้องใช้วัวตัวผู้ถึง 22 ตัวจึงจะลากกระโจมเปล่าได้

บทความของ History On The Net กล่าวว่า สัตว์ที่ชาวมองโกลเลี้ยงมีอยู่หลัก ๆ 5 ชนิดคือ: ม้า แกะ อูฐ วัว และแพะ แต่ว่าก็อาจเปลี่ยนแปลงไปขึ้นอยู่กับถิ่นอาศัยในขณะนั้น อาทิ บางครั้งชาวมองโกลอาจเลี้ยงจามรีแทนวัวได้หากอยู่ใกล้ทะเลทราย หรืออาจเลี้ยงม้า แกะ แพะ ชนิดที่ต่างกันไป แต่ละชนิดถูกเลี้ยงด้วยหลากหลายจุดประสงค์ เช่น เป็นอาหาร พลังงาน เป็นพาหนะ ใช้ในการรบ เลี้ยงเอาขน เพื่อใช้ขนของ

ชาวมองโกลยุคใหม่ กระโจมที่เปลี่ยนไป และตึกสูงที่เข้ามา

ไม่มีเมืองเก่าใดในโลกที่มีตึกสูงเสียดฟ้ามาตั้งแต่แรก แต่ตึกคอนกรีตหุ้มกระจกล้วนเข้ามาแทนอะไรสักอย่างที่เคยอยู่มาก่อน การขยายตัวของเขตเมืองอย่างกรุงอูลานบาตอร์ เมืองหลวงมองโกเลียมาพร้อมกับตึกสูงที่ผุดขึ้น

กรุงอูลานบาตอร์เป็นเมืองหลวงที่ผสาน “ความเก่า” อย่าง พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ วัดวาเก่าแก่ อนุสาวรีย์บอกเล่าประวัติศาสตร์เอาไว้ ร่วมกับของใหม่ อย่างสนามบินนานาชาติ และเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีสะอาด ถนนหนทางสมัยใหม่ รวมถึงเป็นแหล่งการลงทุนคึกคัก

ศูนย์กลางเติบโตดึงดูดผู้คนจากชนบทเข้ามาในเขตเมืองอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อการศึกษา โอกาสทางเศรษฐกิจ การรักษาพยาบาล และอื่น ๆ ทำให้เมืองหลวงแห่งนี้มีประชากรมากกว่า 1.5 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรมองโกเลีย ขณะที่ทุ่งหญ้าและเกอร์ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

กันเออร์เดเน กันบัต คนเลี้ยงสัตว์ เล่าถึงความเปลี่ยวเหงาของคนที่ยังเลือกวิถีชีวิตดั้งเดิม

“มันก็ยากที่เห็นเพื่อน ๆ ย้ายเข้าไปเมืองใหญ่ สังคมของคุณเริ่มเล็กลง ส่วนใหญ่เป็นคนแก่ที่ยังอยู่ที่นี่ และประชากรก็ลดลงด้วย ดังนั้นจึงมีเพียงแค่คนแก่ที่ผมไม่รู้จักอยู่ที่นี่” กันบัตกล่าว

เขายังชี้ว่าปัญหาหนึ่งที่เขาเผชิญขณะคนต่างย้ายเข้าเมืองคือ การหาคู่ เขาจึงฝากความหวังไว้กับสัตว์เลี้ยง เพราะหากชนะรางวัลได้จากแกะนับพันตัวที่เขาเลี้ยง รางวัลอาจสร้างชื่อเสียงให้เขาเป็นที่รู้จักทั่วประเทศได้

ปัจจุบันมีคำกล่าวในกลุ่มคนมองโกเลียว่า “ผู้ชายเลี้ยงสัตว์ ผู้หญิงไปเรียนในเมืองใหญ่ กลายเป็นความไม่สมดุล” คำกล่าวนี้สะท้อนทางแยกของมองโกเลียที่ขาข้างหนึ่งยังอยู่ในโลกเก่า และอีกข้างอยู่ในโลกใหม่

ประชากร 1 ใน 4 ของประเทศจะนับว่ายังมีจำนวนมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ในแง่ที่ว่ายังคงวิถีดั้งเดิมที่ต่างกับโลกยุคใหม่มาก นั่นอาจเป็นเพราะมีความพยายามสร้างความสมดุลระหว่าง 2 วิถี คือก้าวเข้าสู่โลกใหม่ แต่พาเก่าไปด้วยแบบที่ต้องใช้การปรับตัว

กระโจมถาวร หน้าตาการปรับตัวสู่ยุคใหม่

บางครั้งการย้ายเข้าเมือง ไม่ได้หมายถึงการละทิ้งวิถีแบบเกอร์เสมอไป พื้นที่รอบกรุงอูลานบาตอร์ กลายเป็นแหล่งกางกระโจมยอดนิยม หากแต่เป็นกระโจมถาวร เป็นชุมชนรอบเมืองหลวงที่ขาดแคลนการเข้าถึงน้ำสะอาด ระบบสุขาภิบาล การศึกษา และมาตรการควบคุมมลพิษ

ขอบคุณภาพจาก architectural-review

ในปี 2019 มีการก่อตั้ง Ger Innovation Hub ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและนวัตกรรมในเขตซงกิโนแคร์คานของอูลานบาตอร์ โจชัว โบลโชเวอร์ เป็นผู้อำนวยการ Rural Urban Framework และดีไซเนอร์ที่ Ger Innovation Hub กล่าวถึงความจำเป็นในการมี Ger Innovation Hub

