หน่วยสืบสวนซานัดของอัลจาซีรา รายงานข้อมูลดาวเทียมที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลอิสราเอลเร่งทำลายเมืองราฟาห์ เมืองใหญ่ที่ประชากรพลุกพล่าน ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของฉนวนกาซาอย่างรวดเร็ว กระทรวงกลาโหมของอิสราเอลประกาศแผนการย้ายผู้คนจำนวน 600,000 คน ไปยัง “เมืองแห่งมนุษยธรรม” ในพื้นที่ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา แต่ผู้สังเกตการณ์หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเป็น "ค่ายกักกัน" ของผู้ที่ถูกบังคับอพยพ และมีแนวโน้มว่าอาจย้ายประชากรทั้งหมดออกจากฉนวนกาซาด้วย
ตามข้อมูลจากศูนย์ดาวเทียมแห่งสหประชาชาติ (UNOSAT) เผยให้เห็นว่า จำนวนอาคารที่ถูกทำลายในราฟาห์เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 28,600 หลัง ในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 แต่ข้อมูลเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2568 พบว่าบ้านเรือนถูกทำลายทั้งหมด 15,800 หลัง นั่นหมายความว่ามีบ้านเรือนถูกทำลายเพิ่มขึ้น 12,800 หลัง ภายในระยะเวลา 4 เดือนเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการเร่งการรื้อถอนอย่างเห็นได้ชัด และช่วงเริ่มต้นการรื้อถอนยังตรงกับช่วงที่อิสราเอลเริ่มรุกเข้าไปในราฟาห์เมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568
อิสราเอล แคทซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอิสราเอล เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ชาวปาเลสไตน์จำนวน 600,000 คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งอัลมาวาซี จะถูกย้ายไปยังราฟาห์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ถูกเรียกว่า "เมืองแห่งมนุษยธรรม" แห่งใหม่สำหรับชาวปาเลสไตน์ ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใน 60 วันนับจากวันที่ตกลงข้อตกลงหยุดยิง แคตซ์ยังกล่าวอีกว่า ประชากรพลเรือนทั้งหมดของฉนวนกาซา ซึ่งมีมากกว่า 2 ล้านคน จะถูกย้ายไปยังเมืองทางตอนใต้แห่งนี้ในท้ายที่สุด
รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอลยังกล่าวว่า อิสราเอลหวังที่จะสนับสนุนให้ชาวปาเลสไตน์ “อพยพโดยสมัครใจ” จากฉนวนกาซาไปยังประเทศอื่น ๆ และเสริมว่าแผนนี้ “ควรได้รับการปฏิบัติตาม” เขายังเน้นย้ำว่าแผนดังกล่าวจะไม่ดำเนินการโดยกองทัพอิสราเอล แต่จะดำเนินการโดยองค์กรระหว่างประเทศ โดยไม่ได้ระบุว่าองค์กรใดจะเป็นผู้ดำเนินการ
ด้านมูลนิธิ Gaza Humanitarian Foundation (GHF) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ระบุรายละเอียดแผนงานสำหรับ "พื้นที่การเปลี่ยนผ่านด้านมนุษยธรรม" ซึ่งผู้อยู่อาศัยในฉนวนกาซาจะ "อาศัยอยู่ชั่วคราว เลิกแนวคิดสุดโต่ง กลับมาบูรณาการ และเตรียมการย้ายถิ่นฐานหากพวกเขาต้องการ"
ขณะที่ฟิลิปป์ ลาซซารินี หัวหน้าหน่วยงานผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์แห่งสหประชาชาติ (UNRWA) ออกมาเตือนเกี่ยวกับแผนการอพยพครั้งใหญ่ ระบุว่า “การกระทำเช่นนี้จะทำให้เกิดค่ายกักกันขนาดใหญ่ที่ชายแดนติดกับอียิปต์สำหรับชาวปาเลสไตน์ ซึ่งจะถูกขับไล่ออกไปจากบ้านเกิดอย่างต่อเนื่อง” เขาเชื่อว่าปฏิบัติการดังกล่าว จะทำให้ชาวปาเลสไตน์สูญเสียโอกาสในอนาคตที่ดีกว่าในบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา
โอริ โกลด์เบิร์ก นักวิจารณ์การเมืองชาวอิสราเอล กล่าวกับอัลจาซีราว่า แผนดังกล่าวเป็น "ค่ายกักกันสำหรับชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาตอนใต้" โดยระบุว่า อิสราเอลกำลังกระทำ "สิ่งที่ถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างเปิดเผยภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ " และตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ของภารกิจ เพราะเป็นเหมือนการรวมประชากรชาวปาเลสไตน์ไว้ในเมืองที่ถูกปิดตาย ซึ่งพวกเขาจะสามารถเข้าได้แต่ไม่สามารถออกจากเมืองแห่งนี้ได้
ขณะนี้ ราฟาห์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรประมาณ 275,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพพังทลาย ขนาดของการทำลายล้างของอิสราเอลนับตั้งแต่เดือนเมษายนปีนี้ เห็นได้ชัดเจนเป็นพิเศษ โดยเฉพาะย่านอัลโซฮูร์ ย่านอัลญนัยนา ย่านตาลอัสสุลต่าน
นับตั้งแต่อิสราเอลละเมิดข้อตกลงหยุดยิงครั้งสุดท้ายกับฮามาสเมื่อวันที่ 19 มีนาคม กองกำลังของอิสราเอลก็ได้โจมตีสถาบันต่างๆ หลายแห่งโดยตรง ทีมสืบสวนซานัดของอัลจาซีราได้ระบุสถานศึกษา 6 แห่งที่ถูกทำลาย รวมถึงบางแห่งที่ตั้งอยู่ในย่านตาลอัสซุลตาน ทางตะวันตกของเมืองราฟาห์ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าสิ่งอำนวยความสะดวกสำคัญหลายแห่งยังคงปลอดภัย สถาบันการศึกษา 40 แห่ง (โรงเรียน 39 แห่ง และมหาวิทยาลัย 1 แห่ง) ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ศูนย์การแพทย์ 8 แห่งยังคงเปิดให้บริการอยู่
รูปแบบการทำลายแบบกำหนดเป้าหมายเช่นนี้ ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารักษาสถานที่บางแห่ง เป็นการคงสภาพสถานที่อำนวยความสะดวกในราฟาห์ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ แต่เป็นการบ่งชี้ว่าอิสราเอลมีเป้าหมายที่จะใช้สถานที่เหล่านี้ในระยะต่อไปของแผนที่เสนอเพื่อย้ายประชากรทั้งหมดของฉนวนกาซาไปที่ราฟาห์ อาคารการศึกษาและการแพทย์ที่ไม่ถูกทำลาย กลายเป็นที่พักพิงด้านมนุษยธรรมที่สำคัญสำหรับชาวปาเลสไตน์ที่ต้องพลัดถิ่นนับหมื่นคน
คลื่นการอพยพเริ่มต้นของสงครามจากทางเหนือไปยังทางใต้ของฉนวนกาซา ส่งผลให้มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาอย่างล้นหลามในสถานที่ของสหประชาชาติ 154 แห่ง ทั่วทั้ง 5 จังหวัดของฉนวนกาซา ซึ่งรวมถึงโรงเรียน โกดังสินค้า และศูนย์สุขภาพ ตามรายงานสถานการณ์ของ UNRWA ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 ระบุว่า ณ ขณะนั้น สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ได้ให้ที่พักพิงแก่ผู้พลัดถิ่นประมาณ 1.4 ล้านคน โดยเฉลี่ย 9,000 คนต่อสถานที่ ขณะที่ผู้คนอีก 500,000 คนได้รับการสนับสนุนจากบริการอื่น ๆ รายงานยังระบุด้วยว่าในศูนย์พักพิงบางแห่ง มีจำนวนเกิน 12,000 แห่ง ซึ่งมากกว่าความจุที่ตั้งไว้ถึง 4 เท่า
การวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมของพื้นที่ราฟาห์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2568 เผยให้เห็นว่ากองกำลังอิสราเอลได้ดำเนินการสองระยะในพื้นที่ราฟาห์ รวมถึงในพื้นที่ที่กำหนดให้แจกจ่ายความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้วย
ระยะที่ 1 เริ่มต้นด้วยการเปิดฉากโจมตีทางทหารในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 ซึ่งอาคารส่วนใหญ่ในพื้นที่เป้าหมายในพื้นที่ทางตะวันออกของราฟาห์และบางส่วนของราฟาห์ทางตะวันตกถูกทำลายทิ้ง ส่วนระยะที่ 2 ซึ่งเริ่มต้นในเดือนเมษายนปีนี้ คือการรื้อถอนอาคารที่พักอาศัยที่เหลืออยู่อย่างต่อเนื่อง ระยะนี้ยังรวมถึงการปรับระดับพื้นที่และการสร้างถนนทางเข้าเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินงานของศูนย์ช่วยเหลือเหล่านี้
แดเนียล เลวี นักวิเคราะห์ชาวอังกฤษ-อิสราเอล เปิดเผยกับอัลจาซีราว่า อิสราเอลตั้งใจจะใช้เมืองราฟาห์ "เป็นจุดพักเพื่อกวาดล้างทางชาติพันธุ์และขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกไปจากพื้นที่ให้ได้มากที่สุด" และการแจกจ่ายอาหารจาก GHF ของสหรัฐฯ และอิสราเอลก็เป็นแผนการจัดการด้านประชากรศาสตร์ทางสังคมที่วางแผนไว้ล่วงหน้าเพื่อย้ายชาวปาเลสไตน์ ให้ย้ายถิ่นฐาน ขับไล่ และกักขังพวกเขาไว่ในค่ายกักกัน