“ตอนนี้ผู้คนในเขตเกอร์ กลายเป็นคนเมืองถาวร เราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อสะท้อนสังคมที่เปลี่ยนไป”

เขต Songinokhairkhan เป็นเขตหนึ่งรอบกรุงอูลานบาตอร์ ที่มีการเติบโตของเขตกระโจมรวดเร็วที่สุด เป็นบ้านของประชากรกว่า 60% ของเมือง และชาวเกอร์ในเขตนี้ต้องปรับตัวด้วยวิธีการต่าง ๆ หลายวิธี

กระโจมที่เคยทำจากไม้และหนังสัตว์ ไม่ก็ผ้าใบ ปัจจุบันบางส่วนทำจากโครงเหล็ก คลุมด้วยแผ่นพลาสติก PVC หรือวัสดุที่มีความเป็น “สมัยใหม่” อีกทั้งทนทานมากยิ่งขึ้น การปรับตัวไม่ใช่แค่ต่อวิถีชีวิตที่ก้าวเข้าสู่ความเป็นเมือง แต่สภาพอากาศที่ทรหดยิ่งขึ้น

ขอบคุรภาพจาก Pulitzer Center

กระโจมจากไม้และผ้าใบไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะไม่จำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานให้ห่างจากเมืองใหญ่ การเลี้ยงสัตว์ก็ทำได้ยาก เพราะไม่มีพื้นที่ ไม่มีทุ่งหญ้าให้เลี้ยง ชุมชนแบบใหม่เป็นเรื่องใหม่มากสำหรับคนมองโกล ชนิดที่ว่าในภาษามองโกเลีย ไม่มีคำว่า “ชุมชน” ด้วยซ้ำ เพราะแนวคิดการอยู่กับที่ บนพื้นที่เดียว ร่วมกับคนอีกมาก ไม่เคยมีมาก่อนในอารยธรรมนี้

เพื่อให้การปรับตัวเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ให้สองโลกปะทะกันอย่างรุนแรงจนฝั่งใดต้องแตกหัก หรือหายไป ตัวอย่างคือกระโจมถาวรที่ Ger Innovation Hub สร้างกระโจมแบบใหม่ขึ้นมา เป็นกระโจมหน้าตาสมัยใหม่ แต่มีความคล้ายกระโจมดั้งเดิมอย่างน่าสนใจ อย่างแรกคือ อาคารแบ่งเป็น 2 ชั้นล้อกับกระโจมแบบดั้งเดิม ห้องด้านในทำจากอิฐโคลน ถูกล้อมรอบด้วยชั้นนอกที่ทำจากแผ่นโพลีคาร์บอเนต ซึ่งช่วยสร้างช่องว่างกันความร้อน และลดการใช้พลังงาน

นอกจากนี้ยังแฝงนวัตกรรมใหม่ เช่น หากมองจากด้านบนเป็นหกเหลี่ยมไม่สมมาตร แต่คือการแบ่งพื้นที่ให้สมาชิกใช้งานได้เหมาะสม มีพื้นที่เลี้ยงเด็ก เวิร์กชอป พื้นที่จัดการแสดง เพื่อสร้างความเป็นชุมชน อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

กระโจมใหม่แบบนี้ยังอยากเน้นย้ำความเปิดสู่พื้นที่กว้าง แสดงถึงความอิสระแบบวิถีเดิม มีผนังที่พับและกางออกได้ มีประตู Dutch door ช่วยให้ผนังกลายเป็นหน้าต่างหรือประตูได้ รวมถึงมีผนังด้านนอกโปร่งแสงเพื่อรับแสงธรรมชาติ และยังมีสาธารณูปโภคแบบเมือง เช่น ไฟฟ้า น้ำ อินเทอร์เน็ต สามารถป้องกันความหนาวเย็นที่อาจลดต่ำได้ถึง -40 องศาเซลเซียสได้ อย่างที่เกอร์แบบดั้งเดิม และบ้านคอนกรีตทำไม่ได้

ขอบคุณภาพจาก designboom

ข้อมูลจาก RufWork ปี 2018 ชี้ว่ามีคนอาศัยใน Ger Innovation Hub ในเมือง Songinokhairkhan กว่า 850,000 คน หรือราว 70% ของประชากร และยังเพิ่มขึ้นราวปีละ 30,000 คนทุกปี กระโจมใน Ger Innovation Hub มีราคารวม 67,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2.1 ล้านบาท

เกอร์รูปแบบใหม่นี้คือภาพแทนการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตแบบมองโกเลีย ที่แม้หลายส่วนอาจทิ้งกระโจมผ้าใบ และฝูงแกะไว้ข้างหลัง แต่ใช่ว่าต้องทิ้งไปเสียทั้งหมด แต่สามารถหยิบเอาอัตลักษณ์ของเดิมบางอย่างมาใส่เข้ามาในปัจจุบัน เป็นหลักฐานว่าการก้าวเข้าชุมชนสมัยใหม่กับรากเหง้าเก่าที่สร้างคนมองโกลมายังสามารถเดินไปด้วยกันได้

ที่มา: National Geographic, Pulitzer Center , RUF, DesignBoom, The Out Factory


แชร์
มองโกเลียยุคใหม่: จากชนชาติกระโจมร่อนเร่ สู่กระโจมแบบใหม่ในเมือง